[Criticism] Apprentice – เส้นทางสู่มือเพชฌฆาต (Spoil)

ข้อมูลจาก “Amnesty International” ระบุว่าในปี 2558 มี 140 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ทั้งในเชิงกฎหมายและเชิงปฏิบัติ (ยกมีบัญญัติโทษ แต่ไม่ได้ประหารมาแล้วเกิน 10 ปี) ทำให้ยังเหลือราว 50 กว่าประเทศที่ยังกำหนดโทษประหารชีวิตอยู่ สำหรับในอาเซียนเอง ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ คือประเทศเหล่านั้น

“สิงคโปร์” เป็น 1 ในประเทศที่ยังคงโทษประหาร และมีอัตราสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของ โดยในปี 2558 มีการประหารชีวิตนักโทษ 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานค้ายาเสพติด และเป็นชาวต่างชาติ นั่นทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนานาชาติมักวิพากษ์วิจารณ์ระบบการลงโทษของสิงคโปร์ว่ารุนแรงเกินไป เพราะในหลายๆ ประเทศ ความผิดฐานค้ายาเสพติดไม่ได้มีความผิดถึงขั้นประหารชีวิต ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังคงใช้วิธีการประหารชีวิตแบบ “แขวนคอ” โดยกระทำในเช้าวันศุกร์

เรื่องราวการประหารชีวิตในสิงคโปร์ถูกนำเสนอใน “Apprentice” หนังสิงคโปร์ที่ได้รับทุนสร้างจากหลากหลายเชื้อชาติ และเป็นตัวแทนของสิงคโปร์ส่งชิงรางวัล Oscars สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศครั้งที่ผ่านมา โดยเนื้อหาโฟกัสไปที่ “Aiman Yusof” (Firdaus Rahman) เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ที่ได้เป็นผู้ช่วยของ “มือเพชฌฆาตแขวนคอ” ประจำเกาะสิงคโปร์ “Warder Rahim” (Wan Hanafi Su) โดยที่ไม่มีใครในเรือนจำรู้ว่า แท้จริงแล้วพ่อของ Aiman เคยต้องโทษประหารชีวิต และคนที่แขวนคอก็คือ Warder Rahim นั่นเอง

ด้วยเนื้อเรื่องที่พูดถึงอาชีพเพชฌฆาตเหมือนกัน มีประเด็นเกี่ยวกับการประหารชีวิตเหมือนกัน ทำให้อดไม่ได้จะนึกถึงหนังที่คล้ายๆ กันอย่าง “เพชฌฆาต” (The Last Executioner) ที่ออกฉายเมื่อปี 2014 โดยเป็นหนังชีวประวัติของ “เชาวเรศน์ จารุบุณย์” เพชฌฆาตมือยิงเป้าคนสุดท้ายของไทย (ปัจจุบันเราเปลี่ยนเป็นประหารด้วยการฉีดยาแทน)

อย่างไรก็ตาม แก่นของ “เพชฌฆาต” กับ “Apprentice” ดูจะแตกต่างกันพอควร เพราะในขณะที่ “เพชฌฆาต” พยายามเข้าไปสำรวจจิตใจของมือเพชฌฆาตว่ารู้สึกอย่างไรกับอาชีพนี้ เขาคือส่วนหนึ่งของกฎหมายหรือคือคนบาป ซึ่งสะท้อนผ่านตัวละคร “ยมทูต” ที่ปรากฎขึ้นในใจของ “เชาวเรศน์” แต่กับ “Apprentice” ดูจะไม่ได้สนใจประเด็นนี้มากนัก หนังอาจมีการถกเถียงอยู่บ้างเรื่องความจำเป็นของโทษประหารชีวิตว่ายังควรมีอยู่มั้ย แต่ประเด็นหลักดูจะเป็นเรื่องของ “Aiman” ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงตัดสินใจทำงานในเรือนจำ จนกระทั่งเข้าใกล้การเป็นเพชฌฆาต

แม้ภูมิหลังของ Aiman ที่พ่อถูกประหารชีวิต จะทำให้ดูเหมือนว่าการเข้ามาทำงานในเรือนจำ ก็เพื่อเป็นโอกาสในการแก้แค้น แต่ Aiman อยากแก้แค้นจริงหรือ ในเมื่อพ่อเขาถูกประหารก่อนเขาเกิดด้วยซ้ำ หรือเขาเพียงแค่อยากมาสัมผัสความรู้สึกก่อนตายของพ่อ หรือเอาเข้าจริงแล้ว ลึกๆ เขาอยากเป็นมือเพชฌฆาตจริงๆ แม้มันดูไม่สมเหตุสมผลเลยในสายตาคนรอบข้างก็ตาม

มีหลายคนที่เมื่อต้องเจอความทุกข์ทรมาน พวกเขาเลือกจะเปลี่ยนตัวเองให้แบบคนที่เคยทำพวกเขาเจ็บ เพราะเชื่อว่าถ้าเขาอยู่ในฐานะคนกระทำ เขาก็จะไม่เจ็บปวดจากการโดนกระทำอีก ชีวิตของ Aiman น่าจะเป็นแบบนั้น พ่อโดนประหารตั้งแต่ก่อนเขาเกิด ช่วงวัยรุ่นก็เลือดร้อน มีเรื่องชกต่อย ติดยา จนอนาคตแทบไม่มี ซึ่งเหมือน Aiman จะฝังใจว่าสาเหตุความล้มเหลวในชีวิตช่วงหนึ่งเกิดจากการไม่มีพ่อ และการประหารชีวิตพรากพ่อเขาไป ความรู้สึกนี้ตอกย้ำ Aiman อยู่เรื่อยๆ เขาจึงเลือกทำงานในเรือนจำ รวมถึงการก้าวสู่การเป็นเพชฌฆาต เพื่อไม่ได้ตัวเองรู้สึกเหมือนโดนกระทำอีก

จริงๆ หนังเองก็ให้ภูมิหลัง Aiman ว่า ก่อนจะมาทำงานเรือนจำ เขาเคยเป็นทหารอาชีพมาก่อน และเขาก็พึงพอใจกับอาชีพนั้นเป็นอย่างดี เหมือนยิ่งตอกย้ำว่า สำหรับ Aiman การได้ควบคุมคนอื่นจะทหารหรือนักโทษ มันทำให้เขารู้สึกดีขึ้น แม้จะไม่แน่ใจว่ามันใช่ทางที่ควรใช้แก้ปัญหาหรือเปล่า

หนังสร้างบรรยากาศกดดันได้ดี การเลือกซีน เลือกองค์ประกอบภาพทำให้เรารู้สึกอึดอัดไม่ต่างจากความรู้สึกของ Aiman ที่ลึกๆ เหมือนเขาก็อยากเป็นเพชฌฆาต แต่อีกใจหนึ่งก็มโนธรรมคอยเหนี่ยวรั้งเขาไว้ เทียบกับหนังเรื่อง เพชฌฆาต Apprentice จึงโดดเด่นกว่าในแง่บรรยากาศความกดดัน กระนั้นส่วนตัวก็ยังชอบการสำรวจจิตใจและการตั้งคำถามต่อโทษประหารชีวิตโดยตรงในเรื่องเพชฌฆาตมากกว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “เพชฌฆาต” และ “Apprentice” มีเหมือนกันคือเป็นหนังที่ดำเนินเรื่องค่อนข้างเรื่อยๆ นั่นทำให้ทั้ง 2 เรื่องต่างเป็นหนังดีมีสาระ ที่ดูไม่ค่อยสนุกนัก

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)