[Criticism] Dunkirk – การต่อต้านสงครามในแบบโนแลน (Spoil)

หมายเหตุ: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ (Spoil)

ทันทีที่ได้ยินว่า หนังเรื่องต่อไปของ “Christopher Nolan” คือ “Dunkirk” ซึ่งหยิบยกเอาเหตุการณ์อพยพทหารอังกฤษ 400,000 นาย จากชายหาดเมือง Dunkirk กลับบ้าน ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เชื่อว่า ส่วนใหญ่คงงงงวยกันว่า Nolan คิดอะไรอยู่กันแน่ เพราะมันดูผิดแผกจากแนวหนังที่เขาเคยทำมาตลอด แถมยังดูไม่ใช่แนวหนังที่หลายคนต้องการจากผู้กำกับคนนี้ด้วย ยิ่งโลกนี้มีหนังสงครามชั้นดี เด่นๆ มากมาย (ที่ไม่ใช่แค่ Saving Private Ryan) Dunkirk จะสู้ได้หรือ ในเมื่อหนัง Nolan เองก็มักโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความแห้งแล้งทางอารมณ์ตัวละครอยู่เสมอ ขณะที่หนังสงครามเรื่องอื่นๆ มักให้ความสำคัญกับอารมณ์ตัวละครสูง

อย่างไรก็ตาม ถ้าได้รู้ประวัติ ชีวิต และมุมมองการทำหนังของ Nolan มาบ้าง การที่เขาเลือกจะทำหนังสงคราม ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้เกินไป อย่างที่รู้ Nolan เป็นผู้กำกับที่คลั่งไคล้การทำหนังแบบ Old School ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้าง “ประสบการณ์ร่วม” จากการดูหนังในโรง แล้วมันจะมีหนังอะไรที่จะ Epic และเอื้อต่อการสร้างประสบการณ์การรับชมอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ดียิ่งไปกว่าหนังสงครามละ

เราจึงเตรียมใจไว้ในระดับหนึ่งก่อนแล้วว่า “Dunkirk” น่าเป็นหนังเพื่อสนอง Need ของ Nolan ที่รวบรวมเอาความนิยมชมชอบ เทคนิคการถ่ายหนังที่เขาเทิดทูนมารวมไว้ในเรื่องนี้ ทั้งยังเป็นอาวุธสำคัญที่ Nolan ให้ต่อสู้กับระบบการดูหนังผ่าน Mobile Device หรือ Smart TV ที่บ้าน ด้วยความเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถเข้าถึงประสบการณ์ได้สูงสุด ก็ต่อเมื่อดูในโรงเท่านั้น

แน่นอน Nolan ทำสำเร็จในแง่นี้ “Dunkirk” เป็นงานสร้างหนังที่ประสานทั้งเทคนิคสมัยเก่า อย่างการเล่าเรื่องแบบหนังเงียบ ประโคมด้วยเสียงดนตรีร้อยเรียงเรื่องราวเข้าด้วยกัน (หนังเงียบสมัยก่อนไม่ได้เงียบจริง แต่มีคนตรีเล่นคลอไปทั้งเรื่อง) หรือจะเป็นเทคนิคการถ่ายทำที่เน้นคนจริง ของจริง เครื่องบินจริง หลีกเลี่ยง CG ประสานเข้ากับการเล่าเรื่องแบบสมัยใหม่ที่ตัดต่อรวดเร็ว ไม่เรียงลำดับเวลา อันเป็นสไตล์ถนัดของ Nolan เชื่อว่า Dunkirk จะกลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับคนเรียนหนังในอนาคตได้

ขณะเดียวกัน Dunkirk ก็เป็นหนึ่งในหนังที่มอบประสบการณ์การรับชมในโรงให้ได้อารมณ์แบบถึงขีดสุด ยิ่งดูในโรงที่ใหญ่เท่าไหร่ ระบบเสียงดีมากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งรู้สึกเหมือนตัวเองสามารถเข้าไปตัวหนังได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะการเล่าเรื่องของ Nolan พยายามทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นอยู่แล้ว เห็นได้ชัดจากการใช้มุมมองภาพ ที่ให้เราเห็นเท่าที่เห็น รู้เท่าที่รู้ หลีกเลี่ยงการใช้มุมมองแบบพระเจ้า ยิ่งในเส้นเรื่องอากาศ ที่ใช้ภาพแทนสายตานักบิน จนเรารู้สึกราวกับกำลังขับเคลื่อนบินจริงๆ Nolan เคยให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ Dunkirk เป็น VR แบบไม่ต้องสวมแว่น…เขาทำสำเร็จ ส่วนตัวดูเรื่องนี้ 2 รอบ รอบแรกเป็น Digital ธรรมดา รอบสองเป็น IMAX Digital เห็นได้ชัดว่ายิ่งโรงดีขึ้น ยิ่งทำให้เราสนุกสนานกับตัวหนังได้มากขึ้นทีเดียว เสียดายที่ยังไม่มีโอกาสรับชมในรูปแบบ IMAX Film 70 มม. เพราะเครื่องฉายดันพังเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม เพราะ Dunkirk เป็นหนังที่เรียกร้องคุณภาพของโรงในระดับหนึ่ง หากเราดูในโรงที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ รวมถึงอนาคตเมื่อดูผ่าน DVD หรือ Streaming คิดว่าอรรถรสในการรับชมคงลดไปมากทีเดียว และขณะเดียวกัน การที่ Nolan เลือกที่จะพาเราเข้าไปอยู่ในหนัง โดยไม่ให้เรารู้จักใครเป็นพิเศษ ไม่มีพระเอก ไม่มีนางเอก ไม่มีดราม่าครอบครัวตัวละคร ไม่มีการถกเถียงเชิงการเมือง ไม่มีเผยตัวศัตรูให้เห็นจะจะ ไม่มีแม้กระทั่งขึ้นต้นเรื่องว่า “สร้างจากเรื่องจริง” ซึ่งค่อนข้างพลิกแนวหนังสงครามที่ผ่านๆ มา นั่นทำให้ Dunkirk อาจเป็นหนังที่ค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับหลายคนได้ทีเดียว และเป็นหนังที่ดูจบแล้วอาจจำตัวละครหรือเรื่องราวไม่ได้เลย ซึ่งผิดกับเรื่องอื่นๆ ที่จบแล้วต้องมานั่งขบคิดทฤษฏีกันไปอีกหลายวัน สิ่งที่ Dunkirk ทิ้งไว้มีเพียงความรู้สึก ความกดดัน ที่ถ่ายทอดมาในตัวหนังเท่านั้น แต่แน่นอนจะได้ความรู้สึกนี้ ต้องดูในโรงที่ดีๆ ด้วย

เคยคิดเล่นๆ ว่า อาจเพราะ Nolan โดนวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดเรื่องการสร้างอารมณ์ตัวละครไม่เก่ง ขนาดใน Interstellar ที่พยายามปูเรื่องพ่อ-ลูกมาตลอดทั้งเรื่อง ก็ยังโดนหาว่าทำได้ไม่สุด มาใน Dunkirk มีแกเลย “ช่างแม่ง” มันละกัน ไม่สนใจจะสร้างดราม่า อารมณ์ตัวละครอะไรทั้งนั้น แต่ทำให้ในสิ่งที่ตัวเองถนัด อย่างการสร้างสถานการณ์อันลุ้นระทึกขึ้นมา และเน้นตรงนี้ไปให้สุดๆ เลยละกัน

จริงๆ คงมีคนพูดเรื่องระบบภาพและเสียงของ Dunkirk มากแล้ว บทวิจารณ์นี้ก็พูดไปเยอะ แต่ถ้าจะกล่าวถึงสิ่งที่ชอบจริงๆ ใน Dunkirk ก็คือ “มุมมองที่มีต่อสงคราม” ของหนังเรื่องนี้ ตัวหนังแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น 3 ส่วน คือ บนบก บนทะเล และบนอากาศ เล่าสลับไปมา โดยเน้นที่การเอาตัวรอดของคนในแต่ละเส้นเรื่อง ซึ่งว่าไปเนื้อหาก็ไม่ค่อยมีอะไร แต่ในความไม่มีอะไร กับสอดแทรกสาระการต่อต้านสงครามในแบบ Nolan ไปแบบเนียนๆ

Dunkirk เลือกจะไม่ให้เรารู้จักที่มาตัวละครมากนัก ดังนั้น หนทางในการรับรู้ความร้ายกาจของสงครามก็คือ การใช้พลังของภาพ เสียง และเทคนิคการถ่ายทำ ดึงเราให้เสมือนว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น โดยที่ความร้ายกาจของสงครามในแบบ Dunkirk ไม่ใช่เลือด การฆ่าฟัน แขนขาดกระจุย หรือกระสุนทะลุหน้าอกแต่อย่างไร หากแต่เป็น “ความสิ้นหวัง” รู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัย จะตายอย่างโดดเดี่ยวเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และจะไม่ได้กลับบ้านอีกแล้ว ในแง่หนึ่งเหมือน Dunkirk จะบ่งบอกถึง “ความไร้สาระของสงคราม” ที่สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญสุดก็แค่ “เอาชีวิตให้รอด” ไม่ใช่อุดมการณ์หรือความเชื่ออะไรทั้งสิ้น

ความพิเศษของ Dunkirk ยังอยู่ที่เอาเข้าจริงมันเป็นฉากความพ่ายแพ้ของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมถึงทหาร ที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย คนที่มีบทบาทช่วยเหลือจริงๆ กลับเป็น “พลเรือน” ที่ต้องออกเรือมาช่วย สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงมาในหนัง และ 3 เส้นเรื่องของ Dunkirk ถูกใช้เพื่อยั่วล้อกับความมั่นใจในการทำสงครามของใครหลายคน

The Mole (บนบก)… เล่าเส้นเรื่องของ “พลทหาร” ธรรมดาๆ ที่หาวิธีหนีออกจาก Dunkirk เพื่อกลับบ้าน เน้นย้ำว่าเป็นพลทหารที่ธรรมดาๆ จริงๆ เป็นทหารที่ถ้าอยู่ในเรื่องอื่น คงตายแบบไม่มีใครสนใจนัก ไม่มีทั้งมาดวีรบุรุษ (ช่วงแรกๆ ความหวังสูงสุดคือการได้ขี้สักทีเท่านั้น) แถมยังขี้ขลาด หลอกลวง (ปลอมเป็นทหารแบกเปลเพื่อหาโอกาสขึ้นเรือกับคนเจ็บ) พร้อมจะผิดกฎเพื่อให้ตัวเองรอด แต่ขณะเดียวกันก็ยังขี้กลัวเกินไปกว่าที่จะทำเลวสุดๆ ไปเลย เข้าใจว่าหนังคงอยากให้เห็นว่าสงครามเป็นเรื่องของคนระดับบน แต่คนที่ดิ้นรนก็คือพลทหารพวกนี้แหละ กลุ่มคนที่ถูกเกณฑ์ไปรบ โดยที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาเลย น่าคิดว่า ถ้าสมมติมีสงครามเกิดขึ้นอีกจริง เราเองก็คงเป็นได้แค่พลทหารธรรมดาๆ ในเรื่องนี่แหละ แม้ใจอยากจะเป็นวีรบุรุษสงครามแค่ไหนก็ตาม

The Sea (บนทะเล)… เล่าเส้นเรื่องของพลเรือนที่นำเรือยอร์ชไปรับทหารที่ Dunkirk เส้นเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยความมั่นใจของตัวกัปตันเรือ (Mark Rylance) ที่เชื่อมั่นว่าตัวเองจะมีส่วนสำคัญในปฏิบัติการนี้ แถมยังเชื่อมั่นว่าจะทำได้ดีกว่าทหารด้วยซ้ำ (เขาปฏิเสธจะให้เรือกับทหาร แต่เลือกจะออกเรือด้วยตัวเอง) จนกระทั่งเมื่อเขาช่วยทหารคนหนึ่งขึ้นเรือ และเกิดเรื่องราวจนทำให้มีเพื่อนของลูกชายที่โดยสารมาด้วยต้องเสียชีวิต ความเชื่อมั่นของลุงกัปตันก็ดูสั่นคลอน น้ำเสียง แววตา ในช่วงท้ายเรื่องนั้นดูไม่มั่นใจเท่าช่วงแรก เป็นความผิดเขาหรือเปล่าที่รับทหารคนนั้นขึ้น แต่ ณ ตอนนั้นก็ถอยกลับไม่ได้แล้ว ส่วนตัวคิดว่า หนังเลือกใส่เรื่องราวความสูญเสียในเรือ อาจเพราะอยากส่งสารไปยัง “พลเรือน” ที่บางคนก็เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์สงครามจากมุมปลอดภัยของตัวเอง คอยตำหนิว่าควรจะทำอย่างโน้นสิ อย่างนั้นสิ ถ้าเป็นฉันทำได้อยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง…สงครามไม่ได้เป็นเรื่องง่ายอย่างที่คิดหรอก

The Air (บนอากาศ)… เล่าเส้นเรื่องของนักบิน Spitfire ที่ได้รับภารกิจคุ้มครองเรืออพยพในปฏิบัติการ Dunkirk เส้นเรื่องนี้ดูจะไม่ค่อยมีเนื้อเรื่องอะไรนัก เป็นเพียงการทำภารกิจสู้กันด้วยอากาศยานเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญอาจอยู่ในช่วงท้าย ในเรื่องนักบิน Spitfire มีภาพลักษณ์ของความเก่งกาจ กล้าหาญอยู่ กระนั้นพวกเขาก็ไม่อาจดีใจกับความสำเร็จภารกิจได้สุด เมื่อผลลัพธ์ภารกิจนี้คือ นักบินคนหนึ่งตาย อีกคนโดนศัตรูจับ ขณะที่อีกคนโดนทหารราบเหน็บแนมว่า “ไปอยู่ที่ไหนมา” (ประมาณว่าทำไมไม่บินคุ้มครองพวกเขาตอนอยู่ Dunkirk)… นี่หรือคือการตอบแทน

ช่วงท้ายของเรื่องหนังเลือกหยิบเอาคำกล่าวของ “Winston Churchill” นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น ที่กล่าวถึงความสำเร็จในการอพยพ ทั้งยังปลุกใจให้ชาวอังกฤษร่วมกันสู้ และไม่ยอมแพ้ต่อศัตรู มากล่าวถึงในเรื่อง ซึ่งทีแรกทำให้น่าหวั่นใจว่าตัวหนังจะสูญเสียสิ่งที่สร้างมาตลอดทั้งเรื่อง หันไปเชิดชูวีรบุรุษ สร้างความฮึกเหิมในการทำสงครามต่อแบบหนังเรื่องอื่นๆ แต่โชคดีที่ไม่เป็นเช่นนั้น สำหรับ Nolan ที่เป็นคนอังกฤษ ในแง่หนึ่งก็คงดีใจกับความสำเร็จของการอพยพครั้งนี้ แต่อีกแง่หนึ่งเขาก็คงคิดว่า มันคงจะดีกว่าถ้าไม่มีสงครามเลย

ด้วยเหตุนี้ คำพูดของ Churchill จึงถูกถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงอันราบเรียบของพลทหารคนหนึ่ง (Fionn Whitehead) ขณะอ่านหนังสือพิมพ์ เป็นน้ำเสียงที่ไร้ซึ่งความฮึกเหิม แม้บรรยากาศและดนตรีโดยรวมจะประโคมมาเต็มที่ รวมถึงซีนสุดท้ายที่ถ่ายให้เห็นสีหน้าพลทหารอันเรียบเฉยที่ไม่รู้จะสึกยังไงดีกับข่าวที่อ่าน ส่งให้กลายเป็นตอนจบที่ค่อนข้าง Perfect กับหนังมากทีเดียว เพราะความรู้สึกของพลทหารคนนี้คงแบบ “สู้เอาตัวรอดจนกลับบ้านมาได้ จะให้กลับไปรบอีกแล้วเหรอ”

Dunkirk อาจไม่ใช่หนังสงครามดูสนุกแบบที่เราคุ้นเคยกันนัก แต่ก็มีสารระหว่างบรรทัดที่น่าเก็บไปคิดมากทีดียว ยิ่งหากได้ชมในโรงใหญ่ๆ คุณภาพสูง ก็จะได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการดูจอเล็กอีก ทั้งนี้ แม้ Dunkirk จะไม่ใช่หนัง Nolan ที่อยู่ในระดับชอบที่สุด เทียบกันแล้วน่าจะอยู่ค่อนไปหลังด้วยซ้ำ แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในมาตรฐานของผู้กำกับคนนี้อยู่ดี

คำถามต่อไปคงเป็น เรื่องต่อไปของ Nolan จะมาแนวไหน และเขาจะยังเน้นสร้างหนังที่มอบ “ประสบการณ์” ไปได้อีกนานแค่ไหน ในยุคที่การดูหนังจอเล็กผ่าน Streaming เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้

ลำดับหนัง Nolan ที่ชอบ
The Dark Knight -> The Prestige -> Inception -> Interstellar -> Batman Begin -> Dunkirk -> Memento -> Following -> Insomnia

ดูอะไรต่อดี: Memento (2000), All Quiet on the Western Front (1930), Mad Max: Fury Road (2015)

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)