ประชาธิป’ไทย – ความลักลั่นย้อนแย้งของประชาธิปไตยไทย

-1-

ผมเริ่มได้ยินข่าวคราวของ “ประชาธิป’ไทย” ครั้งแรกน่าจะตอนประมาณมกราคมปีนี้ ซึ่งก็ได้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่รอดูที่สุดในปีนี้ แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่างทำให้กำหนดฉายถูกเลื่อนมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ กว่าจะได้เข้าก็ปลายมิถุนายน และฉายเพียงไม่กี่โรงเท่านั้น ปัญหาหลักๆ ก็คงมาจากกระบวนการเซนเซอร์ ซึ่งหนังก็โดนไปหลายจุด แต่ก็นับว่าเป็นความโชคดีและความอดทนที่ผู้สร้างยังสามารถเข็นหนังออกมาได้สำเร็จ ในช่วงเวลาที่อะไรๆ ก็โดนแบนได้ง่ายๆ ทั้งจากผู้มีอำนาจและจากการแบนตัวเอง

“ประชาธิป”ไทย” เป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับ “เป็นเอก รัตนเรือง” ที่แท็กทีมกับ “ภาสกร ประมูลวงศ์” เปลี่ยนแนวจากการทำหนังปกติ มาเป็นหนังสารคดี และยังเป็นสารคดีเกี่ยวกับการเมืองว่าด้วย การเดินทางของ “ประชาธิปไตย” ในไทย ผ่านบทสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จำนวน 14 ท่าน ได้แก่ ส.ศิวลักษณ์, ธงชัย วินิจจะกูล, ไชยยันต์ ไชยพร, จิรนันท์ พิตรปรีชา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, สมบัติ บุญงามอนงค์, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, อัมมาร สยามวาลา, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ศรันยู เทพสงเคราะห์, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ตัดสลับกับภาพเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์

-2-

เป็นเอกและภาสกร เคยกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำสารคดีชิ้นนี้ว่า มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความสงสัยส่วนตัวว่า “เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้” ดังนั้น เนื้อหาที่ปรากฎอยู่ในหนังสารคดีเรื่องนี้ จึงอาจไม่ได้มีความลึกหรือเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างไร อย่างน้อยก็ในสายตาของคนที่คลุุกคลีหรือติดตามเรื่องนี้มาบ้าง แต่สำหรับคนทั่วไปที่อาจไม่ได้สนใจการเมืองนัก แต่เริ่มต้องการหาคำอธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งในแง่นี้ก็คือตัวเป็นเอกและภาสกรเอง ข้อมูลในหนังน่าจะช่วย “เปิด” มุมมองในการมองการเมืองไทย ได้ดีทีเดียว

เนื้อหาใน “ประชาธิป’ไทย” แบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ คือ 2475-2490 อันเป็นช่วงเริ่มต้นของประชาธิปไตยไทย 2516-2519 ช่วงของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน และ 2540-2549 เมื่อประชาธิปไตยพบกับทุนนิยม การเลือก 3 เหตุการณ์ดังกล่าว นอกเหนือจะเป็นการหยิบเอาเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ มาเล่าในมุมมองใหม่แล้ว 3 เหตุการณ์ที่ว่า ยังสะท้อนถึงภาพการเดินทางของประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ได้ราบเรียบสงบอย่างในแบบเรียน โดยเฉพาะในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลง ทั้งขัดแย้งระหว่างขั้วตรงข้าม และขัดแย้งภายในตนเองหรือที่ส่วนตัวชอบเรียกว่า “ลักลั่นย้อนแย้ง” ซึ่งแม้แต่การตั้งชื่อภาษาอังกฤษหนังสารคดีว่า “Paradoxocracy” ก็บ่งบอกว่าต้องการพูดเรื่องนี้โดยตรง

ตัวอย่างความลักลั่นย้อนแย้งที่ว่า อาทิ การตั้งคำถามว่า 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ อาจเป็นความขัดแย้งในตัวเอง เพราะไม่มีเกณฑ์ที่จะวัดความพร้อมหรือไม่พร้อม อีกทั้งอาจเป็นฝ่ายอำนาจเก่าเองที่ทำให้ประชาชนไม่พร้อม หรือความพยายามปกป้องประชาธิปไตยในช่วงต้นการเปลี่ยนแปลง อาจกลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายทหารเข้มแข็งขึ้น เพราะต้องอาศัยปีกทหารมาช่วยป้องกัน ในสมัย 14 ตุลา 2516 ที่เป็นชัยชนะของประชาชน ในแง่หนึ่งก็อาจไปเร่งเร้าให้ฝ่ายขวารวมตัวกันแน่นขึ้น หรือคำถามที่ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากการนองเลือดนั้นถูกต้องแค่ไหน? รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยจะเป็นที่มาของการผูกขาดอำนาจได้หรือไม่?

จุดอ่อนหลักของหนังสารคดีเรื่องนี้คือ การเลือกหยิบยกมาเพียง 3 เหตุการณ์หลักๆ ทำให้หนังข้ามประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจไป ไม่ว่าจะ 6 ตุลา 19 หรือพฤษภาทมิฬ ขณะที่ในช่วงที่ 3 เองก็เหมือนจะไม่ได้ลงลึกเรื่องทุนนิยม ประชานิยม และอำนาจเก่าอะไรมากนัก อาจเพราะหนังเสียพลังไปกับช่วงที่ 1 และ 2 พอควร แต่เท่าที่มีอยู่ก็แสดงให้เห็นภาพการเดินทางของประชาธิปไตยไทย ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะความ Paradox ที่หลายครั้งเราหาจุดร่วมไม่เจอ พาลทำให้ปวดหัว และมองประชาธิปไตยในแง่ลบก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ประชาธิปไตยก็ได้ลงหลักปักฐานแล้วในประเทศไทยแล้ว แม้ว่าลึกๆ บางคนจะไม่ชอบมันเพียงไร แต่ก็เห็นตรงกันว่าไม่สามารถเปลี่ยนเป็นระบบอื่นได้ การต่อสู้ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างจึงพยายามอ้างประชาธิปไตย (ในแบบของตน) แม้การกระทำบางอย่างจะไม่ประชาธิปไตยก็ตาม ถือเป็นความขัดแย้งในตนเองอย่างหนึ่ง

ข้อสังเกตคือ หากประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย เดินทางผ่านความขัดแย้ง และน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต เปลี่ยนก็แค่ตัวผู้เล่นเท่านั้น ใจความอาจไม่ได้อยู่ที่เราจะจัดการความขัดแย้งอย่างไร แต่เป็นเราจะเรียนรู้เพื่ออยู่กับความขัดแย้งเหล่านี้ (และในอนาคต) กันแบบไม่นองเลือดอย่างไร แม้ตัวหนังจะไม่ได้กล่าวถึงความขัดแย้งเหลือง-แดงในปัจจุบันนัก แต่สิ่งที่ได้ก็ชวนให้เราหันกลับมามองปัจจุบันไม่น้อยเลยทีเดียว

-3-

หัวใจสำคัญของสารคดี นอกเหนือจากเนื้อหาแล้ว ยังมีการเล่าเรื่องที่แยกสารคดีออกจากตำราวิชาการ ซึ่งในส่วนของประชาธิป’ไทย แม้จะมีโจทย์ยากจากเนื้อหาวิชาการหนักๆ แต่กลับเล่าเรื่องได้ “บันเทิง” มากทีเดียว การตัดต่อบทสัมภาษณ์เข้ากับภาพเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ ภาพที่ถ่ายทำเพิ่มเติม รวมถึงคำอธิบายศัพท์วิชาการต่าวๆ ทำให้สารคดีชิ้นนี้ดูง่ายและไม่น่าเบื่อเลย

กลวิธีการเล่าเรื่องของเป็นเอกและภาสกรในหลายจุดยังกลายเป็น “สาร” (Message) ที่ทรงพลังและบอกอะไรบางอย่างแก่เรา ไล่ตั้งแต่ชื่อเรื่อง “ประชาธิป’ไทย” ที่ต้องการเสียดสีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ชื่อ “Paradoxocracy” ก็สะท้อนอาการลักลั่นย้อนแย้งในตัวเอง ในแง่หนึ่งเราอยากให้ประชาธิปไตยคงอยู่ แต่ในอีกแง่หนึ่งเราก็ไม่ชอบ และทำอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นกัน หรือแม้แต่ความยาวหนัง 81 นาทีก็สื่อถึง 81 ปีประชาธิปไตยไทย

หนังยังเลือกที่จะไม่ขึ้นชื่อและตำแหน่งของผู้ให้สัมภาษณ์ (แต่ยังขึ้นชื่อให้ในช่วงเครดิตท้ายเรื่อง) ซึ่งออกจะผิดขนบธรรมเนียมประเพณ๊ และทำให้คนที่อาจไม่ได้ติดตามวงวิชาการการเมืองมากนัก ออกจะงงๆ ได้ว่าใครเป็นใคร แต่คิดอีกแง่ การไม่ขึ้นชื่อ ทำให้เราไม่ต้องมาสนใจว่าคนพูดเป็นใคร และหันมาใหค้วามสำคัญกับสิ่งที่เขาพูดแทน เป็นการตอบโต้ยุคปัจจุบันที่มักจะตัดสินคนจากแค่ว่าเขาเป็นใคร หรือใส่เสื้อสีอะไรเท่านั้น

ที่สำคัญที่สุดคือหนังสารคดีชิ้นนี้สามารถเล่นกับ “การเซนเซอร์” ได้อย่างชาญฉลาด เป็นเอกกับภาสกรคงตระหนักว่าแม้การเซนเซอร์จะทำให้ไม่สามารถพูดบางอย่าง แต่การเซนเซอร์โดยตัวมันเองก็บอกบางอย่างกับสังคมเช่นกัน พวกเขาเลือกที่จะคงฉากที่โดนเซนเซอร์อยู่ แต่ปิดเสียงและทำแถบดำบริเวณซับแทน เพื่อบอกให้รู้ว่า ณ วันนี้มีบางเรื่องที่ผู้ใหญ่ในบ้านเราเห็นว่าพูดไม่ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการยั่วล้อตัวเอง ทั้งที่หนังเกี่ยวกับประชาธิปไตยแต่กับขาดเสรีภาพในบางเรื่อง ช่างลักลั่นย้อนแย้งอะไรเช่นนี้

-4-

สำหรับคนที่เลือกแล้วว่าจะใส่เสื้ออะไร โดยเฉพาะคนที่ต้องการความฮาร์ดคอร์สุดขีด นี่อาจไม่ใช่หนังสารคดีการเมืองที่เหมาะกับคุณนัก เพราะอาจมัวแต่จดจ่อกับการคิดว่า คนสร้างต้องสีนี้แน่ สีนั้นแน่ ทำไมไม่เอาคนนั้นคนนี้มาออก เอียงนี่หว่า… ทำไมไม่พูดเรื่องนั้นไม่พูดเรื่องนี้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้พาลแต่จะทำให้ดูหนังเรื่องนี้ไม่สนุก

แต่สำหรับคนที่อาจไม่ได้คลุกคลีเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก แต่ต้องการเริ่มเรียนรู้ประชาธิปไตย ในแง่มุมที่แตกต่างออกไปจากหนังสือเรียน สารคดีชิ้นนี้สามารถเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ได้อย่างดีทีเดียว แม้สุดท้ายหนังอาจจะจบแบบงงๆ ไม่ได้ให้คำตอบที่เป็นทางออกของปัญหาอะไรสักอย่าง ซึ่งอาจสะท้อนสภาพปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความงงๆ ก็เป็นได้ แต่ขณะเดียวกัน การที่ “ประชาธิป’ไทย” ไม่ได้ให้คำตอบอะไรกับเรา ก็เป็นการบอกกับเราว่า มันอาจไม่มีคำตอบที่ตายตัวหรือเป็นแบบเดียวกัน และต่อให้มีก็ไม่ใช่หน้าที่ของหนังที่จะตอบ เพราะไม่งั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการบังคับให้เชื่อให้ทำ แต่เป็นคนดูที่ต้องคิด วิเคราะห์ หาคำตอบด้วยตัวเขาเอง การตระหนักว่าเราสามารถคิดได้ คือการเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งก็คือหลักพื้นฐานอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย

สิ่งที่ “ประชาธิป’ไทย” ให้จึงไม่ใช่ “คำตอบ” แต่คือการฝึกให้เรารู้จักตั้ง “คำถาม” เพื่อค้นหา “คำตอบด้วยตัวเอง”

ป.ล. เป็นเอกและภาสกรบอกว่า หนังสารคดีการเมืองเรื่องนี้จะมีภาค 2 แน่นอน ซึ่งจะเป็นการลงลึกในประเด็นที่ข้ามไปในภาคแรก และอาจรวมถึงการพูดถึงประเด็นเหลือง-แดงในปัจจุบันด้วย จะเป็นจริงแค่ไหน คงต้องคอยดูกัน (อย่าให้มีอุบัติเหตุอะไรก่อนแล้วกัน)

 ความชอบส่วนตัว: 9/10

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)