[Criticism] Beasts of No Nation – ความพยายามพลิกวงการครั้งสำคัญของ Netflix

อันที่จริงเรื่องราวดราม่าของหนัง “Beasts of No Nation” นั้น ดูจะน่าสนใจกว่าตัวหนังเองจริงๆ เสียอีก เพราะตัวหนังเองจริงๆ นั้น ไม่ได้แตกต่างจากหนังแนวสงครามกลางเมืองแอฟริกาเรื่องอื่นๆ มากนัก แต่มันพิเศษหรือแตกต่างตรงที่เป็นหนังที่สร้างโดย “Netflix” บริการ Video on Demand ชื่อดังของสหรัฐฯ และเกิดดราม่าตั้งแต่ก่อนหนังฉายกับบรรดาเครือโรงภาพยนตร์ต่างๆ เนื่องจาก Netflix ต้องการฉายพร้อมกันทั้งทางโรงภาพยนตร์และบนบริการของตน ขณะที่เมื่อหลังหนังฉายไปแล้ว หนังก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของดราม่า #OscarsSoWhite ด้วย เนื่องจาก “Idris Elba” หนึ่งในนักแสดงผิวสีของเรื่อง ที่หลายคนคาดว่าจะได้เข้าชิงสมทบชาย Oscars ปีนี้ แต่กลับพลาดไป โดยบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลมาจากที่เขา “ผิวสี”

Theater vs. Video on Demand

หลังจาก Netflix ประสบความความสำเร็จกับธุรกิจให้บริการดูหนังและซีรี่ส์ Netflix ก็ก้าวต่อไปด้วยการทำ Content ของตัวเอง โดยเริ่มจากตลาดซีรีส์ ด้วยการปล่อย “House of Cards” ออกมาในปี 2013 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในแง่คำวิจารณ์และความนิยม นำไปสู่การสร้างซีรี่ส์ Original Content อีกหลายเรื่อง และในปี 2015 Netflix ก็ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ด้วยการวางแผนทำหนังของตัวเองขึ้นมาเรื่องแรก นั่นก็คือ “Beasts of No Nation” ซึ่งก็ไม่ใช่แค่มาเล่นๆ เพราะ Beasts of No Nation ใช้ทุนสร้างพอควร อาจเยอะกว่าหนังฉายโรงหลายเรื่องด้วยซ้ำ แถมยังระดมทีมงานคุณภาพ ตลอดจนได้ “Idris Elba” นักแสดงผิวสีที่กำลังมาแรงมาเป็นทั้ง Producer และหนึ่งในนักแสดงนำอีก

การเกิดขึ้นของ Beasts of No Nation ยังไม่เพียงเป็นการขยายธุรกิจของ Netflix เท่านั้น แต่ยังเป็นความพยายามในการพลิกวงการของ Netflix หลังจากที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับวงการซีรี่ส์ โดย Netflix วางแผนที่จะออกฉายหนังเรื่องนี้พร้อมกันทั้งในโรงภาพยนตร์และบน Netflix ซึ่งมันพลิกวงการเพราะเนื่องจากที่ผ่านมา ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะฉายในโรงภาพยนตร์ก่อนประมาณ 90 วัน ถึงจะนำออกฉายใน Format อื่นต่อไป และสำหรับ Formant อย่าง Video on Demand กว่าจะฉายได้ก็อาจต้องรอถึง 2-3 ปี (กรณีฉายแบบ Buffet แต่ถ้าเป็นบริการให้เช่าหรือซื้อไฟล์ออนไลน์ ปัจจุบันแทบจะออกพร้อมกับ DVD)

แน่นอนพอประกาศเช่นนี้ บรรดาเครือโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ก็เกิดไม่สบอารมณ์ทันที เพราะเป็นการลดความสำคัญของโรงภาพยนตร์ในธุรกิจวงการภาพยนตร์ลง ทำให้ AMC, Carmike, Cinemark และ Regal ซึ่งเป็น 4 เครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในหรัฐ มีโรงรวมกันกว่า 20,000 โรง (นับจากจำนวนจอ) ในสหรัฐฯ ออกมาประกาศ “บอยคอต” ไม่นำ “Beasts of No Nation” ไปฉาย และการดำเนินการแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งเช่นกับกับ “Crouching Tiger, Hidden Dragon: Sword of Destiny” หนัง Original อีกเรื่องที่ Netflix สร้าง และวางแผนจะฉายในโรงกับในอินเทอร์เน็ตพร้อมกัน

เมื่อโดนฝั่งโรงภาพยนตร์บอยคอตเช่นนี้ Netflix ก็แก้เกมด้วยการหันไปหาเครือโรงภาพยนตร์รายย่อยแทน แต่ก็สามารถหาโรงฉายให้กับเรื่องนี้ได้เพียง 31 แห่ง และทำรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์ได้เพียงประมาณ 90,000 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น (ราว 2.7 ล้านบาท) กระนั้น Netflix เองก็บอกว่า ถึงจะฉายในโรงน้อย แต่เฉพาะแค่ 11 วันแรกหลังออกฉายบน Netflix ก็มีคนเข้ามาดู Beasts of No Nation ผ่านช่องทางออนไลน์นี้แล้วกว่า 3 ล้านคน (หรือ 3 ล้านครั้ง?) จริงๆ Netflix จะเลือกฉายแบบออนไลน์อย่างเดียวไปเลยก็ได้ แต่การที่ยังคงให้มีการฉายโรงอยู่ ก็เพื่อรักษาสิทธิ์ในการถูกพิจารณาว่าเป็น “ภาพยนตร์” และสามารถเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ต่างๆ ได้เท่านั้น จะบอกว่าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นมาเพื่อหวังรางวัลด้วยก็ไม่ผิดนัก เพราะกระแสจากรางวัลจะทำให้หนังจาก Netflix ดูมีเครดิตและส่งผลดีต่อหนังเรื่องต่อๆ ไปด้วย ซึ่งด้วยแผนนี้ทำให้หนังเรื่องนี้เข้าชิงในหลายเวทียกเว้นก็แต่…..Oscars

Movie

ส่วนนี้ขอว่ากันที่ตัวหนัง Beasts of No Nation บ้าง ซึ่งหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “Agu” (Kurt Egyiawan) เด็กชายชาวแอฟริกันที่อาศัยอยู่กับครอบครัวในเขตกันชน (Buffer Zone) แถบแอฟริกาตะวันตก แม้จะไม่ใช่พื้นที่ที่สุขสบายนัก แต่ Agu ก็ใช้ชีวีตอย่างมีปลอดภัยที่นี่กับครอบครัว จนกระทั่งเมื่อสงครามเริ่มเดินทางมาถึง กลุ่มทหารได้เข้ายึดครองพื้นที่และสังหารชาวบ้านไปเกือบทั้งหมด รวมถึงพ่อและพี่ชายของ Agu ขณะที่แม่กับน้องสาวก็ต้องแยกจากกัน Argu ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเข้าไปในป่า และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังกบฎ “NDF” ที่นำโดย “Commandant” (Idris Elba)

กลุ่ม NDF เป็นกลุ่มที่รวบรวมเด็กและบรรดาวัยรุ่นมาเป็นทหาร พร้อมทั้งปลูกฝังความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามให้กับสมาชิก ซึ่งเป็นลักษณะของกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายๆ แห่งในแอฟริกา การที่ Agu ได้มาเจอกลุ่มนี้ แม้จะทำให้รอดชีวิต แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาที่ค่อยๆ เปลี่ยนเขาจากเด็กธรรมดาทั่วๆ ไป ให้ค่อยๆ กลายเป็นทหารเด็กที่สามารถฆ่าคนอื่นได้อย่างเลือดเย็น นี่คือ Point หลักที่ Beasts of No Nation ตั้งใจจะนำเสนอ…สงครามเปลี่ยนเด็กให้กลายเป็นสัตว์ป่าได้อย่างไรกัน และแม้สงครามจะจบลง แต่สำหรับเด็กเหล่านี้แล้ว มันยังมีบาดแผลในใจพวกเขาเสมอ บาดแผลที่อาจทำให้พวกเขาอาจไม่สามารถย้อนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกแล้ว

โดยส่วนตัวแล้ว คือถ้ามองในแง่ความดราม่า ตัว Beasts of No Nation ก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็แค่ระดับมาตรฐานตามที่หนังแนวนี้ควรจะเป็น หลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นการพยายามใส่ดราม่าครอบครัว สภาพจิตใจ การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด รวมถึงแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง ให้ความรู้สึกว่าเป็นความพยายามในการ “เอาใจ” พวกเวทีรางวัลต่างๆ โดยเฉพาะ “Oscars” ซึ่งในวงการจะมีศัพท์เรียกหนังที่สร้างมาเพื่อล่ารางวัลแนวนี้ว่า “Oscar-Bait” อย่างปีก่อนก็มี “Unbroken” ที่มาแนว Oscar-Bait เหมือนกัน พยายามยัดทุกอย่างที่คิดว่า Oscar ชอบ จนขาดเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวหนังจริงๆ ไป และสุดท้ายก็พลาด Oscar ไปด้วยกันทั้งคู่

ยิ่งถ้านำ Beasts of No Nation ไปเทียบกับหนังสงครามกลางเมืองแอฟริกาเหมือนกันอย่าง Blood Daimond, Hotel Rwanda, The Last King of Scotland กระทั่งที่ไม่เกี่ยวกับแอฟริกาโดยตรงอย่าง Lord of Wars จะเห็นได้ว่า Beasts of No Nation ยังไม่สามารถสร้างความน่าจดจำได้เท่าหนังเหล่านี้ สาเหตุสำคัญที่ส่วนตัวรู้สึกคือหนังขาดจุดพีคและความน่าติดตามไป เหมือนไปไม่สุดสักที ความที่หนังค่อนข้างเรื่อยๆ ทำให้ส่วนตัวใช้เวลาดูหนังเรื่องนี้นานอยู่ เพราะดูผ่าน Netflix ดูๆ ไปก็พัก แล้ววันอื่นมาดูต่อ ไม่ใช่หนังที่แบบที่ตัวเองจะต้องดูจบทันที แต่ขณะเดียวกันก็อาจมองกลับกันได้ว่า การที่ตัวเองดูๆ หยุดๆ ก็ส่งผลให้ส่วนตัวไม่สนุกกับหนังเช่นกัน

Oscars Snub

ส่วนที่ 3 ว่ากันที่หลังหนังฉาย ซึ่ง “Beasts of No Nation” มาเป็นที่พูดถึงมากอีกครั้ง จากกรณีที่ผู้เข้าชิงสาขานักแสดงและผู้กำกับปีนี้ของเวที Oscars เป็นคนผิวขาวทั้งหมด ทำให้นักแสดงและผู้กำกับผิวสีบางคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเลือกปฏิบัติ และแนวโน้มการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นในเวที Oscar เรื่อยไปจนถึงการเปิดเผยว่าผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่ของ Oscars คือคนผิวชาว ผู้ชาย และอายุ 60 ปีขึ้นไป (จริงๆ ก็ไม่ใช่ข้อมูลลับเท่าไหร่) ขณะที่บางส่วนก็มองว่า การที่นักแสดงผิวสีบางคนจุดกระแสเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะ “สามี” ของเธอไม่ได้เข้าชิงนั่นเอง ไปถึงความรู้สึกว่าถ้าต้องจัดโควต้าให้คนผิวสีโดยเฉพาะ มันจะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือป่าว

ในสภาพการณ์ดราม่าเช่นนี้ มักมีการอ้างชื่อ “Idris Elba” มาในวงสนทนาด้วย เพราะเขาถูกคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้เข้าชิงสาขาสมทบชายยอดเยี่ยม และได้เข้าชิงมาแล้วหลายเวที แต่กลับ Oscar เขากลับพลาดเข้าชิงไป แม้ว่าล่าสุด Idris จะสามารถคว้ารางวัลสมทบชายยอดเยี่ยม จากสมาคมนักแสดงหรือรางวัล SGA ไปครองได้ ซึ่งนั่นอาจมองได้ว่าเป็นทั้งการ “ตบหน้า” Oscars หรือ “แก้ตัว” เพื่อลบข้อครหาเรื่องเหยียดสีผิวก็ได้

โดยส่วนตัวไม่สามารถบอกได้ว่า “Idris Elba” ควรได้รางวัล Oscar หรือเปล่า เพราะยังดูหนังของผู้เช้าชิงสาขานี้ไม่ครบ แต่เท่าที่ดูไปส่วนตัวชอบ Idris Elba มากกว่า Christian Bale ที่ได้เข้าชิง The Big Short กระนั้นก็ไม่ได้หมายความ Oscar เลือกปฏิบัติจริงๆ เพราะถ้าให้ส่วนตัวใส่ชื่อคนเข้าชิงสาขานี้ในแบบตัวเองลงไป ก็ไม่ใส่ชื่อ Idris Elba อยู่ดี แต่จะขอใส่ชื่อ “Benicio del Toro” จาก “Sicario” ไปแทน “Mark Rylance” จาก “Bridge of Spies” และใส่ “Steve Carell” จาก “The Big Short” ไปแทน “Christian Bale” จากเรื่องเดียวกัน

ทั้งนี้ ยังแอบคิดว่าการ Idris รวมถึงตัวหนัง Beasts of No Nation พลาดจาก Oscars ไปทุกรางวัล อาจไม่ใช่เรื่องของการเหยียดสีผิว แต่คือการไม่สามารถเข้าถึงผู้ลงคะแนน Oscar ได้นั่นเอง เนื่องจาก Netflix เลือกปล่อยช่องทางผ่านออนไลน์เป็นหลัก ทั้งที่ก็อาจรู้อยู่แล้วว่าผู้โหวตส่วนใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจชื่นชอบการดูหนังในโรงหรือแผ่นมากกว่าไม่ใช่เหรอ นี่ยังไม่รวมถึงการที่สามารถคิดไปได้ว่า นี่เป็นการโต้ตอบกับ Netflix ที่ต้องการล้มในส่วนของโรงภาพยนตร์ไป เพราะ Oscars คือเวทีรางวัลของคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถ้าพวกเขายังคิดว่า โรงภาพยนตร์คือส่วนสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของอุตสาหกรรมนี้ พวกเขาก็คงไม่ชอบการเข้ามา Netflix นัก แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว สุดท้ายแล้วมันอาจเป็นเรื่องการขาดความหลากหลายในบรรดาผู้ลงคะแนน หรืออคติเรื่องสีผิวจริงๆ ก็เป็นได้

Netflix

ส่วนสุดท้าย ขอพูดถึงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ Netflix เนื่องจาก Beasts of No Nation เป็นหนังเรื่องแรกที่ดูผ่าน Netflix หลังจากที่ Netflix เปิดให้บริการในประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยสามารถทดลองใช้ฟรีได้ 1 เดือน ซึ่งโดยส่วนตัวก็ได้ข้อสรุปว่า อาจไม่จ่ายเงินใช้ต่อในเดือนถัดไป เพราะถึงแม้ Netflix จะมีจุดเด่นที่แข็งแกร่งในแง่ ชื่อเสียงเป็นแบรนด์ระดับโลก มีภาพคมชัดถึงระดับ UHD และมี Original Content ของ Netflix ที่หาดูที่อื่นไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ก็ทำให้หนังและซีรีส์ในคลังของ Netflix ประเทศไทย มีน้อยกว่า Netflix อเมริกามาก กระทั่ง Original Content บางเรื่องเอง ก็ไม่สามารถหาดูได้จาก Netflix ประเทศไทย ขณะที่ในแง่ความคมชัด หากเราไม่ได้ใช้ TV ขนาดประมาณ 40 นิ้วขึ้นไป ภาพ UHD ก็ถือว่าไม่จำเป็นนัก ยิ่งดูผ่าน Smartphone ความคมชัดระดับ SD ก็ถือว่ารับได้แล้ว

อีก 2 ปัจจัยสำคัญที่น่าจะส่งผลทำให้ Netflix อาจจะประสบความสำเร็จได้ยากในตลาดประเทศไทยก็คือ ราคาที่สูงกว่าเจ้าอื่นพอควร และการไม่มีซับไทย ดังนั้น หากเราไม่ได้ต้องการดู Original Content ของ Netflix เป็นพิเศษ ก็อาจไม่มีแรงจูงใจอะไรนักในการให้ใช้ Netflix ต่อ…อย่างน้อยก็ในขณะนี้
 

 

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)