[Criticism] Mother! – พระเจ้าสร้างโลกเพื่ออะไร (Spoil)

หมายเหตุ: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ (Spoil)

หากเปรียบ “Mother!” เป็นการสอบแล้ว ก็คงเป็นการสอบที่ยาก ยากจนอดสงสัยไม่ได้ว่า อ. ต้องการวัดความรู้ หรือแค่อยากโชว์ความเทพในการออกข้อสอบของตัวเองกันแน่ ซึ่งแน่นอนคนสอบส่วนใหญ่ก็จะก่นด่าว่า “เอ็งออกอะไรของเอ็ง” แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีบางกลุ่มที่บังเอิญเคยผ่านหูผ่านตาเนื้อหาในข้อสอบมาบ้าง หรือไม่ ก็เคยได้โพยบอกใบ้เล็กๆ น้อยๆ จากตอนเรียนพิเศษกับ อ. ก็ทำให้ข้อสอบนั้นไม่ได้ยากจนเป็นไปไม่ได้ที่ทำอีกต่อไป

อาจถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่ง ที่ตัวผมนั้นได้โพยนั้นมาก่อน แม้จะไม่ถึงขั้น Spoil เรื่องราว เป็นเพียงคำใบ้ถึงตัวหนังว่าน่าจะเกี่ยวกับ “ศาสนา” แต่แค่นี้ก็เพียงที่จะเป็นกุญแจไขขึ้นลิฟท์แทนที่จะต้องปีนบันไดดูได้แล้ว

จริงๆ ผู้ชมหลายคนอาจตีความเรื่องราวจาก Mother! ได้หลายแบบ แต่คิดว่าประเด็นเรื่องศาสนานั้นค่อนข้างเด่นชัดที่สุดแล้ว ซึ่งเมื่อเราแทนตัว “กวี” (Javier Bardem) ด้วยคำว่า “พระเจ้า” แล้ว ทุกอย่างก็ลงล็อค “Mother!” เอาเข้าจริงแล้วก็คือ “หนังเสียดสีการสร้างโลกของพระเจ้า” นั่นเอง

ตัวหนัง Mother! นั้นพูดถึงสามีภรรยา (Javier Bardem และ Jennifer Lawrence) ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่แสดงสงบสุข ก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป เมื่อสามีที่เป็นนักเขียน/กวี เปิดรับคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้าน จากคนเดียว กลายเป็น 2 และอีกหลายคนตามมา จนทำให้ตัวภรรยาที่รักบ้านนี้ยิ่งชีวิต เพราะเธอเป็นคนพลิกฟืนบ้านหลังนี้จากอดีตที่เคยเป็นกองเถ้าถ่านด้วยตัวเอง เครียด และใกล้บ้ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนภายนอกลุกล้ำพื้นที่บ้านของเธอเกินกว่าที่จะทนไหว โดยที่ตัวสามีก็ดูจะไม่สนใจอะไรเลย

ถ้าสามีคือตัวแทนของพระเจ้า บ้านหลังนี้ก็คงเป็นตัวแทนของ “โลก” ที่พระเจ้าสร้างขึ้น คำถามคือพระเจ้าสร้างโลกไปทำไม ซึ่ง Mother! เลือกจะเสียดสีมุมนี้ด้วยบอกว่า “พระเจ้าสร้างโลกก็แค่เพราะอยากได้รับการสรรเสริญ” ซึ่งพระเจ้าก็สนใจเพียงแค่นั้น ต่อให้มนุษย์จะสร้างเรื่องเลวร้ายให้โลกของพระเจ้าและคนของพระเจ้ามากเพียงใด แต่เมื่อมนุษย์ยังยกย่องสรรเสริญพระเจ้าอยู่ พระเจ้าก็พร้อมจะปล่อยให้มันเป็นไป

เมื่อเปรียบเทียบกับในหนัง การที่กวีเปิดรับคนแปลกหน้าเข้ามา ก็ไม่ต่างจากพระเจ้าเปิดรับมนุษย์ กวีที่เกิดอาการความคิดตีบตันเขียนไม่ออกมาเป็นเวลานาน แม้จะมีบ้านที่สวยงามและภรรยาที่แสนดี แต่สิ่งที่กวีต้องการจริงๆ คือการยอมรับจากคนอื่น และเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ภรรยาเขาเท่านั้นด้วย เขาจึงหมกมุ่นกับการอยากได้ยอมรับนั้น ซึ่งหนังสือที่กวีเขียนก็คือ “ไบเบิ้ล” ที่กวีใช้ดึงดูดผู้คนให้มานับถือเขานั่นเอง ทั้งนี้ เราอาจตีความได้เช่นกันว่า หนังสือเล่มใหม่ของกวีคือบทพันธสัญาใหม่ในไบเบิ้ล ที่เป็นจุดสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้ขยายออกไปกว้างไกล

ความวายป่วงในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อกวีเปิดรับผู้คนที่ชื่นชอบหนังสือเล่มใหม่ของเขาเข้ามาในบ้าน คือการจำลองประวัติศาสตร์ความวุ่นวายที่เกิดจากศาสนา การลักขโมย กดขี่ รบราฆ่าฟัน สงคราม ฯลฯ เกิดขึ้นมากมาย โดยอ้างอิงการกระทำในนามพระเจ้า ส่วนพระเจ้านะหรือ ดูเหมือนท่านจะยังสนใจแค่ว่า ผู้คนยังสรรเสริญท่านมั้ย หาได้ลงมาช่วยเหลือหรือยุติความเลวร้ายที่เกิดในบ้านของท่านอย่างแท้จริง

ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนหนังจะเสียดสีเข้าไปอีกว่า “พระเจ้าสร้างโลกด้วยตัวเองจริงหรือ” และมันก็โยงไปยังประเด็นที่ว่า “พระเจ้า = ผู้ชาย” ซึ่งมันทำให้เรากลับมาคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในศาสนาอีก (ไม่ใช่แค่คริสต์ แต่หลากศาสนาก็มีลักษณะเช่นนี้) เรามองว่า พระเจ้าคือ “Father” แล้ว “Mother” ละ

ตัวละคร Mother ของ Jennifer Lawrence จึงอาจเป็นการประชดประชันว่า ในขณะที่พระเจ้าได้รับเครดิตในการสร้างโลก คนที่สร้างโลกจริง พลิกฟื้นบ้านขึ้นมาจากกองเถ้าถ่าน กลับถูกละเลย แถมยังโดนมองด้วยสายตาเหยียดหยามจากคนอื่นในฐานะตัวประหลาดที่พยายามขัดขวางเส้นทางของพระเจ้าไปซะงั้น

และที่น่าเจ็บใจไปกว่านั้นคือ Mother แทบทำอะไรไม่ได้เลย เธอสูญเสียทั้งบ้านที่เธอสร้างขึ้น และลูกของเธอ ให้กับการสังเวยเพื่อแลกกับการที่พระเจ้าได้รับการบูชา และเมื่อสุดท้ายเธอพยายามจบทุกอย่าง (ที่อาจตีความได้ว่าบ้านที่ถูกไฟไหม้ช่วงท้ายเรื่องก็คือการจำลองวันสิ้นโลก) ก็ต้องพบว่า เธอกลับไม่สามารถหนีไปจากอำนาจของพระเจ้าได้ เมื่อพระเจ้าเลือกจะใช้ความรักที่เธอมอบให้นำมาเรื่องราวกลับสู่จุดเริ่มต้น สร้างโลกขึ้นใหม่อีกครั้ง แล้วทุกอย่างก็เข้าสู่วังวนเดิมๆ

ถึงตรงนี้ หากมองด้านศาสนา Mother! ก็เป็นการสะท้อนความเอาแต่ได้ของพระเจ้า และความไร้สาระของศาสนา เพราะดูเหมือนพระเจ้าไม่ได้ต้องการจะช่วยพวกเราจริง ซึ่งเราก็เป็นได้อย่างมากก็เพียงแค่ของเล่นของพระเจ้าเท่านั้น หรือจะมองในมุมสตรีนิยม Mother! ก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่ดูเหมือนการได้รับการยอมรับของเพศหญิงจะเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อสุดท้ายทุกอย่างก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของเพศชายอยู่ดี

ปัญหาของ “Mother!” คือหนังพยายามทำให้ตัวเองยาก โดยการเลือกจะใช้สัญลักษณ์ในเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง อาจเพราะเป็นประเด็นศาสนา จึงไม่อยากจะกล่าวถึงโดยตรง แต่การทำให้ตัวเองยากโดยแทบไม่ให้คำใบ้ไว้ระหว่างทางเลย ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หนังผลักคนดูออกไปเช่นกัน หากนี่เป็นการสอบ Mother! ก็เป็นการออกข้อสอบที่ยากมาก ซึ่งต่อให้เป็นข้อสอบที่ดีแค่ไหน แต่ก็พูดยากว่านั่นเป็นการสอบที่เหมาะสม เพราะมันผลักไสคนออกไป มากกว่าจะเรียกคนเข้ามาทำความเข้าใจกับสิ่งที่ต้องการสื่อสาร

โดยส่วนตัวแล้ว ค่อนข้างชอบหนังทั้งเรื่องประเด็นที่ต้องการสื่อและการสร้างบรรยากาศที่ทำให้เราใกล้บ้าไปพร้อมๆ กับตัวละคร แต่กระนั้นก็ยอมรับว่าความชอบนี้ เกิดจากการที่พอรู้คร่าวๆ ว่าเราจะไปเจออะไรในหนัง ลองคิดว่าตัวเองเข้าไปแบบไม่รู้อะไร และเจอกับการโยนสัญลักษณ์ และความ WTF ทั้งหลายแหล่ในหนังใส่เรา เราก็อาจเปลี่ยนเป็นเผาพริกเผาเกลือสาบแช่งหนังเรื่องนี้ก็เป็นได้

ถ้าชอบดูอะไรต่อดี: ดาวคะนอง (2016), The Fountain (2006)

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)