[Review] Batkid Begins – ผมอยากเป็นแบทแมน

เด็กทุกคนล้วนมีความฝัน และทุกคนอย่างให้ฝันเป็นจริง แต่ถ้าความฝันนั้นคือการอยากเป็น Superhero ละ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ฝันของเด็กคนนั้นเป็นจริง

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน เกิดปรากฎการณ์หนึ่งที่กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกทั้งโลกจริงและโลกออนไลน์ เมื่อชาวเมืองซานฟานซิสโกกว่า 12,000 คน ได้มาร่วมกันสานฝันและเป็นกำลังใจให้กับ “Miles Scott” เด็กชายวัย 5 ขวบ ผู้ป่วยเป็นลูคีเมียตั้งแต่ตอน 1 ขวบครึ่ง ซึ่งมีความใฝ่ฝั่นว่าอยากเป็น “Batman” และฝันของเขากำลังเป็นจริง เมื่อมูลนิธิ “Make-A-Wish” ร่วมกับเมืองซานฟานซิสโก ได้ร่วมกันปิดเมืองบางส่วน เพื่อให้ “Miles” ได้เล่นเป็น “Batkid” ผู้ช่วยของ “Batman” ในการช่วยตัวประกันและตามล่าวายร้าย “The Penguin” และ “The Riddler”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “Make-A-Wish” ทำกิจกรรมเช่นนี้ เพราะจุดประสงค์ของมูลนิธินี้ก็คือการทำความฝันให้กับเด็กที่ป่วยเป็นโรคร้ายให้เป็นจริง ไม่ว่าฝันนั้นจะดูไร้สาระเพียงใดก็ตาม แต่อย่างน้อยการที่เด็กเหล่านั้นได้เห็นฝันเขาเป็นจริงขึ้นมา ก็อาจเป็นแรงใจที่ให้พวกเขาสามารถต่อสู้เอาชนะโรคร้ายได้เช่นกัน บทบาทของมูลนิธิจึงเป็นการมุ่งรักษาทางใจ ร่วมกับการรักษาทางกายของมือหมอ สำหรับในกรณีของ Miles นั้น ตอนแรกมูลนิธิวางแผนจะจัดงานให้เขาเล่นเป็น Batkid โดยใช้อาสาสมัครมาเป็นหน้าม้าประมาณ 200 คน และปิดถนนแค่ช่วงตึกเดียว แต่ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ไปยังโลกออนไลน์ มันกลับกลายเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจ อาจเพราะมันเกี่ยวกับ Batman หนึ่งในตัวการ์ตูนที่ได้รับความนิยมด้วย หรืออาจเพราะมันมีอารมณ์ดราม่าจากการที่เด็กคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคร้ายแต่ยังมีความใฝ่ฝันจะเป็น Superhero ช่วยเหลือคนอื่น นอกจากคนทั่วไปที่ให้ความสนใจแล้ว แคมเปญนี้ยังมีคนดังหลายคนทั้งดารา CEO ไปจนถึงประธานาธิบดี เข้ามามีส่วนร่วมหรือติดตามแคมเปญนี้ จนทำให้ “Batkid” กลายเป็นแคมเปญใหญ่ที่สุดแคมเปญหนึ่งที่ Make-A-Wish เคยจัดมา

“Batkid Begins” คือสารคดีเบื้องหลังการจัดแคมเปญนี้

บอกก่อนว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้เน้นไปที่ตัว Miles เราจะไม่ได้เห็นว่าเขารู้สึกยังไงกับโรคร้ายของตัวเอง หรือมีวิธีการต่อสู้กับโรคร้ายยังไง แต่สารคดีเลือกที่จะเน้นไปที่แคมเปญ Batkid ที่จัดขึ้น เรื่องราวจะถูกเล่าผ่านมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญนี้ โดยเฉพาะตัวมูลนิธิ Make-A-Wish ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงคนตัดชุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เล่นๆ กับความฝันของเด็ก เพราะทุกรายละเอียดของ Batkid ผ่านการคิดและเตรียมการมาเป็นอย่างดี ทั้งการให้ Miles เป็น Batkid แทนที่จะเป็น Batman เพื่อให้เขาได้รู้สึกใกล้ชิดกับฮีโร่ของเขา และจะได้มีคนคอยดูแล Miles ขณะร่วมแคมเปญด้วย นอกจากนี้ ยังมีการทำอุปกรณ์ไฮเทคของ Batman ขึ้นมา กระทั่งคนที่มาเล่นเป็น Batman ในแคมเปญนี้ก็ต้องไปฝึกเพื่อการนี้ และเมื่อแคมเปญเริ่มกลายเป็นกระแส Make-A-Wish ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมารับมือโดยเฉพาะ

จะบอกว่า “Batkid Begins” เป็นสารคดีเชิง PR ให้กับมูลนิธิ Make-A-Wish ก็ว่าได้ เพราะมุ่งสร้างความรู้สึกเชิงบวกต่อมูลนิธิ (ที่อาจเปลี่ยนเป็นการบริจาคเงินให้มูลนิธิได้ในอนาคต) แน่นอนตัวแคมเปญของจริงก็มีบางเรื่องที่โดนโจมตีเหมือนกัน อาทิ เรื่องงบประมาณที่นำมาใช้จัดงานนี้กว่า 100,000 ดอลลาร์ ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับกิจกรรมที่จัดให้เด็กแค่คนเดียว แต่สารคดีก็พยายามแก้ต่างว่า ถึงจะจัดให้ Miles แต่ในเชิงสัญลักษณ์ มันจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกในการทำเพื่อผู้อื่น เพราะไม่ใช่แค่เด็กที่มีความสุข คนที่เป็นผู้ให้ (ไม่ว่าจะให้สิ่งของหรือให้กำลังใจ) ก็มีความสุขไม่แพ้กัน และการสร้างกำลังใจในการมีชีวิต ก็มีความสำคัญไม่แพ้การทำคีโมหรือผ่าตัด

ถึงจะเป็นงาน PR มูลนิธิ แต่ก็ยอมรับว่าดูแล้วมีความสุขไม่น้อย

นอกจากความ Feel-Good แล้ว “Batkid Begins” ยังเป็นสารคดีที่ดูสนุกไม่น้อย แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นบทสัมภาษณ์ แต่เทคนิคการตัดต่อผสมผสานภาพจากงานวันจริงและ Animation ก็ทำให้ไม่อืดอาดน่าเบื่อ แถมยังลุ้นไปกับการจัดงานอีก แต่ถ้าใครคาดหวังเรื่องราวชวนดราม่า หรือมุมมองจากหลายฝ่ายที่เท่าเทียมก็อาจผิดหวังบ้าง

สำหรับปัจจุบัน “Miles Scott” ยังคงใช้ชีวิตที่เป็นสุขกับครอบครัว ขณะที่มูลนิธิ “Make-A-Wish” ก็ยังดำเนินภารกิจสานฝันอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยในชื่อ “Make-A-Wish Foundation Thailand” ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2553 และมีกิจกรรมสานฝันเด็กๆ อาทิ พาน้องๆ ไปพบดาราที่ชื่นชอบ ขี่ช้างที่สวนสามพราน หรือกระทั่งจัดทริปดิสนีย์แลนด์ที่ฮ่องกง
 

ความชอบส่วนตัว: 7/10

หนึ่งในภาพที่สร้างประทับใจไปทั่วโลก Miles ในชุด Batkid ยืนอยู่กับน้องชายของเขาในชุด Robin

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)