[Criticism] PK – พระเจ้าที่สร้างเรา กับ พระเจ้าที่เราสร้าง (Spoil)

อินเดีย

ในแง่ศาสนา “อินเดีย” ถือเป็นดินแดนศาสนาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลกควบคู่มากับ “เยรูซาเล็ม” เพราะศาสนาทางฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่ล้วนกำเนิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธ ซิกส์ เชน ฯลฯ และต่อมายังมีศาสนาจากดินแดนภายนอกเข้ามาเผยแพร่ในพื้นที่อีก อาทิ คริสต์ อิสลาม ยิว โซโรอัสเตอร์ และถ้านับรวมพวกนิกายต่างๆ ศาสนาพื้นบ้านด้วย อาจมีศาสนารวมกันเป็นหลักหลายร้อยศาสนา ความน่าสนใจ แม้ปัจจุบันประชากรกว่าร้อยละ 80 จะนับถือศาสนาฮินดู แต่อินเดียก็พยายามอย่างยิ่งที่จะคงความเป็นพหุวัฒนธรรมเอาไว้ เห็นได้จากการที่อินเดียเลือกจะไม่กำหนดศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ส่วนหนึ่งเพราะอินเดียเองก็ตระหนักว่าความขัดแย้งทางศาสนาสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อินเดียเคยเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการฆาตกรรมมหาตมะ คานธี โดยชาวฮินดู เนื่องจากมองว่าคานธีกำลังเข้าข้างชาวมุสลิม หรือกรณีความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน ก็มีที่ส่วนหนึ่งจากความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน

แม้ว่าโดยลึกๆ แล้วความขัดแย้งทางศาสนาจะยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะชาวฮินดูกับมุสลิม แต่ด้วยนโยบายของชาติที่แยกศาสนาออกจากการเมือง จึงเป็นการกดความขัดแย้งนี้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งในสภาพสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลต่อคติความเชื่อบางอย่างของฮินดู โดยเฉพาะเรื่องวรรณะ อาจเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้คนอินเดียบางส่วนเกิดการ “ตั้งคำถาม” กับระบบความเชื่อทางศาสนาในสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งก็สะท้อนมาเป็นหนังเรื่อง “PK” หนังที่ว่าด้วยการตั้งคำถามไม่เฉพาะแค่ต่อศาสนาฮินดูเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกศาสนาและทุกความเชื่อบนโลกใบนี้ด้วย ลองคิดดุว่าหากเป็นประเทศไทย หนังแบบ “PK” จะสร้างได้หรือไม่ คิดดูแล้วน่าจะยาก เพราะขนาดหนังที่มีฉากพระเล่นกีต้าร์ยังโดนแบนได้เลย ทั้งที่ประเทศเรามักภูมิใจกันว่า “เมืองไทยเมืองพุทธ” และศาสนาพุทธก็เป็นศาสนาหนึ่งที่สอนให้ตั้งคำถามก่อนที่จะเชื่อแท้ๆ
 

คนนอก

“PK” เริ่มต้นอย่างหนัง Sci-fi เมื่อมีมนุษย์ต่างดาว (อาเมียร์ ข่าน) คนหนึ่งเดินทางมายังโลกเพื่อทำการศึกษาวิจัย แต่แล้วก็เกิดเรื่องขึ้น เมื่อสร้อยคอที่เป็นเครื่องบอกตำแหน่งของเขาให้ยานอวกาศได้รับรู้ถูกขโมยไป ทำให้เขาเดินทางกลับไม่ได้ เลยต้องเดินทางออกตามหาสร้อย แต่คำตอบที่เขาได้รับคือ “ให้ไปถามหาเอากับพระเจ้าแล้วกัน” นั่นทำให้เขาเริ่มออกตามหาพระเจ้า และนำพาหนังไปสู่การตั้งคำถามต่อศาสนา โดยระหว่างนั้นเขาได้รับชื่อว่า “PK” ซึ่งเป็นคำที่พ้องกับการออกเสียงในภาษาฮินดีของคำว่า “ขี้เมา” และได้รับการช่วยเหลือ “จัคคู” (อนุชกา ฌาร์มา) นักข่าวสาวที่ต้องการหาประเด็นข่าวใหม่ๆ นำเสนอ แทนที่จะต้องเสนอข่าวหมาเป็นโรคซึมเศร้า

ที่จริง “PK” เป็นหนังตลก และก็เป็นหนังที่ตลกมากด้วย เป็นความตลกที่เกิดจากเนื้อเรื่องไม่ใช่เพียงแค่การทำท่าทำทางเพื่อต้องการให้ดูตลกเท่านั้น แต่ในความตลกเหล่านั้น PK ยังเป็นหนังที่เสียดสี ประชดประชันวงการศาสนาได้อย่างแสบสันต์ ไปจนถึงวงการตำรวจ การสื่อสารมวลชน หรือการระหว่างประเทศก็ถูกหยิบยกมากัดจิกในเรื่องตลอด เรียกว่า บทหนังของเรื่องนี้ร้ายกาจมาก เพราะสามารถสอดแทรกการประชดประชันสังคมไปได้ในแทบทุกจุด โดยที่เราไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียดความคิด เพราะหนังใช้ความตลกนำ ขนาดแค่ชื่อ “PK” หรือการวางบทให้ตัวเอกเป็นมนุษย์ต่างดาวที่เดินทางมาจากโลก ก็ยังสอดแทรกการวิพากษ์สังคมอยู่ไม่น้อย

ชื่อ “PK” ที่แปลว่า “ขี้เมา” ซึ่งเป็นชื่อที่ใครๆ ก็ใช้เรียกตัวเอกของเรื่อง อันเนื่องมาจากพฤติกรรมและการตั้งคำถามประหลาดๆ ถึงพระเจ้า ก็เป็นการล้อว่า พื้นที่ที่เรากล้าที่จะตั้งคำถามหรือพูดคุยเรื่องศาสนาได้อย่างเต็มปาก ไม่ใช่แค่คิดอยู่ในใจ อาจมีแค่พื้นที่ “วงเหล้า” เท่านั้น เพราะในภาวะปกติ ด้วยค่านิยมในสังคมทำให้เราไม่กล้าถามออกไปตรงๆ แต่กับ PK ซึ่งเดินทางมาจากดาวที่สื่อสารความรู้สึกกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อม เขาจึงกล้าที่จะถามออกไป การที่เขามาจากดาวดวงอื่นยังทำให้ PK มีสถานะเป็น “คนนอก” ไม่ใช่แค่นอกกลุ่ม แต่นอกโลกไปเลย ข้อดีของการเป็นคนนอกคือ ทำให้สามารถมองเห็นมุมมองบางอย่าง ที่บางทีคนในมองไม่เห็นหรือแกล้งทำเป็นมองเห็นได้ ที่สุดไปกว่านั้นคือการที่หนังวางให้ PK เป็นนักบินอวกาศ ซึ่งเป็นอาชีพที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์ กลายเป็นความขัดแย้งที่น่าสนใจเมื่อสิ่งที่ PK เผชิญคือเรื่องราวของศาสนา ที่ถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด

สัญลักษณ์

เช่นเดียวกับหนังมนุษย์ต่างดาวมาดีอีกหลายเรื่อง หนังมีการเล่นประเด็นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างมนุษย์โลกกับผู้มาเยือน ซึ่งนำไปสู่การเล่นเรื่องการปรับตัว เพียงแต่การปรับตัวในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่การเรียนรู้ด้านอารมณ์มากนัก เพราะมนุษย์ต่างดาวในเรื่องนี้ก็มีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือเรื่อง “การแสดงออก” หรือเรียกให้เป็นศัพท์วิชาการหน่อยก็คือ “ระบบสัญสัญลักษณ์”

ระบบสัญลักษณ์ที่ว่าคือส่วนสำคัญที่มนุษย์ใช้สื่อสารกัน เพราะมนุษย์ไม่สามารถจับมือแล้วสื่อความรู้สึกกันได้โดยตรงแบบดาวของ PK จึงต้องคิดค้นระบบที่ช่วยให้สื่อสารกันรู้เรื่อง ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ แต่เนื่องจากเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น สัญลักษณ์ในแต่ละที่ แต่ละวัฒนธรรมจึงแตกต่างกันออกไป การจะเข้าใจความหมายได้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ร่วมหรือวัฒนธรรมร่วมกัน การเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากตีความหมายผิด นอกจากจะคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว อาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาทได้ เนื่องจากยึดถือความหมายกันคนละอย่าง

สิ่งที่ PK ต้องเจอในช่วงแรกคือ การเรียนรู้ระบบสัญลักษณ์ของโลกมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องของการแต่งกาย การใช้ชีวิต และภาษา ซึ่งภาษาก็ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งได้เช่นเดียวกัน เมื่อ PK ไม่รู้ภาษาเขาจึงค่อนข้างมีปัญหาในการสื่อสารมากในช่วงแรก และมันยุ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อต่อให้รู้ภาษาแล้ว แต่การใช้ภาษาของมนุษย์โลกนั้นช่างสลับซับซ้อน เพราะไม่ได้สื่อทุกอย่างมาผ่านภาษาโดยตรง คำบางคำ สังคมเข้าใจในความหมายหนึ่ง แต่คนพูดกลับใช้ในอีกความหมายหนึ่ง กลายเป็นสัญลักษณ์ส่วนตัวไป มันเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับ PK ที่มาจากดาวที่ทุกอย่างสื่อสารกันโดยตรง แต่เรื่องภาษาก็ยังไม่หนักหนาเท่าเรื่องของ “ศาสนา” ระบบสัญลักษณ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดและอันตรายที่สุดในขณะเดียวกัน 

ศาสนา

“ศาสนา” นั้นทั้งสำคัญ ทรงอิทธิพล อ่อนไหว และอันตรายในขณะเดียวกัน ก็เพราะศาสนานั้นเกี่ยวข้องกับฐานความเชื่อของคนที่ใช้มองโลก มองตัวเอง และมองเป้าหมายในชีวิต เป็นเหมือนหลักให้ยึดเกาะ สำหรับบางคนการรู้ว่าตัวเองทำผิดยังไม่ร้ายแรงเท่ากับการรู้ว่าตัวเอง “คิด” ผิด เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองรู้สึกเช่นนั้น ในบางครั้งจึงแสดงออกด้วยความรุนแรงเพื่อป้องกันความคิดของตัวเอง ศาสนาอาจเริ่มต้นด้วยการเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง ให้คนรู้สึกมีที่ยึดเหนี่ยวในชีวิต แต่เมื่อศาสนาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสถาบันและบางครั้งมีสถานะไม่ต่างไปจาก “บริษัท” (ใน PK ตอนหนึ่งเปรียบเทียบอย่างเจ็บแสบว่า พระเจ้าทรงเปิดบริษัทขึ้นหลายแห่ง แต่ละแห่งมีผู้จัดการของตัวเอง และแต่ละบริษัทก็มีวิธีการในการติดต่อกับพระเจ้าที่แตกต่างกัน) เมื่อนั้นศาสนาจึงแปรสภาพกลายเป็นสัญลักษณ์ของความแบ่งแยกไปด้วย คนถูกแบ่งแยกเพียงเพราะนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ทั้งที่จริงศาสนาไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่ตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการเลือกนับถือทีหลัง ซึ่งเอาเข้าจริงมีน้อยมากที่จะได้เลือกอย่างอิสระจริงๆ ส่วนใหญ่ครอบครัวสังคมเป็นผู้เลือกให้ทั้งนั้น

สิ่งที่หนังเรื่อง PK กำลังคุยกับเราคือ การชี้ให้เห็นว่า “ศาสนา” เป็นแค่สัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ใช่ “เนื้อแท้” จริงๆ แต่ตัวหนังเองก็รู้ตัวดีว่าถ้าอยู่ๆ ออกมาพูดวิจารณ์เรื่องนี้โดยตรง มีหวังโดนถล่ม และกลไกป้องกันความคิดตัวเองของกลุ่มคนที่ฝังใจกับศาสนาที่ตนนับถือ คงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก ดังนั้น “PK” จึงใช้กลวิธีของการตั้งคำถามภายใต้หน้าฉากของความตลก (ซึ่งก็ตลกจริงๆ) หนังเลือกตั้งคำถามจากสิ่งที่เราพอมีความสงสัยอยู่แล้ว จากเรื่องของตัวเราว่า การขอพรนั้นช่วยได้แค่ไหน ค่อยๆ เขยิบเข้าไปตั้งคำถามถึงองค์กรศาสนา ซึ่งในเรื่องจะเน้นไปที่นักบวชในศาสนาฮินดู ว่าคำสอน คำแนะนำ คำทำนายเหล่านั้นที่อ้างว่ามาพระเจ้านั้นเชื่อถือได้แค่ไหน สมเหตุสมผลแล้วหรือ ทำไมเมื่อเมียป่วย จึงต้องให้เดินทางไปขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในต่างแดนแทนที่จะอยู่กับเมีย การใช้คำว่า “โทรผิดเบอร์” เพื่อสื่อความว่านักบวชอาจได้รับสารผิดหรือไม่ก็ตีความสารผิดจากที่พระเจ้าส่งให้ กลายเป็นถ้อยคำที่ทำให้เราฉุกคิดได้มากกว่าการบอกไปตรงๆ ว่า ที่องค์กรศาสนาเหล่านั้นกำลังโกหก ภายใต้กลวิธีแบบนี้ ทำให้หนังทำให้เราคล้อยตามและเริ่มตั้งคำถามตามไปด้วยไม่รู้ตัว >

สำหรับคนที่มีการตั้งคำถามกับศาสนาอยู่แล้ว “PK” คือตัวแทนความกล้าในการถามออกมาดังๆ ให้คนอื่นได้ยินด้วย เพราะคนส่วนใหญ่แม้จะกล้าตั้งคำถาม แต่ก็ไม่กล้าพูดออกมาดังๆ ขณะที่สำหรับคนที่อาจไม่เคยตั้งคำถามกับศาสนาตัวเองมาก่อน “PK” คือไม้อ่อน ที่ทรงประสิทธิภาพกว่าไม้แข็ง ในการค่อยๆ เปลี่ยนความคิดคนเหล่านี้ ให้ตั้งคำถามกับศาสนาของตัวเองมากขึ้น
 

พระเจ้า

จากคำถามที่มีต่อตัวองค์กรศาสนา PK ตั้งคำถามไปจนสุดถึงเรื่องของพระเจ้า คำถามอย่าง “แล้วเราควรเลือกเชื่อพระเจ้าองค์ไหน” ก็คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับพระเจ้าโดยตรง หากเราเชื่อถือพระเจ้าของเราว่าเป็นผู้สร้างโลก แล้วเราอธิบายพระเจ้าของศาสนาอื่นว่าอย่างไร หากไม่กล้าอธิบายและบอกว่าเป็นความเชื่อที่แตกต่างกัน ใช่หรือไม่ว่านั่นคือการยอมรับในระดับหนึ่งว่า พระเจ้าไม่ได้มีองค์เดียว ซึ่งก็ขัดกันเองกับความคิดว่าพระเจ้าของเราควรเป็นพระเจ้าสูงสุดสิ อย่างไรก็ตาม PK ไม่ได้ไปถึงขั้น “ปฏิเสธพระเจ้า” สำหรับ PK พระเจ้าอาจมีอยู่จริง และเป็นผู้ที่สร้างเราขึ้นมาจริง แต่พระเจ้าที่สร้างเราก็น่าจะมีแค่หนึ่งเดียว ซึ่งเรายังต้องค้นหาและทำความเข้าใจต่อไป ศาสนาทำให้การค้นหาพระเจ้าที่สร้างเราถูกจำกัดอยู่แค่พระเจ้าที่พวกเขาสร้างเท่านั้น “PK” ไม่ได้ทำลายความเชื่อ แต่กำลังเปิดทางให้เรารู้จักหาหนทางเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ต้องผ่านทางองค์กรศาสนาอีกต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะ “กล้า” พอหรือเปล่า เพราะบางครั้งการที่เราฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่องค์กรศาสนา มันช่วยให้เราไม่ต้องเหนื่อยกับความคาดหวังมากนัก เพราะมีไรก็ให้พระ ให้นักบวชทำให้แทน ไม่ยุ่งยากดี

ย้อนกลับมาที่ศาสนาพุทธ ซึ่งถึงแม้ในเรื่องจะไม่ได้พูดถึงมากนัก อาจเพราะอินเดียตอนนี้คนนับถือศาสนาพุทธไม่มากนัก และแม้ว่าศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม คือไม่เชื่อในพระเจ้า แต่ไม่ใช่ว่าสารที่ PK กำลับคุยกับเราจะหมดความหมายไป เพราะพระเจ้าอาจไม่ได้หมายถึงตัวบุคคลที่มีรูปร่างชัดเจนเสมอไป แต่ยังตีความได้ถึงความเชื่อสูงสุดในศาสนานั้นด้วย ซึ่งสิ่งนั้นศาสนาพุทธมี ที่สำคัญถึงเราจะไม่ได้ยึดถือในพระเจ้า แต่เราไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของ “เทพ” หรือ “เทวดา” ในขณะที่ชาวพุทธบางคนภูมิใจกับความเป็นอเทวนิยมของตนเอง (และมักตามมาด้วยสารพันเหตุผลในการพยายามว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์) แต่ขณะเดียวกันองค์กรศาสนาพุทธในไทย ซึ่งหมายรวมถึง วัด พระ และหน่วยงานราชการต่างๆ กลับทำให้ศาสนาพุทธแทบจะกลายเป็นยิ่งกว่าพระเจ้าไปแล้ว แตะต้องไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ ตั้งคำถามไม่ได้ เวลาจะวิจารณ์ที ก็จะมีอีกฝ่ายตอบโต้ทันทีว่า “บาป” หรือแรงหน่อยก็ “มารศาสนา” นี่ขนาดแค่ในส่วนของพระสงฆ์ ถ้าในส่วนของพระพุทธ พระธรรมยิ่งกลายเป็นของสูงแตะต้องไม่ได้ไปเลย ทั้งที่เนื้อแท้ของศาสนาพุทธคือสอนให้ตั้งคำถามไม่ใช่เหรอ

ไม่ว่าศาสนาไหน ส่วนใหญ่เมื่อโดนรุกเร้ามากๆ สุดท้ายมักใช้ท่าไม้ตายคือการตอกกลับไปว่า “คุณจะให้มนุษย์อยู่โดยไร้ศาสนา ไร้ความหวังอย่างนั้นหรือ” แล้วก็ตามด้วยการยกเรื่องการไร้จุดมุ่งหมายในชีวิต การฆ่าตัวตายมาอ้าง ทั้งที่ถ้าคิดอีกแง่ “การไม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง” ไม่ได้หมายความว่าเขา “ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิต” เขาอาจจะมีรูปแบบความเชื่อในแบบของเขาเอง เพียงแต่ไม่ได้สะท้อนมาในแง่ของการเข้าวัด ทำบุญ แสดงความเคารพต่อพระเจ้าก็แค่นั้น

“PK” ทำให้คิดถึง “Pi” ตัวละครใน “Life of Pi” ที่นับถือถึง 3 ศาสนาในขณะเดียวกัน แต่สุดท้ายสิ่งที่ทำให้ “Pi” เอาตัวรอดในทะเลได้คือการหล่อหลอมพระเจ้าในแต่ละศาสนาจนกลายเป็นพระเจ้าในแบบของ “Pi” เราสามารถเข้าถึงพระเจ้าในแบบของตัวเองได้ ถ้ามีศรัทธาเพียงพอและก้าวพ้นจากขอบเขตศาสนาของตน อีกเรื่องหนึ่งที่นึกถึงคือนวนิยายศาสนาพุทธที่ชื่อว่า “สิทธารถะ” ซึ่งเป็นบุคคลที่เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า และยังเคยได้พบกับพระพุทธเจ้า เขาเห็นด้วยว่าพระพุทธเจ้าได้แสวงหาทางพ้นทุกข์ได้แล้ว แต่แทนที่สิทธารถะจะเลือกขอบวช กลับเลือกหาทางที่จะบรรลุด้วยตัวเองแทน ในแง่นี้ทั้ง “Pk” “Life of Pi” และ “สิทธารถะ” มีส่วนร่วมเหมือนกันอย่างหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับ “ปัจเจก” ว่าสามารถเข้าถึงและบรรลุศาสนาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านองค์กรศาสนา

ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่า “พระเจ้า” ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ตราบนั้นปัจเจกแต่ละคนน่าจะมีสิทธิในการหาวิธีเข้าถึงพระองค์ได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะไม่ใช่วิธีที่แต่ละศาสนากำหนดก็ตาม เพราะถึงที่สุดแล้ว ศาสนาก็คือเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
 

PK

ถึงที่สุดแล้ว คุณอาจไม่ได้สนใจเรื่องราวของการตั้งคำถามเรื่องศาสนาเท่าไหร่ แต่ก็ยังอยากเชียร์ให้ไปดู PK กันอยู่ดี เพราะนี่คือหนังตลกที่ทำหน้าที่ให้ความตลกได้ดีมากเรื่องหนึ่ง แถมพอช่วงจะเข้าโหมดซึ้งก็ทำเอาน้ำตาซึมได้เหมือนกัน และที่สำคัญนี่เป็นหนังอินเดียที่มีความเป็นสากลมาก เพราะในขณะที่เรื่องที่หนังต้องการเล่ามีความเป็นสากลมาก แต่ขณะเดียวก็ยังรักษาเอกลักษณ์บางอย่างของตัวเองเอาไว้ได้เช่นกัน 
 

ความชอบส่วนตัว: 10/10

(ถ้าให้เกิน 10 ได้ก็ให้)

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)