[Criticism] Inside Out – จิตวิทยาเบื้องต้น 101 (Spoil)


 
เทียบกับหนัง Pixar ด้วยกัน “Inside Out” อาจเป็นหนังที่มีตัวละครดึงดูดใจเมื่อแรกเห็นได้น้อยที่สุด เนื่องจากการออกแบบตัวละครของเรื่องนี้ แม้จะมาเป็นกลุ่ม แต่ไม่ถึงกับเห็นแล้วตกหลุมรักจนอยากติดตามในทันที ซึ่งแตกต่างจากหนัง Pixar เรื่องก่อนๆ ที่ตัวละครออกแบบมาได้เป็นเอกลัษณ์และน่ารัก บางทียังไม่รู้ว่าเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่ก็อยากดูแล้ว เพราะตัวละครมันน่ารัก ต่อให้หนังจบแล้ว ของเล่นหรือตุ๊กตาตัวละครนั้นๆ ก็ยังขายได้ต่อเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม แม้รูปลักษณ์ตัวละครจะไม่ดึงดูดเท่า แต่ “Inside Out” ก็มีจุดเด่นสำคัญมาทดแทนได้นั่นก็คือ “บท”

ความยอดเยี่ยมของตัวบท Inside Out คือนอกจากจะดูสนุกแล้ว ยังถ่ายทอดกระบวนการทำงานของสมองและออกมาให้เห็นเป็นภาพ ให้เข้าใจได้โดยง่าย จนทำให้หวนคิดถึงสมัยเข้าคลาสเรียนจิตวิทยาเบื้องต้น ต่างกันแค่ว่าคราวนี้ไม่ได้เรียนด้วยหนังสือ แต่เรียนด้วยหนัง
 

อารมณ์

“Inside Out” ได้จำลองสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวเรา ว่าถ้าอารมณ์แต่ละด้านของเรามีตัวตน มันจะทำอะไร จะพูดอะไร ซึ่งในที่นี้ Inside Out ได้แบ่งอารมณ์ของมนุษย์แต่ละคนออกเป็น 5 ประเภท 5 ตัวละคร คือ “ลั้ลลา” (Joy) “ฉุนเฉียว” (Anger) “หยะแหยง” (Disgust) “กลั๊วกลัว” (Fear) และ “เศร้าซึม” (Sadness) ทั้ง 5 ตัวละครเป็นตัวคอยควบคุมอารมณ์ของบุคคลที่แสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ อย่างไรก็ตาม บทบาทของอารมณ์แต่ละแบบนั้นมีไม่เท่ากัน ซึ่งในกรณีของ “Riley” เด็กสาววัย 11 ปี ที่เป็นตัวละครหลักของเรื่อง “Joy” เป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการเจริญเติบโตของเด็กคนนี้เยอะสุด เห็นได้จากความทรงจำหลักของ Riley ที่เป็นความทรงจำด้านความสุขเป็นส่วนใหญ่ ลั้นลาภูมิใจในบทบาทของเธอ จนพยายามเข้าไปจำกัดอารมณ์ “เศร้าซึม” โดยไม่รู้ตัว เพราะกลัวว่าจะทำให้ Riley หมดความสุขไป ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุให้ทั้ง “Joy” และ “Sadness” หลุดออกจากศูนย์ควบคุมอารมณ์ ทั้ง 2 ต้องหาวิธีกลับไปยังฐานไม่ได้ ไม่อย่างนั้นบุคลิกภาพของ Riley ที่เพียรสร้างมาอาจพังทลายลงทั้งหมด

นั่นคือเรื่องราวคร่าวๆ ของ “Inside Out” คราวนี้ลองมามองในแง่จิตวิทยากันบ้าง อารมณ์ทั้ง 5 ในเรื่องนั้น แม้จะยังไม่ครบประเภทอารมณ์ทั้งหมดตามหลักจิตวิทยา เพราะนักจิตวิทยาบางคนแบ่งไว้เกือบ 10 ประเภท แต่ทั้ง 5 ก็เป็นอารมณ์พื้นฐานที่มีอ้างอิงตรงกันในทุกทฤษฎี น่าสนใจตรงที่ว่าการใช้สีตัวอารมณ์แต่ละตัวนั้น Pixar ก็ยังเลือกใช้สีที่สื่อถึงอารมณ์ต่างๆ เช่น สีแดงให้ความรู้สึกร้อนแรงจึงใช้แท้ Anger ขณะที่สีเขียวให้ความรู้สึกถึงขยะจึงเอามาใช้แทนตัว Disgust ส่วน Sadness ที่เลือกใช้สีน้ำเงินก็คงสอดคล้องกับคำว่า Blue ที่ใช้มักใช้แทนช่วงเวลาเศร้าๆ นั่นแสดงว่า Pixar เองมีการวางแผนคาแรกเตอร์และลักษณะตัวละครต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี

อย่างหนึงที่ Inside Out บอกกับเราก็คือ มนุษย์มีตัวอารมณ์ทั้ง 5 อยู่ในตัวด้วยกันทุกคน แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะแสดงอารมณ์ไหนออกมามากกว่า ซึ่งความโน้มเอียงทางด้านอารมณ์นี้ทำให้แต่ละคนมีบุคลิกภาพ/ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป ความคิดเดียวกันแต่กำหนดโดยอารมณ์ที่แตกต่างกัน ก็ย่อมจะส่งผลต่อการแสดงออกที่แตกต่างกันด้วย ในบรรดาอารมณ์ทั้ง 5 นี้ ถ้าให้เลือกได้หลายคนก็คงอยากเลือกความสุขเป็นหลัก แต่ Inside Out ไปไกลกว่านั้นตรงที่แทนจะจบแค่ว่า “จงมามีความสุขกันเถอะ” แต่ให้ข้อคิดว่า ทุกอารมณ์ล้วนสำคัญด้วยกันทั้งนั้นแม้แต่ “ความเศร้า” ก็ตาม ในบางครั้งการพยายามกดความเศร้าเอาไว้ และแสดงออกว่าตัวเองมีแต่ความสุข อาจให้ผลร้ายกลายเป็นความเก็บกด จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวได้
 

พัฒนาการ

ในแง่จิตวิทยาพัฒนการ “Inside Out” กำลังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางอารมณ์จากเด็กไปสู่การเริ่มเป็นวัยรุ่น ซึ่งพัฒนาการที่ว่าเห็นได้จากเดิม Riley ตั้งแต่เกิดมานั้น แม้จะมีอารมณ์ในตัว 5 แบบ แต่ก็จะเลือกใช้ เลือกรู้สึกทีละแบบเท่านั้น แต่พอเมื่อ Riley กับพ่อแม่ย้ายบ้านมาอยู่อีกเมืองหนึ่ง การปรับตัวเข้ากับที่ใหม่ไม่ได้ มันจึงเป็นทั้งจุดหักเหและจุดเปลี่ยนทางพัฒนาการของ Riley ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการเกิดภาวะอารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งอาจมีการรวมกันของอารมณ์ 2 แบบขึ้นไปในขณะเดียวกัน ใน Inside Out นำเสนอผ่านการที่ตอนท้าย Joy และ Sadness ดีกันและร่วมกันสร้างความทรงจำที่มี 2 อารมณ์ รวมไปถึงการอัพเกรดแผงคอนโซลควบคุมอารมณ์ใหม่ ก็เป็นการจำลองถึงพัฒนาการของตัว Riley ที่รู้จักอารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้น ตัวอารมณ์จึงต้องอัพเกรดวิธีการแสดงอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างอารมณ์ที่ซับซ้อนถ้าเป็นในชีวิตจริงก็เช่นประมาณ ดีใจทั้งน้ำตา ทั้งรักทั้งเกลียด อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ ตอนยังเด็กอาจไม่เข้าใจดีนัก แต่พอโตขึ้น เรียนรู้สึกสิ่งต่างๆ มากขึ้น จะนำไปสู่การพัฒนาอารมณ์เหล่านี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ต้องแลกกับการสูญเสียการแสดงออกอารมณ์ตรงๆ ง่ายๆ แบบตอนเป็นเด็กไป

เช่นเดียวกัน เพื่อนในจิตนนาการ ซึ่งในหนังนำเสนอผ่านตัว “Bing Bong” ที่มีส่วนผสมของสัตว์หลายชนิด ตลอดจนจินตนาการในวัยเด็กต่างๆ อาทิ เมืองเมฆ ผู้ชายในอุดมคติ ปราสาทไพ่ เหล่านี้คือส่วนหนึ่งในวัยเด็กของ Riley แต่เมื่อ Riley โตขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆ หมดความสำคัญลงไป โชคดีหน่อยคือไปอยู่ในกลุ่มความทรงจำระยะยาว หรือโชคร้ายหน่อยก็ถูกลืมไปตลอดกาล นั่นคือสิ่งที่ต้องแลกกับการเติบโต 
 

 

ความทรงจำ

ใน “Inside Out” มีประเด็นเกี่ยวกับความทรงจำอยู่ 2 ประเด็นที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ ความสัมพันธ์ของอารมณ์กับความทรงจำ สังเกตว่า ทุกความทรงจำของ Riley ซึ่งในหนังใช้ลูกแก้วเป็นสัญลักษณ์ จะมีสีของอารมณ์กำกับอยู่ด้วย ทำให้ลูกแก้วแต่ละสีแตกต่างกันไป ซึ่งความทรงจำส่วนใหญ่ของ Riley จะเป็นสีเหลืองหมายถึง ความสุข ที่น่าสนใจประเด็นนี้ก็เพราะเท่ากับเป็นการบอกเราว่า เมื่อเราย้อนนึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ นั้น เราไม่ได้จำได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถจำความรู้สึกและอารมณ์ในขณะนั้นได้ด้วย และในทางกลับกันเป็นอารมณ์เองที่ทำให้เราสามารถจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อารมณ์กับความทรงจำจึงเป็นของคู่กัน

และในประเด็นที่ 2 คือเรื่องความทรงจำระยะสั้น ระยะยาว ซึ่งในหนังทำให้เข้าใจได้ง่ายในรูปแบบตู้เก็บลูกแก้วความทรงจำ โดย “ความทรงจำระยะสั้น” ก็คือสิ่งที่จำได้หลังจากรับรู้เหตุการณ์มาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ แต่ถ้าไม่มีการทบทวนหรือสนใจ ความจำนี้ก็จะเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว เช่น เราแทบจำหน้าคนที่เราเดินผ่านไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งคือ “ความทรงจำระยะยาว” คือความทรงจำที่เก็บไว้ได้นาน อาจไม่ได้จำได้ในทันที แต่ใช้เวลาระลึกสักพักก็สามารถจดจำได้ ความจำระยะยาวบางอย่างอาจสำคัญมากจนกลายเป็น “ความจำหลัก” ที่จำได้แม่นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ซึ่งใน “Inside Out” ความทรงจำหลักก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องราวขึ้นมา เพราะ Joy พยายามกีดกันไม่ให้ Sadness ยุ่งกับความทรงจำหลัก เพราะกลัวว่าอารมณ์ของความทรงจำหลักจะเปลี่ยน ทั้งนี้ ความทรงจำระยะยาวบางส่วน หากไม่มีการระลึกถึงเลย ก็จะถูก “ลืม” ในที่สุด โดยใน “Inside Out” ก็จะสังเกตว่ามีหน่วยตรวจความจำตัวเล็กๆ มาคอยตรวจชั้นลูกแก้วความทรงจำอยู่ตลอด เพื่อดูว่าอันไหนน่าจะจำ หรือโยนทิ้งลงไปในบ่อ ซึ่งก็จะสลายไปหรือไม่กลายเป็นลูกแก้วสีดำ ซึ่งเท่ากับว่า ลืมทั้งเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งนั้นไปหมดสิ้น

“Inside Out” ยังมีประเด็นเกี่ยวกับจิตวิทยาที่น่าสนใจอีกเยอะ อย่างเรื่องความฝันก็เช่นเดียวกัน ที่ในหนังนำเสนออย่างน่ารักว่ามีหน่วยสร้างความฝันขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ชวนคิดไปว่า ความฝันเป็นเพียงการจำลองความทรงจำในแต่ละวันโดยเอามาปรุงแต่งเพิ่มเติม  แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ส่วนสร้างฝันใน Inside Out นั้นตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ “จิตใต้สำนึก” อันเป็นพื้นที่เราควบคุมไม่ได้โดยตรง มักเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยสัญชาตญาณ อาทิ ความกลัวต่อบางอย่าง ที่บางทีก็ไม่เข้าใจว่าต้องกลัว แต่ทีไรก็กลัวทุกที ในจิตวิทยาบางทฤษฎีนั้น บอกว่า จิตใต้สำนึกยังเป็นบ่อเกิดของความฝันด้วย ทั้ง 2 อย่างจึงมีความเกี่ยวข้องกันไม่น้อย
 

******************************************************************

เห็นได้ว่า “Inside Out” ถ้าดูเป็นหนังเรื่องหนึ่งก็บันเทิงดี แต่จะสนุกยิ่งขึ้นสำหรับคนที่พอจะมีพื้นฐานทางด้านจิตวิทยามาบ้าง เพราะจะทำให้เข้าใจว่า ฉากแต่ละฉาก เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ในเรื่องนั้นจำลองมาจากกระบวนการทางจิตแบบใด หนังเรื่องนี้ยังน่าจะจุดความสนใจในตัวจิตวิทยาให้ใครหลายคนได้ และถ้าเป็นไปได้คลาสเรียนจิตวิทยาเบื้องต้นก็น่าจะเอาหนังเรื่องนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอนนะ
 

ความชอบส่วนตัว: 8/10

 
 

Lava

 
Short Animation ปะหน้า Inside Out เรื่องราวของภูเขาไฟที่อยากมีคู่ งานภาพและเนื้อหาไม่มีอะไรใหม่ ดำเนินเรื่องด้วยเพลงล้วนๆ แต่เพราะเพลงมันดันเพราะมาก และสามารถติดหูได้อย่างรวดเร็ว ก็เลยพาให้หนังสั้นเรื่องนี้ดูน่ารักและน่าจดจำมากขึ้นไปเยอะเลย

 

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)