[Review] นิรันดร์ราตรี – เศษซากของความเปลี่ยนแปลง

เพราะเห็นว่าเป็นสารคดีเกี่ยวช่วงเวลาสุดท้ายของโรงภาพยนตร์ Stand Alone ทำให้คิดไปว่า ตัวสารคดีคงเดินมาในแนวรำลึกความหลังอันโรแมนติกระหว่างสังคมกับโรงภาพยนตร์ประเภทนี้ รวมไปถึงความผูกพันระหว่างผู้คนกับภาพยนตร์ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่เลย… นี่ไม่ใช่สารคดีโรงหนัง หากแต่เป็นสารคดีชีวิต “คนๆ หนึ่ง” ผู้ที่กลายเป็นเศษซากของความเปลี่ยนแปลงต่างหาก

“นิรันดร์ราตรี” โฟกัสเรื่องราวไปที่ “สัมฤทธิ์ วรรจธนภูมิ” ผู้ที่ทำงานฉายภาพยนตร์ที่ “โรงภาพยนตร์ธนบุรีรามา” มากว่า 25 ปี จนกระทั่งโรงภาพยนตร์แห่งนี้ปิดตัวลงเมื่อปี 2556 ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการปิดฉากโรงภาพยนตร์ Stand Alone ชั้น 2 ในกรุงเทพฯ ไปเลย แม้แต่ใน ตจว. ก็ไม่แน่ใจว่ายังเหลือโรงเดี่ยวลักษณะนี้อยู่มั้ย เมื่อกระแสสังคมมุ่งไปแนวทางของ Multiplex Cineplex และการสร้างโรงภาพยนตร์ที่ผูกติดกับศูนย์การค้า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ Stand Alone ก็เหมือนรอวันตาย ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมันหมายถึงทุนมหาศาลสำหรับธุรกิจเล็กๆ อย่างพวกเขา และสุดท้ายก็หมดลมหายใจไปในที่สุด

สำหรับ “สัมฤทธิ์” ที่อยู่กับโรงภาพยนตร์มากกว่า 25 ปี เขาคิดยังไงกับความเปลี่ยนแปลงนี้ เราอาจคาดหวังคำตอบที่บอกเล่าความผูกพันระหว่างสัมฤทธิ์กับโรงภาพยนตร์แห่งนี้ แต่สิ่งที่ได้กลับไม่ใช่เลย… การล่มสลายของโรงภาพยนตร์ Stand Alone หรือระบบฟิล์ม เป็นสิ่งที่คาดไว้อยู่แล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่วงการภาพยนตร์จะเดินไปในทิศทางใดหรือสังคมจะเป็นแบบใด แต่คือ “ตัวเขาเอง” ต่างหากที่จะเป็นยังไงต่อ

สัมฤทธิ์ คือภาพตัวแทนชนชั้นล่างที่เข้ามาทำงานในเมืองเป็นเวลานาน เขาบอกโดยตรงว่า ไม่ได้ชอบการฉายหนังนัก แต่ทำเพราะมันเป็นอาชีพ มันได้เงิน และทำต่อเนื่องมาจนถึงจุดหนึงก็ไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้แล้ว เพราะชีวิตเขาผูกติดกับธนบุรีรามาไปแล้ว วันทั้งวันแทบจะอยู่แต่ในโรง ไม่ค่อยมีเพื่อน ปีนึงได้กลับบ้านแค่ประมาณ 20 วัน เมื่อวันหนึ่งโรงต้องปิดตัวลง ก็เหมือนชีวิตที่คุ้นเคยปิดตามไปด้วย

แล้วจะให้สัมฤทธิ์ไปไหนละ… ช่วงครึ่งหลังของนิรันดร์ราตรี พาเราตามติดชีวิตของสัมฤทธิ์เมื่อเขากลับมาทำสวนยางพาราที่บ้านเกิด แต่กลายเป็นว่าการจากบ้านไปนานเกินไป ทำให้เมื่อกลับมาอยู่บ้าน เขากลับรู้สึกแปลกแยกกับที่นี่ ทั้งวิถีการทำงานที่เปลี่ยนไป จากที่ทำงานในที่ร่ม ต้องตื่นเช้ามืดไปกรีดยาง ทักษะการฉายหนังไม่ได้มีประโยชน์อะไรในชนบทแห่งนี้ เสียงเพลงหรือภาพจากหนังที่คุ้นเคยก็ไม่มีอะไรอีกแล้ว และสุดท้ายก็ต้องลงด้วย “เหล้า” 

ชีวิตของสัมฤทธิ์ก็คงเหมือนกับโรงภาพยนตร์ Stand Alone มันเป็นสิ่งที่สังคมเมืองไม่ต้องการแล้ว แต่ขณะเดียวกันสังคมชนบทก็ไม่มีพื้นที่ให้มัน สัมฤทธิ์เป็นเพียงเศษซากของความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครสนใจ เขาไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองต่อไปได้ เพราะไม่มีงาน และเมืองก็ไม่ได้สนใจการมีอยู่ของเขา แต่พอกลับมาที่ชนบท ที่นี่มันก็ไม่ใช่บ้านของเขาอีกแล้ว

ไม่เพียงแต่สัมฤทธิ์ แต่ชีวิตผู้คนอีกมากมายในสังคมอาจจะเผชิญสถานการณ์แบบเขา ซึ่งอาจรวมไปถึงกลุ่มชนชั้นกลางด้วย เพราะมีหลายคนที่เข้ามาเรียนและทำงานใน กทม. โดยคาดหวังจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้ในที่สุด แต่ยิ่งความเจริญของเมืองกับชนบททวีความห่างมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็มีความเสี่ยงว่า หากวันใดเมืองไม่ต้องการพวกเขาแล้ว พวกเขาจะไปไหน เพราะทุกสิ่งที่ฝึก ที่เตรียมมา นั้นเพื่อเมืองไม่ใช่ชนบท

ทั้งนี้ “นิรันดร์ราตรี” ถือเป็นสารคดีที่ดูง่าย แม้จะมีหลายช่วงที่มีลักษณะเป็นงานเชิงทดลอง มีการเล่นภาพและแสงต่างๆ แต่ก็ยังไม่หนักข้อหรือต้องปีนบันไดดูแบบหนังอินดี้ไทยมากกลุ่มเท่าไหร่

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)