[Criticism] The Founder – กำเนิดแมคโดนัลดานุวัตร (Spoil) 

หมายเหตุ: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ (Spoil)

สำหรับวงการเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว “McDonald’s” ไม่ได้เป็นเพียงร้าน Fast Food ที่มีจุดเด่นตรงเบอเกอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอเมริกัน โลกาภิวัตน์ และระบบทุนนิยม การไปถึงของร้าน McDonald’s ยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จึงถูกมองว่าเป็นการเข้าครอบงำและชัยชนะของระบบทุนนิยมอเมริกัน เหนือความเป็นท้องถิ่นของพื้นที่นั้นq และยิ่งอาณาจักรร้าน McDonald’s แผ่ขยายไปได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการยืนยันว่าโลกยิ่งแคบลงมากเท่านั้น 
 
ความสำคัญของ McDonald’s ถึงขนาดว่ามีศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์/รัฐศาสตร์ที่พูดถึง McDonald’s โดยเฉพาะ นั่นก็คือคำว่า “McDonaldization” ที่คิดค้นโดย “George Ritzer” และแปลเป็นไทยโดย อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ว่า “แมคโดนัลดานุวัตร”  
 
“แมคโดนัลดานุวัตร” เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงหลักการ/แนวทางการดำเนินงานของร้าน McDonald’s ที่กลายเป็นแนวทางหลักของทุนนิยมที่เอาไปใช้ (และครอบงำ) การดำเนินการต่างๆ ทั่วทั้งโลก ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหาร โดยแมคโดนัลดานุวัตรประกอบด้วย 4 มิติหลักคือ  

  1. ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ โดยเฉพาะในเรื่องความรวดเร็ว 
  2. ความสามารถคำนวณได้ (Calculability) คุณภาพถูกแปรสภาพให้กลายเป็นปริมาณ ของมีคุณภาพ คือของที่ต้นทุนต่ำที่สุด ที่สามารถใช้งานได้ กระทั่งผู้บริโภคเองก็รับเอาแนวคิดนี้เข้าไป จนเห็นความสำคัญของปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น ความอยากกินเฟรนซ์ฟรายด์จะเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อมันลด 50% 
  3. ความสามารถในการคาดเดา (Predictability) ไม่ว่าจะสั่งจากร้านไหน สาขาไหน สามารถคาดเดาได้ว่าจะได้รับสินค้าและบริการเหมือนๆ กัน อย่างไรก็ตาม มิตินี้ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนบ้าง McDonald’s แต่ละประเทศ อาจมีเมนูที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากเกินไปจนสูญเสียความเป็น McDonald’s 
  4. การควบคุม (Control) ความเป็นมนุษย์เริ่มหายไป เมื่อทั้งพนักงานและลูกค้า ถูกควบคุมให้เดินตามขนบของ McDonald พนักงานมีการแบ่งแยกหน้าที่ชัดเจน และทำเท่าที่ได้รับโปรแกรมมาเท่านั้น

ความสำเร็จของ McDonald’s และธุรกิจที่มีวิธีการคล้ายๆ กัน คือชัยชนะของระบบทุนนิยมเหนือท้องถิ่น ทุกวันนี้เวลาคิดอะไรไม่ออกเราก็นึกถึงพวกร้าน Fast Food ที่มีแฟรนไชรส์เยอะๆ ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้านท้องถิ่นเริ่มถูกละเลย และล้มหายตายจากไปในที่สุด เพราะแข่งขันไม่ได้กับร้าน Fast Food ทุนใหญ่ ที่อยู่ได้ต้องไปจับตลาดอื่นที่เล็กกว่า มูลค่าน้อยกว่าแทน 

ที่เกริ่นเรื่อง แมคโดนัลดานุวัตร มาเสียเนิ่นนาน ก็เพื่อชี้ให้เห็นอีกด้านของความเป็น McDonald’s ที่ไม่ได้สวยงามนัก และมันจึงเป็นเรื่องที่ดีมากที่ “The Founder” ไม่ลืมที่จะเล่าด้านนั้น แม้ตัวหนังจะไม่ได้พูดถึงแมคโดนัลดานุวัตรโดยตรง แต่วิถีธุรกิจของ “Ray Kroc” (Michael Keaton) ผู้สถาปนาตนเองเป็น The Founder ก็ทำให้เรารู้เช่นเห็นชาติว่า McDonald’s กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมอเมริกันได้อย่างไร 
 
The Founder ยังเปรียบเสมือนวิกิพิเดียสำหรับนักศึกษาหรือคนที่สนใจการบริหารธุรกิจ หนังให้รายละเอียด แนวทาง ตัวอย่างการทำธุรกิจ ทั้งวิถีทางที่ถูกต้องตามครรลอง และวิถีทางด้านมืดที่ดูสุ่มเสียงต่อการผิดจริยธรรม โดยครึ่งเรื่องแรกคือการเล่าแนวทางการทำธุรกิจของ 2 พี่น้อง McDonald “Dick” (Nick Offerman) และ “Mac” (John Carroll Lynch) ผู้คิดค้นและพัฒนาระบบการบริการฉับไวอันจุดเด่นของร้าน McDonald ขึ้นมา วิถีทางธุรกิจของทั้ง 2 คือวิถีทางแบบอุดมคติ ที่เราคาดหวังจากวงการธุรกิจ เป็นการทำธุรกิจที่เกิดจากความรักในสิ่งที่ทำ มีการลองผิดลองถูก เก็บสถิติ หาสาเหตุจุดบกพร่อง นำมาหาแนวทางแก้ปัญหา ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้แนวทางที่ดีที่สุด ข้อเสียอย่างเดียวคือ Dick กับ Mac เหมือนจะมี “ความทะเยอทะยาน” น้อยเกินไป ตรงกันข้ามกับ “Ray Kroc” ที่มีสิ่งนี้อยู่เต็มเปี่ยม 
 
Ray Kroc ไม่ใช่ผู้คิดค้น McDonald’s แต่คือผู้ที่ขยายธุรกิจของ McDonald’s ออกไปให้กว้างใหญ่ไพศาล เขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อธุรกิจของเขาให้ประสบความสำเร็จ โดยที่การประสบความสำเร็จในที่นี้หมายถึง การที่ร้านมีสาขาออกไปมากที่สุด กำไรมากสุด และต้นทุนน้อยที่สุด นี่จึงกลายเป็นจุดขัดแย้งสำคัญระหว่างเขากับพี่น้อง Dick ที่มองว่าการประสบความสำเร็จของ McDonald’s คือการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และซื่อสัตย์ต่อลูกค้า  
 
ในครึ่งหลัง หนังนำเสนอแนวทางการขยายธุรกิจหลายอย่างไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะกับธุรกิจแฟรนไชรส์ ที่มักมีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพ Ray สร้างแนวทางการ Recruitment โดยเลือกคนที่มีลักษณะสู้ชีวิต รักครอบครัว เพื่อให้ได้ผู้จัดการสาขาที่มีบุคลิกแบบสู้ไม่ถอยกับงานหนัก การเลือกคนเหล่านี้ ยังทำให้พวกเขารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณและทุ่มเต็มที่กับร้าน การ Recuitment สำหรับ Ray จึงไม่ใช่แค่การหาคนเข้าทำงาน แต่ยังเป็นการหาวิธีควบคุมสาขาต่างๆ ให้เป็นไปตามกรอบที่เขากำหนดไว้ด้วย และต่อมา Ray ยังได้เพิ่มการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นเจ้าของที่ดินพื้นที่ตั้งของสาขา นั่นทำให้ Ray มีอำนาจเหนือสาขาอย่างสมบูรณ์ รวมถึงยังเป็นการลดทอนอำนาจของ 2 พี่น้อง McDonald ลง อย่างไรก็ตาม วิธีการต่างๆ ที่ Ray ใช้เพื่อให้ธุรกิจเติบโตในหลายๆ เรื่อง อาทิ การเปลี่ยนไอศกรีมเป็นผงมิลค์เชคเพื่อลดต้นทุน การดึงโฆษณามาใส่ไว้ในป้ายเมนู หรือการฉีกสัญญา ไม่รักษาสัจจะ ที่ทำให้ไว้กับ 2 พี่น้อง McDonald ก็ทำให้เกิดคำถามเรื่องจริยธรรมแต่ตัว Ray มากเหมือนกัน

 
 
Ray Kroc ถือเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง อย่างไรก็ตาม Ray ก็อาจไม่ใช่นักธุรกิจคนแรกๆ ที่หลายคนจะยกย่องหรือยึดเป็นแบบอย่าง Ray แตกต่างจาก Mark Zuckerberg หรือ Steve Jobs ตรงที่เขาไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท สิ่งที่เขาสร้างคือแนวทางขยายธุรกิจให้เติบโตเท่านั้น ประเด็นคือ ปัจจุบันนี้เรามีนักธุรกิจแบบ Ray Kroc มากเกินไป เรามีหลายคนที่อยากประสบความสำเร็จ อยากรวย จนพร้อมจะทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองรวย สนใจแต่ว่าจะทำยังไงให้รวย จนไม่สนใจว่าสินค้าและบริการที่ตัวเองต้องการขายจริงๆ คืออะไร 
 
และก็ปัญหาอีกเช่นกันที่เรามักพบว่า นักธุรกิจแบบ Ray Kroc มักจะเป็นผู้ชนะในวงการนี้เสมอ เช่นเดียวกับใน The Founder หลายคนมักบอกว่าทุนนิยมมันเหี้ย แต่สิ่งที่เหี้ยยิ่งกว่านั้นคือมันชนะตลอด และสุดท้ายเราก็ดูดกลืนเป็นส่วนหนึ่งของมัน อย่างเช่นดู The Founder จบแล้วรู้สึกเลิกอยากกิน McDonald’s ไปสักพัก แต่พอเห็นป้ายลด 50% เท่านั้นแหละ…อดใจไม่ได้จริงๆ  

Previous article[Review] Split – เมื่อ M. Night หลุดจากกับดัก “เจ้าพ่อหนังหักมุก” (Spoil)

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)