[Criticism] Money Monster – อาการหนักไม่แพ้จรรยาบรรณสื่อ ก็คือจริยธรรมพลเมือง (Spoil)

แม้จะดำเนินเรื่องในยุคปัจจุบัน แต่ “Money Monster” กลับให้ความรู้สึกของการย้อนวันวานพอควร อาจเพราะหนังได้นักแสดงนำเป็น “George Clooney” และ “Julia Roberts” ตัวพ่อตัวแม่ที่โด่งดังสุดๆ ในยุค 90’s ขณะที่ผู้กำกับภาพยนตร์ก็เป็น “Jodie Foster” ดาราชั้นนำจากยุคนั้นเหมือนกัน การแท็กทีมกันของทั้ง 3 คน จึงไม่ต่างจากการพบปะรวมรุ่น ยิ่งตัวหนังเอง ออกมาในทาง Thriller เน้นอารมณ์ความกดดันจากเหตุการณ์ การแก้ไขปัญหาที่แข่งกับเวลาและชีวิตคน ยิ่งให้ความรู้สึกของการย้อนวันวานเข้าไปอีก เพราะเป็นแนวหนังที่ได้รับความนิยมมากในสมัยก่อน และปัจจุบันมีหนังที่ทำสไตล์นี้ (และทำได้ดี) น้อยลง

“Money Monster” เป็นชื่อรายการโทรทัศน์แนววิเคราะห์หุ้น ที่มี “Lee Gates” (George Clooney) เป็นผู้ดำเนินรายการ ภายใต้การควบคุมรายการโดย “Patty Fenn” (Julia Roberts) ด้วยสไตล์การดำเนินรายการที่เน้นความสนุกสนาน ย่อยเนื้อหาหุ้นหนักๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ใส่ซาวด์และภาพประกอบให้ตื่นตาตื่นใจ และฟันธงหุ้นเด่นหุ้นดังให้รู้ดำรู้แดงไปเลย ทำให้ Money Monster ได้รับความนิยมอย่างมากมาย เพราะมันพลิกแนวรายการหุ้นที่ดูเข้าใจยาก ให้กลายเป็นเรื่องเอื้อมถึงได้ง่ายและไม่น่าเบื่อ (พร้อมกับดึงแมงเม่าเข้ามาในวงการนี้มากด้วยเช่นกัน) พูดให้เห็นภาพมากขึ้น Money Monster ก็ไม่ต่างจาก เรื่องเล่าเช้านี้ ของสรยุทธ ที่พลิกแนวรายการข่าวเป็นเล่าข่าว สร้างกระแสความนิยมอย่างท่วมท้ม (พร้อมๆ กับกระแสคนชังไปพร้อมๆ กัน)

จนกระทั่งวันหนึ่ง Lee Gate และ Money Monster ก็เจอบททดสอบสำคัญ เมื่อ “Kyle Budwell” (Jack O’Connell) บุกเข้ามาจับ Lee Gate เป็นตัวประกัน กลางรายการขณะออกอากาศ แถมยังพกระเบิดมาด้วย เหตุก็เพราะเงินของเขาเพิ่งหายไปหมดจากการซื้อหุ้น IBIS ตามที่ Lee แนะนำในรายการ และเขาก็ต้องการรู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เงินของเขาหายไป เพราะมันมีเพียงข่าวว่าระบบการซื้อขายหุ้นของ IBIS ล่ม แต่ไม่มีใครสนใจจะหาความจริงเลยว่า ล่มเพราะอะไร ทั้งที่การล่มครั้งนี้ทำเงินของนักลงทุนหายไป 800 กว่าล้านเหรียญฯ ซึ่งรวมไปถึงเงินของเขาด้วย และหากเขายังไม่ได้คำตอบ เขาก็พร้อมจะกดระเบิดท่ามกลางผู้ชมที่ดูการถ่ายทอดสดครั้งนี้ทั่วโลก

โดยตัวเนื้อหา หนังมีศักยภาพที่จะทำให้สนุกได้ไม่ยาก เพราะมันเปิดทางให้ตัวหนังมีทั้งอารมณ์กดดัน ลุ้นระทึก ชิงไหวชิงพริบ พร้อมๆ กับการค้นหาความจริงของเรื่องได้ ซึ่ง Money Monster ก็ทำได้สนุกตามมาตรฐานที่หนังแนวนี้ควรจะเป็น ไม่เหนือคาด แต่ก็ไม่ผิดหวัง อดคิดไม่ได้ว่าถ้าหนังทำขึ้นมาฉายเมื่อสัก 20 ปีก่อน มันคงจะกลายเป็นหนังทำเงินได้ไม่ยาก แต่นอกเหนือจากความสนุกของมันแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ สาระที่แทรกมากับเรื่อง ซึ่งชวนเราหันกลับไปตั้งคำถามเกี่ยวกับจรรยาบรรณและจริยธรรมทั้งของ สื่อมวลชน ธุรกิจ และพลเมือง

จรรยาบรรณสื่อมวลชน… ในช่วงที่ Money Monster เข้าฉายวันแรกๆ นั้น ก็ประจวบเหมาะพอดีกับที่ในไทย เกิดเหตุการณ์ถ่ายทอดสดคนกำลังจะฆ่าตัวตาย บางช่องถึงกับล้มผังตัวเองหลายชั่วโมง เพื่อถ่ายทอดสดเหตุการณ์นี้ แล้วสุดท้ายก็ได้ภาพการฆ่าตัวตายสมใจ เกิดคำถามจรรยาบรรณสื่อขึ้นอีกครั้ง แต่สุดท้ายสื่อไทยเหล่านั้นก็ตีมึนและอ้างว่าที่ทำไม่ใช่เรื่องผิดจรรยาบรรณ แต่เป็นหน้าที่ที่สื่อต้องกระทำเพื่อนำเสนอ “ความจริง” ใน Money Monster ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือการถ่ายทอดสดการจับตัวประกัน ซึ่งมันเสี่ยงที่จะเกิดการฆ่าตัวประกันออกอากาศขึ้นจริง และอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามมา แต่ Money Monster ก็ยังตัดสินใจออกอากาศต่อไป แม้จะอ้างได้ว่าเพราะสถานการณ์บังคับ แต่ก็มีหลายช่วงที่แสดงให้เห็นว่า Patty แอบให้ความสำคัญกับเรตติ้งในการถ่ายทอดครั้งนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดไมค์ให้กับ Kyle หรือเลือกมุมกล้อง

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดสดการจับประกันไม่ใช่ประเด็นจรรยาบรรณหลักที่หนังเรื่องนี้ถามกับสื่อ ประเด็นที่สำคัญกว่า คือ อะไรคือหน้าที่สื่อที่แท้จริง เราอาจเรียกได้ไม่เต็มปากว่า “Money Monster” เป็นรายการข่าว แต่มันก็มีแง่มุมของการเป็นสื่อที่ทำหน้าที่เสนอข่าวอยู่ ประเด็นคือที่ผ่านมา Lee ไม่ได้สนใจจะทำหน้าที่สื่อจริงๆ จังๆ เลย เป้าหมายของเขาคือการสร้างเรตติ้งให้กับรายการ ดังนั้น เขาจึงให้ความสำคัญกับรูปแบบรายการ มากกว่าตัวสาระจริงๆ การโดนจับเป็นตัวประกันจึงเป็นโอกาสที่ Lee ได้ตระหนักถึงบทบาทของตัวเองจริงๆ และนั่นทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามและค้นหาความจริงจากกรณีระบบซื้อขายหุ้น IBIS ล่มว่ามันเป็นเพราะอะไรแบบเดิมกันแน่ จากเดิมที่เขาแค่สรุปตามที่บริษัทแจ้งมาว่า “เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค”

จรรยาบรรณธุรกิจ… การดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นหวังผลกำไร โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของคนอื่น เป็นคำถามเชิงจริยธรรมที่มีต่อวงการธุรกิจมานานแล้ว และ Money Monster ก็ไม่พลาดที่จะแซะวงการนี้เช่นกัน โดยนำเสนอผ่านตัวของ IBIS บริษัทใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ Klye ก่อเหตุจับ Lee เป็นตัวประกัน แต่ในช่วงต้นเราจะเห็นว่า ตัวแทนของ IBIS พยายามที่จะผลักภาระไปให้ผู้อื่น ปฏิเสธว่า การที่ระบบของตัวเองล่ม ทำให้นักลงทุนรายย่อยบางคนล้มละลาย แต่นิยามมันว่าเป็นเพียงความ “โชคร้าย” ซึ่งไม่นานทางบริษัทก็จะแก้ไขได้ ประเด็นปัญหาทางจรรยาบรรณธุรกิจของ IBIS เปิดเผยให้เห็นมากขึ้น เมื่อสุดท้ายเรื่องเฉลยว่า ระบบไม่ได้ล่มเพราะคอมพิวเตอร์ แต่เป็นความตั้งใจของตัว CEO ที่จะทำให้ระบบล่ม เพื่อถือโอกาสนำเงินไปหมุนลงทุนในด้านอื่นชั่วคราว กระนั้น การเปิดเผยนี้ก็เหมือนไม่สะทกสะท้านเขามากแต่อย่างไร เมื่อ CEO คนนี้ทิ้งไพ่ใบสำคัญด้วยการถามกลับว่า เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุว่าผิด “แล้วการกระทำของเขามันจะผิดตรงไหน”

จริยธรรมพลเมือง… ในขณะที่จรรยาบรรณของสื่อและธุรกิจ อาจไม่ใช่คำถามที่ใหม่นัก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันในหนังเรื่องนี้ก็คือ จริยธรรมของพลเมือง ที่ผ่านมา เรามักมองตัวเองในฐานะผู้ถูกกระทำจากการละเมิดจรรยาบรรณของสื่อหรือธุรกิจ แต่มีหลายต่อหลายครั้ง ที่เราอาจไม่รู้ตัวว่า เป็นตัวเรานั่นแหละที่ไปส่งเสริมให้สื่อหรือธุรกิจกล้าที่จะทำสิ่งหมิ่นเหม่ต่อจรรยาบรรณเช่นนี้ แม้ใน หนังจะไม่ได้เอ่ยเรื่องนี้โดยตรง แต่ก็มีหลายฉากที่ชวนเราหันกลับมาทบทวนในประเด็นนี้

เนื้อเรื่องในอุดมคติคือ เมื่อ Lee ถูกจับเป็นตัวประกัน ออกอากาศสดทางทีวี เราคาดหวังว่าคนดูจะเกิดความเห็นใจ เอาใจช่วย ภาวนาให้เขารอด ซึ่งเป็นแบบฉบับที่เราเห็นกันในหนังหลายเรื่อง แต่คนดูในหนัง Money Monster กลับต่างออกไป แต่ละคนดูการถ่ายทอดสดจับตัวประกันด้วยความสนุกสนาน ตลกขับขัน เมื่อ Lee ขอร้องผ่านทีวี ให้ทุกคนช่วยกันซื้อหุ้น IBIS เพื่อช่วยให้เขารอดจากเหตุการณ์นี้ คนดูแต่ละคนกลับแกล้ง Lee ด้วยการขายหุ้นให้หุ้นตกแทน เมื่อ Klye และ Lee ออกจากอาคารเดินมาตามท้องถนน มวลชนได้มามุงและโห่ร้องส่งเสียงเชียร์พวกเขาอย่างสนุกสนาน โดยไม่สนเรื่องความปลอดภัย และที่เจ็บปวดที่สุด คือเมื่อเหตุการณ์นี้จบลง คนดูก็เศร้าอยู่นิดนึง แล้วก็แยกย้ายไปตามปกติ เหมือนเรื่องเมื่อกี้ไม่เคยเกิดขึ้น การพูดถึงเหตุการณ์นี้หลังจากนั้น มีเพียงเรื่องของ CEO IBIS ที่กลัวระเบิดจนหกล้ม และก็เป็นเพียงการพูดถึงในเชิงขบขัน ล้อเลียน แทบไม่มีใครสนใจเรื่องจรรยาบรรณสื่อหรือธุรกิจอะไรกันแล้ว

เราจะไปคาดหวังให้ส่วนอื่นของสังคมมีจรรยาบรรณได้อย่างไร เมื่อตัวเราเองยังทำตัวไม่มีจริยธรรมแบบนี้

ว่าไปก็ย้อนนึกถึงเหตุการณ์ฆ่าตัวตายออกอากาศในไทยไม่กี่อาทิตย์ก่อน ที่พอหลังจบเหตุการณ์ก็มีแต่คนออกมาด่าสื่อ แต่ก่อนหน้านั้นแต่ละคนกับลุ้นติดตามเหตุการณ์กันอย่างเชียร์มวย Comment เชียร์ให้ฆ่าตัวตายอีก เพจดังบางเพจก็ออกอาการตื่นเต้น แล้วชักชวนกันไปดู Live ถ่ายทอดสดอีก ถ้ายังเป็นแบบนี้ ด่าสื่อไปก็เท่านั้น เพราะมันจะเป็นการด่าเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนดี แต่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)