[Criticism] Snap แค่…ได้คิดถึง – ความรัก การเมือง และ 8 ปีที่เราไม่เคยก้าวหน้าไปไหน (Spoil)


 

-1-

โดยรวมเราสามารถวิเคราะห์ “Snap” ได้ใน 2 แง่มุมแรก แง่มุมแรกคือ การเป็นหนังรักโรแมนติก ที่เล่าเรื่องการกลับมาพบเจอกันของคนที่เคยมีความรู้สึกดีๆ ต่อกัน แต่ไม่เคยได้บอกออกไปอย่างชัดเจน การพบกันครั้งใหม่จึงเหมือนโอกาสได้รำลึกความทรงจำดีๆ ที่เคยมีต่อกัน ไปพร้อมๆ กับการเคลียร์ความรู้สึกที่คั่งค้างในใจ คล้ายเป็น “แฟนฉัน” ในภาคที่โตขึ้น ผสมด้วยอารมณ์แบบ “ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” ตัวหนังใช้แง่มุมนี้เป็นจุดหลักในการขาย ซึ่งน่าจะเป็นการเลือกได้อย่างถูกต้องทีเดียว เพราะแค่ชื่อเรื่องรอง “แค่…ได้คิดถึง” ก็ก่อให้เกิดความรู้อยากดูมากขึ้นแล้ว

แต่นอกเหนือจากการเป็นหนังรักแล้ว “Snap” ยังมีความเป็นหนัง “การเมือง” สูง ที่ใส่มาอย่างจงใจแบบไม่ต้องแอบแฝง และมีผลต่อเนื้อเรื่องโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็มีชั้นเชิงในการเล่าสูง ด้วยการไม่ไปฟันธงหรือเผยความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเองออกไปทั้งหมด ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้คนที่มีอคติทางการเมือง เกิดอคติต่อหนังเรื่องนี้ได้ แต่ Snap ใช้วิธีตั้งคำถามให้คิด ผ่านการฉายภาพเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมืองไทยกับความสัมพันธ์ตัวละครหลักในเรื่อง ที่สำคัญคือหนังสามารถทำให้ 2 แง่มุมนี้ “เข้ากัน” ได้ แบบไม่รู้สึกว่าส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นส่วนเกินเลย
 

-2-

“Snap” เล่าเรื่องราวของกลุ่มเพื่อน ม.ปลาย ที่กลับมาเจอกันอีกครั้ง เพื่อร่วมงานแต่งงานของเพื่อนในกลุ่ม 2 คน ซึ่งเลือกจัดใน Theme คืนสู่เหย้า โรงเรียน ม.ปลายของพวกเขาที่จันทบุรี ที่งานนี้ทำให้ “ผึ้ง” (วรันธร เปานิล) หนึ่งในเพื่อนเจ้าสาว ได้เจอกับ “บอย” (โทนี่ รากแก่น) เพื่อนเก่าและช่างภาพประจำงานนี้อีกครั้ง ในรอบ 8 ปี บรรยากาศเก่าๆ หวนคืนมาอีกครั้ง พร้อมๆ กับคำถามยังค้างคาในใจผึ้งมาตลอด ว่าทำไม 8 ปีก่อน บอยจึงไม่มาถ่ายรูปเธอตามที่สัญญาไว้ และนั่นทำให้เธอไม่มีรูปอยู่ในหนังสือรุ่น

ความน่าสนใจก็คือ นัยสำคัญของ 8 ปีที่ว่านี้ คือช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2549 – 2557 ซึ่งในทางการเมืองก็คือช่วงเวลาตั้งแต่การเกิดรัฐประหาร “19 ก.ย. 49” ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฯ (คปค.) จนถึงการเกิดรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ “22 พ.ค. 57” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อเรื่องราวของผึ้งและบอยโดยตรง เมื่อรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ทำให้ผึ้งที่เป็นลูกนายทหาร ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อย้ายตามพ่อที่ถูกเรียกตัวให้ไปประจำที่กรุงเทพฯ พร้อมคำสัญญาจากบอยว่าจะมาถ่ายรูปรุ่นให้ ขณะที่เหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ก็คือวันเดียวกับงานแต่งของเพื่อนที่ผึ้งและบอยมาร่วมงาน

8 ปีที่ว่านี้ จึงไม่ใช่แค่การกลับมาเจอกันใหม่ของผึ้งและบอย แต่ยังเป็นการโยงไปถึงคำถามต่อการเมืองระดับชาติว่า 8 ปีที่ผ่านไปนี้ เราเรียนรู้อะไรบ้าง เราก้าวไปข้างหน้าแค่ไหน และ ณ ตอนนี้เราจดจำเหตุการณ์เมื่อ 8 ปีก่อน ในลักษณะใดกัน

-3-

หนังเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า “Snap” เป็นศัพท์การถ่ายภาพ ที่หมายถึงการถ่ายแบบยกกล้องถ่ายทันที รวดเร็ว บางทีก็รวมถึงการถ่ายภาพทีเผลอ ซึ่งทั้งคนถ่ายและคนถูกถ่ายไม่มีเวลาที่จะปรับแต่งกล้องหรือจัดองค์ประกอบภาพ นั่นทำให้บางคนไม่ชอบภาพลักษณะนี้ เพราะมันเสี่ยงที่จะได้รูปที่ไม่สวยตามที่ตัวเองคิดไว้ แต่บางส่วนก็จะมองว่า ภาพ Snap คือภาพที่เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ผ่านการปรุงแต่ง และถ้าจับจังหวะถ่ายได้อย่างเหมาะเจาะ ก็จะได้ทั้งภาพที่สวยงามและเรียล

ในขณะที่ Snap เน้นความสมจริง การถ่ายภาพลง Instagram ดูจะตรงกันข้าม เพราะส่วนใหญ่เรามักจะจัดองค์ประกอบภาพ ชอบที่จะซูมเข้าไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดชัดเจน (หรืออีกนัยหนึ่งคิดตัดสิ่งรอบข้างที่เราเห็นว่าไม่สวยออก) เลือกฟิลเตอร์สีใส่เข้าไปเพื่อให้ภาพดูสวยงามขึ้น และที่ขาดไม่ได้คือ Caption โดนๆ พร้อมติดแท็ก ที่บางทีก็ไม่เข้าใจว่าจะแท็กเยอะอะไรนักหนา ตัวหนังวางบทบาทให้ “บอย” นั้นเป็นช่างภาพที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแบบ Snap Shot ขณะที่ “ผึ้ง” นั้นชอบการถ่ายและแต่งภาพเพื่ออัพลง IG ความชอบที่แตกต่างกันนี้ สะท้อนออกมาเป็นความทรงจำของเขาและเธอที่แตกต่างกันด้วย

ว่ากันว่า คนเราถ่ายรูปเพื่อใช้ระลึกถึงความทรงจำ แต่ก็มีอีกหลายคน หลายผลการศึกษาที่บ่งบอกว่า ยิ่งถ่ายรูปมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งหลงลืมได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะเราปล่อยให้ภาพถ่ายเป็นตัวจดจำ แทนที่จะใช้สายตาเราเองในการเก็บความทรงจำนั้นไว้ อย่างในกรณีของผึ้ง มันไม่ใช่แค่ปล่อยให้ IG ทำหน้าที่แทนสมอง แต่ยังเป็น “ความทรงจำใส่ Filter” ที่เมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจจำไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นยังไง เพราะเราเห็นแค่ Filter หรืออารมณ์ความรู้สึกที่ไปครอบมันอยู่ ขณะที่ตัวบอยนั้นเลือกจะจดจำแบบ Snap ปรุงแต่งให้น้อยที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสที่จะเห็นความจริง ความเจ็บปวดมากขึ้น เมื่อบอยมองย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน มันจึงมีทั้งความสุขและความเจ็บปวด โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพ่อของเขา อันเกิดจากพยายามพาบอยไปถ่ายรูปผึ้งให้ทัน

ไม่เฉพาะแค่ผึ้งกับบอย แต่ในเรื่อง ดูทุกคนจะมีปัญหาเกี่ยวกับความจำทั้งหมด ไม่ใช่เพราะพวกเขาลืมจริงๆ แต่เพราะมันมี Filter บางอย่างที่ครอบอยู่ และส่งผลให้ความทรงจำจริงๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นเปลี่ยนไป หนึ่งใน Filter สำคัญก็คือ ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เพื่อนบางคนแตกหักกัน และจดจำเพื่อนที่เคยรักกันไปอีกทางหนึ่งไปเลย
 

-4-

เรื่องความทรงจำใส่ Filter ของตัวละครในเรื่อง พาเราโยงไปตั้งคำถามถึงเหตุการณ์รัฐประหารทั้ง 2 ครั้งว่า พวกเราจดจำเหตุการณ์เหล่านี้ในลักษณะไหน โดยเฉพาะรัฐประหาร 2549 สำหรับบางคนมองมันในแง่ลบและพยายามต่อต้านมัน แต่บางคนแม้จะมองในแง่ลบเช่นกัน แต่ก็เลือกจะไม่ต่อต้านอย่างชัดเจน และกลายเป็นคนที่พยายามกันตัวเองออกมานอกวงการเมือง เราอาจเปรียบเทียบได้กับเหตุการณ์ในเรื่องเมื่อ 8 ปีก่อน เมื่อรัฐประหาร 2549 ทำให้ผึ้งต้องย้ายไปกรุงเทพฯ ด่วน ความพยายามที่จะตามไปถ่ายรูปผึ้งของบอย ไม่ต่างอะไรกับการปฏิเสธอำนาจของการรัฐประหารครั้งนั้น แต่การต่อต้านนั้นจบลงด้วยอุบัติเหตุพ่อของเขา ที่พยายามขับรถเร็วขึ้นเพื่อพาบอยไปให้ทัน เหตุการณ์ครั้งนั้น

ในขณะที่ผึ้งนั้น แม้รัฐประหารจะเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเธอ ทำให้เธอต้องย้ายโรงเรียน แต่เธอก็ไม่มีท่าที่ต่อต้านอะไร อาจจะมีแค่ความมึนงงปนสงสัยว่าทำไมบอยไม่มาตามนัดบ้าง แต่สุดท้ายเธอก็ปรับตัวเข้ากับมันได้อย่างรวดเร็ว และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับโลกสวยๆ ในมุมมองเธอ ส่วนหนึ่งก็เพราะเธอคือฝ่ายเดียวกับผู้ก่อการนั่นเอง (ผึ้งเป็นลูกนายทหาร) ว่าไปก็ไม่ต่างอะไรกับชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ที่แม้จะตกใจกับรัฐประหารนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และรัฐประหารก็กลายเป็นเป็นเพียงความทรงจำเล็กๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของพวกเขา ซึ่งความรู้สึกนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับรัฐประหาร 2557

ดังนั้น 8 ปีที่ผ่านมา กับรัฐประหาร 2 ครั้ง คนไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง เอาเข้าจริงอาจไม่เคยได้เรียนรู้อะไรเลย เพราะเราอาจไม่เคยจดจำรัฐประหาร 2549 ได้จริงๆ ไม่เคยสนใจ ไม่เคยจะทำความเข้าใจกับมันจริงๆ ว่ามันทำให้เกิดผลอะไรไว้บ้าง ที่ทำก็เพียงแค่เก็บมันไว้ภายใต้ Filter อันสวยงามของความทรงจำ

 

-5-

เราชอบบรรยากาศของหนัง ที่แม้จะดำเนินเรื่องภายในสถานการณ์ของกฎอัยการศึกและการรัฐประหาร 2558 แต่ตัวละครเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนนางเอก ที่เราพออนุมานได้ว่าเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่ต่อต้านรัฐบาลเดิม ก็แทบไม่ได้แสดงความเดือดร้อนร้อนใจอะไรต่อสถานการณ์เลย และงานแต่งงานก็ยังจัดไปตามปกติ พวกเขาสนใจกฎอัยการศึกกับรัฐประหารแค่ในฐานะเอามาใช้เล่นเป็นมุขตลก หรือจริงจังมาหน่อยก็กังวลผลกระทบต่อหุ้นที่ซื้อไว้ แต่ไม่มีที่จะสนทนากันจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ คนที่ดูจะสนใจเหตุการณ์การก่อรัฐประหารจริงๆ กลับเป็น “นพ” เพื่อนที่ถูกกันออกไปจากกลุ่มเพราะความเห็นการเมืองไม่ตรงกัน

มีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจ ตอนที่เพื่อนนางเอกคนหนึ่งมาเจอกับนพ เพื่อนคนนั้นพยายามหาหนังสือพิมพ์อ่านเพื่อฆ่าเวลา แต่หนังสือพิมพ์ของนพกลับมีแต่ข่าวการเมือง ไม่มีข่าวบันเทิงหรือ Gossip ที่เธอต้องการ จนเธอต้องบ่นออกมา เป็นฉากสั้นๆ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า สำหรับเธอ (และอีกหลายคน) รัฐประหารไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย

คนไทยหลายคนเองก็ไม่ได้รู้สึกแย่อะไรกับรัฐประหาร ซึ่งก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า เพราะทหารในมุมมองของหลายคนนั้นมีภาพลักษณ์ที่ดี มีความเป็นสุภาพบุรุษ หล่อ เท่ และตั้งใจดูแลเราเป็นอย่างดี โดยที่ทั้งหมดนั้นถูกถ่ายทอดผ่านคาแรกเตอร์ของ “แมน” แฟนหนุ่มนายทหารของผึ้ง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเป็นสุภาพบุรุษ หนังก็แสดงให้เห็นว่า อีกมุมหนึ่งของแมน ที่มีความจำต่อเหตุการณ์สวนทางกับผึ้ง โดยเฉพาะช่วงพบกันครั้งแรก ที่ผึ้งจดจำมันในฐานะฉากโรแมนติก แต่แมนแทบจะจำรายละเอียดตอนนั้นไม่ได้ และหลังวันที่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เราก็เห็นความ “เผด็จการ” ของตัวแมนมากขึ้นเรื่อย ที่แม้จะไม่ได้แสดงออกแบบก้าวร้าว หรือหยาบคาย แต่ก็ไม่รับฟังความคิดของผึ้งเลย ที่น่าเศร้าใจคือ แมนไม่คิดว่านั่นคือความเผด็จการ แต่คือการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผึ้งแล้ว

แต่ถึงจะอึดอัดแค่ไหน สุดท้ายผึ้งก็ยังเลือกแมนอยู่ดี ไม่แตกต่างจากคนไทยบางส่วนที่แม้จะตะหงิดกับการปกครองของทหารแค่ไหน แต่ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ก็ทำให้พวกเขามองข้ามไปได้ และกว่าจะรู้ตัวพวกเขาก็ชินไปกับวิถีการปกครองภายใต้ทหารแบบนี้ไปแล้ว
 

-6-

มีตัวละครหนึ่งในเรื่องนั่นคือแฟนของบอย ที่ตลอดทั้งเรื่องหนังไม่ถ่ายให้เห็นหน้าเต็มๆ สักครั้งเดียว ส่วนใหญ่เลือกที่จะถ่ายเพียงด้านหลัง ผ่านสายตาของบอย แต่ไม่รู้ทำไม กลับรู้สึกชอบตัวละครนี้เป็นพิเศษ อาจเพราะเรารู้สึกนี่แหละคนรักแบบที่หลายคนตามหา เป็นคนที่บอย ที่ดูเป็นคนเก็บความรู้สึก พูดน้อย และเหมือนลอยไปลอยมา กล้าและสบายใจที่จะแชร์ความรู้สึกให้ฟังได้ทั้งหมด ที่สำคัญเหมือนทั้งบอยและแฟนใช้ชีวิตอยู่กับความจริง ไม่โรแมนติก แต่เข้าใจกัน

ไม่แน่ใจว่าทำไมหนังเลือกจะไม่ถ่ายให้เห็นหน้าตัวละครนี้ แต่พอลองคิดดู หากมองว่า Snap คือการถ่ายภาพทีเผลอ โดยภาพทีเผลออย่างหนึ่ง คือการถ่ายจากด้านหลังไม่ให้คนถูกถ่ายรู้ตัว ใช่หรือเปล่าว่า การที่หนังมักมองแฟนของบอยจากด้าน ก็คือการแทนว่า เธอคนนี้คือภาพ Snap ในปัจจุบันของบอย ภาพแบบที่บอยไม่สามารถได้จากผึ้งแล้วตอนนี้

-7-

การที่ส่วนตัวอายุเท่ากับตัวละครในเรื่อง ผ่านรัฐประหาร 2549 ตอน ม.6 เช่นกัน แถมยังรู้สึกว่าตัวเองมีบางส่วนคล้ายบอย โดยเฉพาะการลอยไปลอยมา และบางทีก็ไม่แสดงออกชัดเจนในเรื่องต่างๆ (แต่แน่นอนฝีมือการถ่ายภาพและหน้าตาห่างไกลจากบอยในเรื่องหลายขุม) ตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อินกับ “Snap” เป็นพิเศษ แต่ต่อให้ไม่ใช่วัยเดียวกับตัวละครในเรื่อง ก็ยังรู้สึกถึงความเยี่ยมยอดของ Snap อยู่ดี

คงมีหนังไม่กี่เรื่องที่บทสทนาหรือชื่อตัวละครในเรื่อง ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เล่าเรื่องราว แต่สามารถสื่อความไปยังประเด็นที่ใหญ่กว่า ได้ลึกซึ้ง คมคาย แทบทุกคำ ทุกประโยคเช่นนี้

 

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)