[Criticism] Planet of the Apes (1968/2011/2014) – โลกแคบเกินไปสำหรับเผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ 2 เผ่าพันธุ์จะอยู่ร่วมกัน

หมายเหตุ: เนื่องจาก “War for the Planet of the Apes” กำลังจะเข้าฉาย จึงขอนำบทวิจารณ์ Planet of the Apes 3 ภาค (1968 / 2011 / 2014) มาอุ่นเครื่องกันก่อนครับ บทวิจารณ์นี้เป็นงานเขียนส่งประกวดบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ของ “สถาบันปรีดี พนมยงค์” เมื่อปี พ.ศ. 2559 และได้รับรางวัลบทวิจารณ์สร้างสรรค์มาครับ

บทนำ

“Planet of the Apes” หรือ “พิภพวานร” ถือเป็นหนึ่งในแฟรนไชรส์ที่มีความเป็นมายาวนาน และถูกนำเสนอในหลากหลายสื่อ จากต้นฉบับนิยายฝรั่งเศสของ “Pierre Boulle” ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1963 เล่าเรื่องราวถึงโลกที่วานรเป็นเผ่าพันธุ์ที่ครองโลก ขณะที่มนุษย์กลายเป็นเพียงสัตว์ชั้นต่ำ นิยายฉบับนี้ต่อมาได้แปลเป็นภาษาอังกฤษและดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1968 ในชื่อ “Planet of the Apes” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ ส่งผลให้มีการสร้างภาคต่อตามมาอีก 4 ภาค คือ Beneath the Planet of the Apes (1970), Escape from the Planet of the Apes (1971), Conquest of the Planet of the Apes (1972) และ Battle for the Planet of the Apes (1973) รวมถึงการดัดแปลงเป็นซีรี่ส์โทรทัศน์ (1974) แอนิเมชั่นซีรี่ส์ (1975) ตลอดจนการ์ตูนคอมมิคของ Marvel (1974-1977)

อย่างไรก็ตาม ภาคต่อๆ มานั้น ก็ดับมากกว่าดัง และค่อยๆ เสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา จนกระทั่งปี ค.ศ.2001 ก็มีความพยายามในการปลุกชีพตำนานพิภพวานรใหม่ขึ้นอีกครั้งในลักษณะการ Remake เล่าจุดเริ่มต้นใหม่แต่ไม่ซ้ำเดิม โดยได้ Tim Burton มารับหน้าที่กำกับ กระนั้นแม้ Planet of the Apes (2001) จะไปได้ดีบน Box Office แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในแง่คำวิจารณ์ เพราะแม้หนังจะมีกลิ่นอายต้นฉบับนิยายมากขึ้น แต่ก็แลกด้วยการสูญเสียท่าทีวิพากษ์สังคมที่เป็นจุดเด่นของภาคต้นฉบับไป Tim Burton เองก็ไม่สนใจจะทำเรื่องนี้ต่อ ทำให้โปรเจคภาคต่อต้องพับไป และเวอร์ชั่น 2001 ก็กลายเป็นเวอร์ชั่นที่แฟนพิภพวานรหลายคนพยายามทำลืมไป

จนกระทั่งปี 2011 ความพยายามในการปลุกชีพก็ประสบความสำเร็จกับ “Rise of the Planet of the Apes” ภาคที่นิยามตนเองว่าเป็นทั้ง “Prequel” (ภาคต้น) และ “Reboot” ไปในตัว โดยเปลี่ยนมาเล่าเรื่องราวในยุคปัจจุบันเพื่อตอบคำถามว่าทำไมและเกิดอะไรขึ้น เหตุใดวานรจึงขึ้นมาครองโลกได้ การประสานเทคนิคสมัยใหม่ ฉาก Action สไตล์หนัง Blockbuster เข้ากับการวิพากษ์วิจารณ์สังคม และการใส่ Easter Eggs เพื่อเชื่อมเรื่องราวเข้ากับภาคต้นฉบับ (1968) ทำให้หนังได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากแฟนคลับหนังชุดนี้และคนทั่วไป จนอีก 3 ปีให้หลังก็มีการสานต่อเรื่องราวใน “Dawn of the Planet of the Apes” เล่าเรื่อง 10 ปีหลังจากวานรตัวแรกในภาค 2011 เริ่มพูดได้ และยังมีแผนจะสร้างภาคต่ออีก ซึ่งสุดท้ายก็อาจไปเชื่อมกับเรื่องราวในภาคต้นฉบับคลาสสิค 1968 ที่ฉากหลังเกิดในอนาคตได้อย่างสมบูรณ์

การที่ภาค 2011 เลือกวางตัวเองเป็นภาคต้นของภาค 1968 ทำให้แฟรนส์ไชรส์หนังตระกูลพิภพวานรสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สายด้วยกัน สายแรกเป็นสายหลัก มีเนื้อหาอยู่ในจักรวาลเดียวกัน เส้นเวลาเดียวกัน ได้แก่ ภาค 2011, 2014, 1968 และอาจรวมถึง 1970 ไปด้วยก็ได้ (เรียงตามลำดับเวลาในหนัง) ขณะที่สายที่ 2 คือภาค 1971, 1972 และ 1973 ที่แม้จะอยู่ในจักรวาลเดียวกันสายแรก แต่เป็น Timeline ใหม่ที่เกิดจากการย้อนเวลามาแก้ไขอดีต และสายสุดท้ายคือสายที่ 3 ก็คือภาค 2001 ที่ถือเป็นอีกจักรวาลหนึ่งไปเลย ทั้งนี้ ในบทวิจารณ์ฉบับนี้จะมุ่งเน้นไปที่พิภพวานรสายแรก โดยให้ความสำคัญกับภาค 1968, 2011 และ 2014 เป็นหลัก ความน่าสนใจคือแม้ทั้ง 3 ภาคจะสามารถนับเป็นหนังชุดเดียวกันได้ แต่ระยะเวลาการสร้างที่แตกต่างกัน มุมมองของผู้กำกับแต่ละภาคที่แตกต่างกัน ได้ส่งผลให้แต่ละภาคมีความแตกต่างทั้งในแง่คุณภาพงานสร้าง เนื้อหา มุมมอง และแก่นหลักที่ต้องการสื่อสาร

1968: มนุษย์มองมนุษย์

หนึ่งในทฤษฎีที่สร้างความลือลั่นทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดก็คือ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” (Evolutionary Theory) ของ “Charles Darwin” ที่เสนอสู่สาธารณะเมื่อปี ค.ศ.1859 พร้อมแนวคิดที่ว่า มนุษย์กับลิงไม่มีหางหรือวานร (Apes: เพื่อความสะดวกในที่นี่จะใช้คำว่า วานร แทนคำว่า Ape และ ลิง แทนคำว่า Monkey) นั้นมีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่เพื่อสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่บีบบังคับ ทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด จนวิวัฒนาการกลายเป็นมนุษย์ในแบบปัจจุบัน

แม้ Charles Darwin จะไม่ได้พูดโดยตรงว่า มนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาจากลิงหรือวานร แต่ข้อสรุปทางทฤษฎีที่ออกมาก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความไม่พอใจให้กับคนในสังคมขณะนั้น โดยเฉพาะคริสตจักรที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของยุโรป เนื่องจากแนวคิดนี้ได้ล้มล้างความเชื่อเดิมตามไปเบิ้ลที่บอกว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ตามแบบพระองค์ ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงเป็นสัตว์ประเสริฐเพียง “สายพันธุ์เดียว” ที่พระเจ้ามอบหมายให้ปกครองโลก และหากทฤษฎี Charles Darwin กล่าวถูกต้องจริง นั่นจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของมนุษย์ที่คิดว่าตนเองคือเผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่เผ่าพันธุ์เดียวในโลกที่มีมาตลอดให้จบสิ้นลง สำหรับหลายๆ คน การสูญเสียความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองยึดเหนี่ยว ไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น

ในขณะที่ต้นฉบับนิยายนั้นดูจะให้ความสำคัญกับการผจญภัยและการเอาตัวรอดของมนุษย์ในโลกแปลกใหม่ที่วานรกลายเป็นผู้ปกครอง ขณะที่มนุษย์กลายเป็นสัตว์ทั่วๆ ไปที่พูดไม่ได้ โง่เง่า และถูกล่าโดยวาร แต่เวอร์ชั่นภาพยนตร์ ค.ศ.1968 นั้นดัดแปลงโดยเพิ่มท่าทีของการวิพากษ์สังคมเข้าไปด้วย ผ่านการโต้เถียงของเหล่าวานรถึงสถานะของ “Taylor” (Charlton Heston) นักบินอวกาศที่หลงเข้ามาในพิภพวานร ว่าเป็นใคร การโต้ตอบระหว่างฝั่งของ “Zira” (Kim Hunter) และ “Cornelius” (Roddy McDowall) 2 นักวิทยาศาสตร์วานร ที่ให้ความช่วยเหลือ Taylor และยึดมั่นในทฤษฎีที่ว่า วานรนั้นวิวัฒนาการมาจากมนุษย์ กับชนชั้นนำของเหล่าวานร ที่คิดว่า Taylor ไม่ได้แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป แม้จะพูดได้ก็ตาม ทั้งยังแสดงการคัดค้านทฤษฎีของ Zira และ Cornelius อย่างชัดเจน เพราะเป็นทฤษฎีที่ขัดกับพระคัมภีร์ของเหล่าวานรที่ว่า “พระเจ้าเป็นผู้สร้างวานร ตามแบบของพระองค์”
การโต้เถียงของเหล่าวานรในเรื่องจึงไม่ได้ต่างอะไรกับการโต้เถียงระหว่างกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ยึดถือในทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin กับกลุ่มคริสตจักรที่ยึดถือคัมภีร์ไบเบิ้ล ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน กลุ่มหลังเลือกจะเชื่อเช่นนั้น เพื่อรักษาสถานะความเป็นผู้นำของเผ่าพันธุ์ตนเอาไว้ เรื่องราวใน Planet of the Apes แม้จะเป็นโลกของวานร แต่แท้จริงแล้วก็คือเรื่องราวของ “มนุษย์” ในคราบ “วานร” ผ่านมุมมอง “มนุษย์” (Taylor) ด้วยกันนั่นเอง

2011: วานรมองมนุษย์

ระยะเวลาที่ทิ้งห่างจากภาคต้นฉบับกว่า 43 ปี ทำให้ความแตกต่างที่เห็นได้เด่นชัดและทันทีระหว่างภาค 1968 กับ 2011 ก็คืองานด้าน Production ที่ดูทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะเทคนิคการสร้างวานร จากเมคอัพกลายเป็นวานร CGI ด้วยเทคนิค Motion Capture ที่ถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคนิคพิเศษของยุคนี้เลยก็ว่าได้ ขณะที่การดำเนินเรื่องก็เน้นความกระชับฉับไวตามสไตล์หนังสมัยใหม่ และเพิ่มฉาก Action เข้าไปมากกว่าเดิมให้สมกับเป็นหนัง Summer Blockbuster ที่คาดหวังจะกวาดเงินจากผู้ชมให้ได้มากที่สุด

แต่สิ่งที่ทำให้พิภพวานรยุคใหม่นี้แตกต่างจากยุคคลาสสิกมากที่สุด ก็คือแนวทางการดำเนินเรื่อง ขณะที่ Planet of the Apes ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของมนุษย์เป็นหลัก และเรื่องราวจริงๆ ก็เป็นดราม่าของมนุษย์ด้วยกัน เพียงนำเสนอผ่านวานรเท่านั้น Rise of the Planet of the Apes กลับเลือกนำเสนอผ่านสายตาของวานร และเรื่องของวานรโดยตรง พยายามสื่อให้เห็นพัฒนาการของวานร ตั้งแต่การเป็นวานรในสภาพธรรมชาติ จนกระทั่งเริ่มมีพัฒนาการความฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากวัคซีนรักษาโรคอัลไซเมอร์ (และวัคซีนตัวนี้นี่เองที่เป็นทั้งจุดเปลี่ยนให้วานรฉลาดขึ้นและมนุษย์อ่อนแอลงไปพร้อมๆ กัน)

คำถามคือ เมื่อวานรฉลาดขึ้น พวกเขามองมนุษย์อย่างไร ตัวหนังถอยห่างจากประเด็นเรื่องวิวัฒนาการในภาค 1968 มาเล่นเรื่องเสรีภาพเต็มตัว และไม่ใช่เสรีภาพของมนุษย์ หากแต่เป็นเสรีภาพของวานร “Caesar” (Andy Serkis) คือวานรที่เป็นแกนหลักของภาคนี้ เขาเป็นวานรที่ได้รับยีนส์ความฉลาดจากแม่ที่เป็นวานรทดลองยา ในช่วงเริ่มแรก Caesar ไม่ต่างจากวานรทั่วไป ไร้เดียงสา ดำเนินชีวิตโดยอาศัยสัญชาตญาณ แต่เมื่อ Caesar เริ่มเติบโตขึ้น พัฒนาการทางสมองเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัด เขาเริ่มเรียนรู้ว่าบ้านที่เขาอาศัยอยู่นั้น ไม่ใช่บ้านแบบที่เขาต้องการ และแม้ “Will” (James Franco) มนุษย์ที่เลี้ยงดูเขามาจะให้ความรักต่อ Caesar เป็นอย่างดี แต่ Caesar ก็ตระหนักแล้วว่า Will คือมนุษย์ ส่วนเขาคือวานร และมนุษย์ทุกคนไม่ได้เป็นแบบ Will ความคิดนี้ยิ่งเด่นชัดมากขึ้นเมื่อมีเหตุให้ Caesar ต้องไปอยู่สวนสัตว์ ที่แม้จะตกแต่งให้มีลักษณะคล้ายป่า แต่แท้จริงแล้วคือกรงขังขนาดใหญ่ต่างหาก

ในขณะที่สายตาที่วานรมองมนุษย์เริ่มเด่นชัดขึ้น จากสติปัญญาที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะภาพการกดขี่จากมนุษย์ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ Caesar เห็น และเขาก็ทำให้วานรตัวอื่นเห็นเชนกัน กลับกันมนุษย์กลับยังมองวานรด้วยสายตาแบบเดิม สายตาที่มองพวกมันเป็นเพียงสัตว์ป่าที่ป่าเถื่อน และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ แม้แต่ตัว Will เองที่ถึงจะรัก Caesar เหมือนเพื่อน แต่ก็ใช่ว่าจะรู้สึกเช่นเดียวนี้กับวานรทุกตัว เมื่อมุมมองแตกต่างกัน…การปฏิวัติจึงบังเกิด

2014: วานรมองวานร

“Dawn of Planet of the Apes” เป็นภาคต่อโดยตรงของ Rise of Planet of the Apes ออกฉายหลังจากภาคก่อน 3 ปี แต่เวลาในหนังนั้นผ่านไปแล้ว 10 ปี อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ยาวนานนัก เมื่อเทียบกับการข้ามเวลาไป 2,000 ปีในภาค 1968 แต่ 10 ปีนี้ก็เพียงพอจะเปลี่ยนแปลงโลกของทั้งมนุษย์และวานรให้ต่างไปจากเดิมได้ ในกรณีของวานร 10 ปีเพียงพอในการเติบโตของวานรที่มีสติปัญญารุ่นที่ 2 เพียงพอต่อการเห็นพัฒนาการทางสังคมของเหล่าวานร การจับกลุ่มล่าสัตว์ การสร้างบ้านเรือน และ “การแย่งชิงอำนาจกันเอง” ขณะที่ในกรณีของมนุษย์ 10 ปีที่ผ่านไป คือช่วงเวลาที่ไวรัสที่ใช้เพื่อสร้างวัคซีนในภาค 2011 หลุดออกมาภายนอก และเพียงพอที่จะแพร่ระบาดจนคนล้มตายไปกว่าร้อยละ 90 ของโลก มนุษย์อาจกำลังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อมนุษย์ต้องมาเผชิญกับเหล่าวานร จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะแสดงความหวาดกลัวออกมาอย่างชัดเจน ทั้งที่มนุษย์ดูจะมีจำนวนและอาวุธที่มากกว่า เพราะสิ่งที่มนุษย์กำลังเผชิญไม่ใช่แค่สัตว์ป่าเท่านั้น แต่คือการเผชิญกับความจริงที่ว่า “พวกเขาอาจไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอีกต่อไป” ไม่แปลกที่พวกเขาจะมีความไม่ไว้ใจต่อกลุ่มวานร ขณะที่กลุ่มวานรเองก็ไม่ใช่ทุกตัวที่จะมีความทรงจำต่อมนุษย์ในด้านดีแบบที่ Caesar เคยมีต่อ Will หลายตัวจดจำได้เพียงความโหดร้ายของมนุษย์ ขณะที่วานรรุ่นใหม่ก็เติบโตมากับชุดความคิดว่า พวกเขาคือที่หนึ่ง เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจกัน มันจึงเป็นจุดเริ่มของสงคราม

แม้จะมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่จุดเน้นสำคัญของพิภพวานรภาคนี้ก็คือ เรื่องราวของวานรกับวานรด้วยกันเอง เราได้เห็นความขัดแย้งระหว่างวานรกับวานรด้วยกันเอง ในประเด็นการกำหนดท่าทีความสัมพันธ์ต่อมนุษย์ เราได้เห็นว่ามีทั้งวานรที่ต้องการสันติภาพ และวานรที่ต้องการสงคราม วานรที่ต้องการอยู่อย่างสงบ และวานรที่ต้องการเป็นใหญ่ ทั้งหมดแทบไม่ต่างจากพฤติกรรมของมนุษย์ แม้ดูเหมือนความขัดแย้งเหล่านี้จะเคยปรากฎให้เห็นแล้วในภาค 1968 แต่ความแตกต่างก็คือในภาคนั้นเล่าผ่านมุมมองมนุษย์ ขณะที่ภาคนี้เล่าโดยมุมมองวานรด้วยกันเอง

“ฉันเพิ่งรู้ว่าวานรเหมือนมนุษย์แค่ไหน” เป็นคำพูดตอนหนึ่งของ Caesar ที่กล่าวถึงความขัดแย้งในหมู่วานร เขาเคยเชื่อมาตลอดว่า วานรนั้นดีกว่ามนุษย์ แต่ลงท้ายก็แทบไม่แตกต่างกัน สิ่งที่ทำให้น่าคิดคืออะไรที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้น หนังเหมือนจะไปไกลกว่าแค่ประเด็นว่า มนุษย์หรือวานรที่ดีกว่ากัน แต่อาจกำลังบอกกล่าวเราว่าเป็นสิ่งมีชีวิตเมื่อทรงภูมิปัญญาไม่ได้หมายความว่าจะทำให้โลกสงบสุขเสมอไป ความฉลาด การคิดแบบตรรกะ เหตุผล อารมณ์ สิ่งเหล่านี้ หากสิ่งมีชีวิตใดมีสิ่งเหล่านี้ พวกเขาจะไม่ได้ดำเนินชีวิตเพียงเพื่อเอาตัวรอดวันต่อวันเพียงอย่างเดียวต่อไป แต่จะเริ่มคิดถึงการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตนเองและเผ่าพันธุ์ตนเองไปด้วย ซึ่งสุดท้ายก็จะจบลงด้วยสงคราม มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโลกแคบเกินไปกว่าที่จะมีเผ่าพันธุ์ยิ่งใหญ่ 2 เผ่าพันธุ์อยู่ร่วมกัน

บทสรุป

“Planet of the Apes” ทั้ง 3 ภาคที่ว่ามา 1968, 2011 และ 2014 แม้จะอยู่บนโลกของพิภพวานรเช่นเดียวกัน แต่ก็สะท้อนถึงมุมมองการวิพากษ์สังคมที่แตกต่างกัน ตามกาลเวลา และผู้กำกับที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ว่าสอดแทรกประเด็นสังคมเข้ามาในแง่มุมไหน ทุกๆ ภาคก็จะมีเรื่องราวที่ให้มนุษย์อย่างเราเก็บไปคิดได้อย่างเสมอ เมื่อไม่นานมานี้มีกระทู้หนึ่งใน PANTIP ตั้งว่า “โลกปัจจุบัน…ลิง ยังสามารถวิวัฒนาการเป็น มนุษย์ ได้หรือไม่” คำตอบทางวิทยาศาสตร์คือ “ไม่” เพราะวานรกับมนุษย์มีเส้นทางการวิวัฒนาการที่แยกออกจากกันมานานแล้ว จนช้าเกินที่จะกลับไปหาจุดเริ่มต้น เหมือนที่ความเห็นหนึ่งในกระทู้ยกตัวอย่างไว้ บัวลอยกับแกงเขียวหวานทำจากกะทิเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทำให้บัวลอยกลายเป็นแกงเขียวหวานได้

อย่างไรก็ตาม หากลองเปลี่ยนคำถามเป็น “โลกปัจจุบัน…ลิง/วานร ยังสามารถวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาเทียบเท่ามนุษย์ได้หรือไม่” คำตอบอาจเป็น “เป็นไปได้” และถ้าสมมติวันนั้นมาถึง เราอาจได้เห็นโลกพิภพวานรเกิดขึ้นจริง คำถามถัดไปคือเราเตรียมพร้อมหรือยังหากโลกจะมีเผ่าพันธุ์ทรงภูมิปัญญามากกว่าแค่หนึ่ง

ประเด็นชวนคิดเหล่านี้นี่แหละที่เป็นจุดเด่นสำคัญของแฟรนไชรส์หนังชุดนี้ และสามารถผลักดันให้หนังชุดนี้เติบโตไปเรื่อยๆ ในอนาคต นอกเหนือไปจากจุดขายการได้เห็นเหล่าวานรออกมาโลดแล่นในโลกภาพยนตร์

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)