[Review] Icarus – เมื่อกีฬาคือความอยุติธรรม ความจริงจึงต้องเปิดเผย

“Icarus” เป็นชื่อตัวละครหนึ่งในตำนานเทพปกรนัมกรีก ซึ่งถูกใช้เป็นภาพสะท้อนของบุคคลที่หลงใหลในอำนาจ ความโลภ ละเลยคำเตือนของคนรอบข้าง จนนำภัยมาสู่ตัวเอง สืบเนื่องจากการที่ Icarus และ Deadalus บิดาของเขา โดนคุมขังบนเกาะแห่งหนึ่ง กระทั่งวันหนึ่ง Deadalus ค้นพบวิธีการหลบหนีได้ ด้วยการถอนขนนกมาเทำเป็นปีกด้วยขี้ผึ้ง เพื่อบินข้ามทะเล ซึ่ง Deadalus ก็กำชับบุตรชายว่า “อย่าบินสูงเกินไป” แต่ Icarus เมื่อได้ปีกแล้วก็เกิดความลำพองใจ ละเลยคำตักเตือนของบิดา บินสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้เทพ Apollo พิโรธ เพราะมองว่าเป็นการท้าทายเทพเจ้า จึงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ร้อนขึ้น จนปีกขี้ผึ้งของ Icaus ละลายและตกลงมาจมน้ำตายในที่สุด

ชื่อของ “Icarus” ถูกนำมาใช้เป็นชื่อสารคดี ที่เพิ่งจะคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากเวที Oscars 2018 (และแน่นอนนั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ดูเรื่องนี้) ซึ่ง Icarus ในความหมายของสารคดีเรื่องนี้ก็คือ “รัสเซีย” ที่ก่ออาชญากรรมในวงการกีฬาอันแสนอื้อฉาวที่สุด เมื่อมีการเปิดเผยรัฐบาลรัสเซียให้การสนับสนุนให้นักกีฬาใช้สารกระตุ้น เพื่อเสริมสร้างโอกาสได้รับชัยชนะ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งถ้าใครตามข่าวกีฬาคงจะเคยผ่านตาว่า ข่าวอื้อฉาวเรื่องการใช้สารกระตุ้นของรัสเซีย ส่งผลให้รัสเซียโดนแบนไม่ให้เข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพยองชาง เกาหลีใต้ ในช่วงต้นปี 2018

อย่างไรก็ตาม เริ่มแรกนั้นสารคดี Icarus ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไปไกลถึงการเปิดโปงรัสเซีย แต่เริ่มต้นจากความผิดหวังของ “Bryan Fogel” นักจักรยานมือสมัครเล่น ซึ่งผิดหวังในตัว “Lance Armstrong” นักจักรยานมืออาชีพชื่อดัง เจ้าของแชมป์ “Tour de France” สังเวียนแข่งขันจักรยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกหลายสมัย ซึ่งต่อมา Lance ออกมายอมรับเขามีการใช้สารกระตุ้นในการแข่งขัน ส่งผลให้เขาถูกริบรางวัลทุกสมัย ความผิดหวังในบุคคลที่ครั้งหนึ่งเป็นเสมือนไอดอลของวงการกีฬา ยังทำให้ Bryan เกิดคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับระบบการทดสอบ” เมื่อผลปรากฏว่า Lance ผ่านการทดสอบการโด๊ปยามาได้ทุกครั้ง

จากคำถามนี้ Bryan ตัดสินใจที่จะทำการทดสอบครั้งใหญ่เพื่อชี้ให้เห็นว่า ระบบการตรวจหาสารกระตุ้นในนักกีฬานั้นมีจุดบกพร่อง เขาตัดสินใจลงแข่งรายการจักรยานสมัครเล่นรายการใหญ่ และทดลองใช้สารกระตุ้นด้วยตัวเอง โดยวางแผนโปรแกรมการใช้ยาอย่างเป็นระบบ เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ระบบตรวจหาเจอ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เขาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนำไปสู่การได้รู้จักกับ “Dr. Grigory Rodchenkov” ผู้อำนวยการศูนย์ตรวจหาสารกระตุ้นของรัสเซีย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแล็ปที่ดีที่สุดในโลก แต่เบื้องหลังนั้นเขาคือผู้เชี่ยวชาญในการช่วยให้นักกีฬาหลายคนผ่านการทดสอบสารกระตุ้นเสียเอง

ในขณะที่การทดลองของ Bryan ดำเนินไปเรื่อยๆ ภายใต้คำแนะนำของ Grigory นั้น ระหว่างนั้นข่าวการใช้สารกระตุ้นของรัสเซียก็อื้อฉาวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 2014 ณ เมืองโซชิ รัสเซีย ซึ่ง Grigory มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทางการรัสเซียพยายามเบี่ยงประเด็นให้เป็นการกระทำในนามส่วนตัวของ Grigory ส่งผลให้เขาตัดสินใจเดินทางหลบหนีไปสหรัฐฯ ภายใต้ความช่วยเหลือของ Bryan จากการทดลองเพื่อหาความผิดพลาดของระบบ ได้กลายเป็นการเปิดเผยกระบวนการโกงโอลิมปิกที่แม้แต่ Bryan ก็ไม่ได้คาดคิดว่าเรื่องจะเดินทางมาได้ไกลเพียงนี้

“Icarus” เป็นสารคดีที่ดำเนินเรื่องได้อย่างสนุกมาก ทั้งเรื่องราวที่เราไม่คาดคิดเลยว่าจะมาไกลถึงเพียงนี้ และการตัดต่อกับดนตรีประกอบ ก็สามารถดึงอารมณ์ให้ลุ้นระทึกยิ่งกว่าหนังหลายๆ เรื่องเสียอีก

อย่างไรก็ตาม สารคดีแม้จะเล่าข้อเท็จจริง แต่วิธีการเล่าเรื่อง หรือข้อเท็จจริงที่จะเลือกนำมาเล่า ก็สะท้อนมุมมองของผู้สร้างได้เช่นกัน อย่างเรื่องนี้ บางคนก็อาจจะมองว่า ตัวสารคดีเป็นมุมมองอเมริกันที่ต้องการดิสเครดิสรัสเซียโดยเฉพาะประธานาธิบดี Putin ก็เป็นได้ กระนั้น สิ่งที่ Icarus ได้ทิ้งไว้ก็คือ การแสดงให้เห็นผลของความโลภทั้งของคน ของรัฐ ที่กระหายอยากจะได้อำนาจ จนทำทุกอย่างเพื่อจะให้ได้มันมา แต่แล้ววันหนึ่งความจริงก็ปรากฏ ชะตากรรมของพวกเขาก็เลยไม่ต่างจาก Icarus ที่ปีกได้ละลายลง และตกลงมาจมน้ำตาย ยิ่งกว่านั้นสารคดีเรื่องนี้ยังชวนให้คิดว่า การจะทำให้คนเราไม่กลายเป็นแบบ Icarus นอกเหนือจากการเสริมสร้างจิตสำนึกแล้ว ตัวระบบเองก็ควรมีการพัฒนาเพื่อปิดกั้นโอกาสในการทำผิดของคนด้วยเช่นกัน…“ระบบที่ดี” นั้นจำเป็นไม่แพ้ “คนดี”

สารคดีเรื่องนี้จัดทำและออกฉายก่อนฉายปี 2017 แต่รัสเซียเพิ่งจะมาโดนโทษแบนอย่างเป็นทางการก็ในปี 2018 แม้มันอาจไม่ได้เป็นผลจากสารคดีโดยตรง แต่ในมุมคนทำสารคดีนี้แล้ว เชื่อว่าพวกเขาคงภูมิใจว่าอย่างน้อยสิ่งที่พวกเขาร่วมกันเปิดโปงก็ไม่สูญเปล่า

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)