[Criticism] The Handmaiden – ความพ่ายแพ้ของบุรุษ และชัยชนะของอิสตรี (Spoil)

อื้อหือ…โอ้ว…ว้าว…เชร้ด…

นั่นคือความรู้สึกที่เกิดขึ้น ตลอดช่วงเวลา 2 ชั่วโมงเศษของการชม “The Handmaiden” ผลงานล่าสุดของ “ปาร์คชานวุค” ที่หลายคนอาจรู้จักเขาจากหนังพันธุ์โหดอย่าง “Oldboy” ซึ่งกลับมาทำหนังเกาหลีอีกครั้ง หลังจากผลงาน Go Hollywood อย่าง “Stoker” ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก และอาจเพราะเป็นการกลับมายังสถานที่คุ้นเคย รวมถึงการตกผลึกจากประสบการณ์ในวงการที่ผ่านมา นั่นทำให้ “The Handmaiden” ไม่ได้เพียงกลับมาเพียงแค่อย่างสมศักดิ์ศรีเท่านั้น แต่ยังกลับมาอย่าง “ยิ่งใหญ่” ด้วย

“The Handmaiden” เล่าเรื่องราวในเกาหลียุค 1930’s ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ญี่ปุ่นเข้ามีอิทธิพลในเกาหลีแล้ว “ซูคี” (คิมแทริ) ถูก “เคานต์ฟูจิรวาระ” (ฮาจองอู) ส่งให้ไปเป็นสาวใช้ในคฤหาสน์ของ “โคซูกิ” (โชจินอุง) เพื่อหวังให้เธอเป็นนางนกต่อสานสัมพันธ์รักระหว่างเขากับ “ฮิเดโกะ” (คิมมินฮี) หลานสาวของโคซูกิ ซึ่งถ้าสำเร็จนั่นหมายถึงทรัพย์สมบัติมหาศาลที่เคานต์ฟูจิวาระจะได้รับ รวมถึงส่วนแบ่งของซูคีด้วย

ความยอดเยี่ยมของ The Handmaiden ก็คือหนังมีส่วนผสมที่หลากหลาย ทั้งความเป็น Erotic, Thriller, Drama, Psychological, Romantic สอดแทรกไปด้วยประเด็นทั้งด้านสตรีนิยม เพศ ไปจนถึงชาตินิยม ซึ่งลำพังแค่การสร้างสรรค์หนังแนวใดแนวหนึ่งให้ออกมาดีก็ยากแล้ว แต่ The Handmaiden ทำได้ถึงในทุกส่วนผสมที่ตัวเองใส่ลงไป แล้วพอปรุงออกมาโดยรวมแล้ว มันยังเป็นหนังที่ดูสนุกมาก ทั้งจากมุขตลกร้ายที่แทรกเข้าไป และเรื่องราวที่พลิกไปพลิกมาจนคาดเดาไม่ถูก รวมไปถึงมันยังเป็นหนังที่ท้าทายสติปัญญา และก่อให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นต่างๆ ของหนัง ไม่ได้แบบดูจบแล้วก็จบเลย
 

Art

เริ่มที่เรื่องแรก สมมติเราไม่สนใจเนื้อเรื่องแล้ว แล้วคาดหวังแค่อยากดูหนังภาพสวยๆ องค์ประกอบงามๆ เรื่องหนึ่ง “The Handmaiden” ก็ตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างดี หนังเรื่องมีการถ่ายถอดภาพที่สวยงามมาก ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ เพราะฉากหลังของเรื่องมีทั้งความเป็นญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปผสมกัน กลายเป็นองค์ประกอบที่ดูแปลกๆ แต่เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ โทนสีที่มีความหม่นๆ หน่อยๆ ยิ่งเสริมความรู้สึกอึมครึม ไม่น่าไว้วางใจของตัวละคร ตลอดจนความอ้างว้างที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ของตัวละคร

ส่วนตัวอาจไม่ค่อยมีความรู้ด้านศิลปะมากนัก แต่ก็สัมผัสได้ว่า The Handmaiden เอาจริงเอาจังในเรื่องขององค์ประกอบภาพพอสมควร ทั้งการจัดวาง ตำแหน่งตัวละคร แสง สี คอสตูม ไปจนถึงการถ่ายทอดอารมณ์ของนักแสดง ทุกอย่างดูพอเหมาะพอเจาะ จนทำให้แต่ละฉากออกมาดูสวยงาน ขนาดว่าามารถ Capture ไปเป็น Wallpaper ได้ทั้งหมด และอย่างที่เกริ่นในย่อหน้าก่อน องค์ประกอบงานศิลป์พวกนี้ไม่ได้เพียงแต่ “สวยงาม” แต่ยัง “สื่อสาร” อารมณ์และเรื่องราวออกมาได้อย่างทรงพลังยิ่งขึ้นไปอีก

ไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะบอกว่าการได้ชม “The Handmaiden” ก็เหมือนการได้เสพงานศิลป์ชั้นยอดเรื่องหนึ่ง

แน่นอนความสวยงามในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้ 2 นักแสดงนำหญิง คิมแทริ และคิมมินฮี ด้วยเช่นกัน

Thriller

“Oldboy” อาจเป็นงานที่สร้างชื่อให้กับปาร์คชานวุค แต่ก็ไม่ใช่งานที่ดูสนุกนัก อย่างน้อยก็ในกรณีของตัวเอง แต่ในกรณีของ The Handmaiden นั้น ปาร์คชานวุคนั้นน่าจะตกผลึกแล้ว งานเรื่องนี้จึงมีความบันเทิงกว่า แบบที่ต่อให้เราไม่สนใจสัญลักษณ์หรือแนวคิดที่หนังพยายามสื่อกับเรา เราก็ยังสนุกไปเนื้อเรื่องได้ หนังดึงเราไว้ด้วยเนื้อเรื่อที่ซับซ้อน พลิกไปพลิกมา หักมุม 3-4 ชั้น ทำให้เราเกิดความสังสัยว่าเรื่องจริงๆ เป็นอย่างไร กว่าจะรู้ตัวเราก็ติดเรื่องนี้ไปแล้ว และต้องร้อง…เชร้ด…หลายรอบเมื่อหนังค่อยๆ เฉลยเรื่องราวแต่ละส่วนออกมา

แม้ว่าการหักมุมบางอย่างในเรื่อง ดูเหมือนจะถูกจัดวางอย่างจงใจไปบ้าง แต่เมื่อดูจนจบแล้ว มันเป็นหนังหักมุมที่ค่อนข้าง “เนียน” และ “เคลียร์” คือพอเฉลยแล้วทุกอย่างดูสมเหตุสมผล เพราะมีหนังแนวหักมุมหลายเรื่องเหมือนกัน ที่พยายามหลอกคนดูมากเกินไป จนสุดท้ายกลายเป็นตัวเองหลังหักเองแทน ที่ชอบอีกอย่างคือ ในขณะที่หนังหักมุมส่วนใหญ่มักหมดความน่าสนใจไป เมื่อเรารู้ตอนจบแล้ว แต่กับ The Handmaiden นั้นไม่ใช่ หนังเรื่องนี้ยังสามารถสร้างความรู้สึกอยากดูซ้ำอีก เพราะจุดสำคัญของเรื่องไม่ใช่ “ปลายทาง” หากแต่เป็น “ระหว่างทาง” ที่ถ่ายทอดให้เห็นว่า ตัวละครแต่ละตัวเดินไปถึงจุดของตัวเองในท้ายเรื่องได้อย่างไร

Nationalism

เป็นที่รู้กันว่า เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นนั้นไม่ถูกกัน อันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในอดีต ประกอบกับปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศยังเป็นคู่แข่งกันในหลายๆ ด้านอีก แน่นอนเราคงไม่มานั่งแก้ต่างให้กับการกระทำของทหารญี่ปุ่นต่อเกาหลีใต้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (และก่อนหน้านั้น) เพราะมันเกิดขึ้นจริงในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ในอีกทางหนึ่ง หลายครั้งก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า เกาหลีใต้ (รวมถึงจีน) เองต่างก็ไม่ยอมจบในเรื่องนี้ เห็นได้จากการผลิตสื่อออกมาสร้างตอกย้ำความโหดร้ายและสร้างความเกลียดชังต่อญี่ปุ่นอยู่เนืองๆ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม ดังนั้น เมื่อแรกเริ่มที่เห็น “The Handmaiden” เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีและญี่ปุ่น แม้จะเป็นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เลยคิดไปว่า หนังคงมาในมุมมองชาตินิยมแบบเดิมๆ จนกระทั่งได้ดูหนังจริงๆ ต้องแบบซูฮกผู้กำกับอยู่ในใจถึงความกล้าหาญในการนำเสนอเรื่องราวของ 2 ประเทศนี้ ในอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิม (มากทีเดียว)

แม้ว่า “The Handmaiden” จะยังคงแอบกัดญี่ปุ่นในเรื่อง ทั้งในเรื่องของความเจ้าเล่ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าอันใสซื่อ (ฮิเดโกะ) หรือความวิกลจริตของคนญี่ปุ่น (คุณป้าของฮิเดโกะ) แต่ที่ต่างออกไปคือ เรายังได้เห็นญี่ปุ่นในสถานะของผู้ถูกกระทำ ซึ่งถูกนำเสนอผ่านชีวิตของฮิเดโกะรวมถึงคุณป้าของเธอ ที่กระทำและจองจำทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในดินแดนเกาหลีที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าอาณานิคมขณะนั้น ความอึดอัดนี้จนทำให้ ฮิเดโกะ บอกกับซูคีประมาณว่า ที่เธอพูดเกาหลี เพราะ “เบื่อกับการเป็นญี่ปุ่นตลอดเวลา” คือค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่หนังเลือกนำเสนอญี่ปุ่นในลักษณะแบบนี้ โดยเฉพาะถ้าคิดว่าเราคือคนเกาหลี ที่มีทัศนคติว่าญี่ปุ่นในอดีตคือพวกโหดร้ายเลวทรามสุดมาโดยตลอด แน่นอนปาร์คชานวุค ไม่ได้ทำให้ญี่ปุ่นในเรื่องดูบริสุทธิ์หมดจด เพราะสุดท้ายแล้วฮิเดโกะนั่นแหละที่ร้ายกาจสุดในเรื่อง แต่มันทำให้เราเห็นด้านความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งดีและไม่ดีของตัวละครญี่ปุ่นนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเซอร์ไพรส์ไปกว่านั้น คือการนำเสนอเกาหลีในเรื่อง ที่แทบจะเป็นการตบหน้าความชาตินิยมของคนเกาหลีด้วยกันเอง ทั้งตัว “ซูคี” ที่ไม่ได้มีอุดมการณ์เพื่อชาติอะไรเลย เธอรับงานเป็นนางนกต่อในคฤหาสน์ญี่ปุ่น ไม่ใช่เพราะทนไม่ได้ที่ญี่ปุ่นมากดขี่ประเทศ ของเธอ แต่เพราะเธอหวังผลประโยชน์ที่จะได้จากภารกิจนี้ต่างหาก เพื่อที่สุดท้ายเธอจะได้หนีออกจากประเทศนี้ได้สักที และตบหน้าเกาหลีแรงขึ้นไปอีก เมื่อซูคีที่คิดว่าตัวเองฉลาดเก่งกาจมาตลอดนั้น แท้จริงกลับเป็นเพียงคนโง่ที่โดนคนอื่นหลอกใช้และหัวเราะเยอะอีกที แต่ที่เจ็บสุดคงไม่พ้นตัวละคร “เคานต์ฟูจิวาระ” กับ “คุณลุงโคซุกิ” ที่ชื่อเหมือนจะเป็นญี่ปุ่น หากแต่จริงๆ แล้วเป็นคนเกาหลีที่กระสันอยากเป็นญี่ปุ่น เพราะคิดว่าการเป็นญี่ปุ่นนั้นให้ประโยชน์กับพวกเขาได้มากกว่า แล้วความวิปริตกับเหตุการณ์เลวร้ายหลายอย่างดันเกิดจาก 2 ตัวละครนี้ด้วยสิ มันเหมือนปาร์คชานวุกกำลังประชดความคลั่งชาตินิยมของประเทศตัวเองปัจจุบันว่า เราทำเป็นคลั่งชาติ เกลียดญี่ปุ่นไปแบบนั้นแหละ ลึกๆ แล้วหลายคนอยากเป็นญี่ปุ่นต่างหาก

นี่ยังสงสัยว่า ถ้า The Handmaiden ไม่ได้สร้างโดยปาร์คชานวุก และไปสร้างชื่อในต่างชาติมา คนเกาหลีเองอาจจะโจมตีหนังเรื่องนี้หนักๆ ก็เป็นไปได้

ชอบที่สุดท้ายเหมือนจะบอกว่าเราว่า ความเป็นชาติมันไม่ได้สำคัญอะไรเลย ความอยากเป็นชาติต่างหากที่เป็นปัญหา (ในหนังคือความอยากเป็นญี่ปุ่น) สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือความรักต่างหาก ความรักระหว่างฮิเดโกะกับซูคีจึงมีความหมายมาก เพราะมันไม่ใช่แค่การก้าวข้ามขอบเขตเรื่องเพศ แต่ยังก้าวเรื่องชาตินิยมไปอีกด้วย

Feminist

นี่น่าจะเป็นประเด็นหลักของ The Handmaiden คือการแสดงให้เห็นถึงการล่มลายของโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ หรืออย่างน้อยก็คิดว่าตัวเองเป็นใหญ่ สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” ที่ผู้ชายในเรื่องต่างสำคัญตนว่า ตัวเองคือส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเธอ ไม่ว่าตัวเขาจะ “กดขี่” แค่ไหน สุดท้ายแล้วผู้หญิงก็จะต้องยอมรับ เพราะมีแต่ผู้ชายที่คุ้มครองพวกเธอได้ และลึกๆ แล้วเหล่าผู้ชายยังเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงนั้นมีความสุขสูงสุดเมื่อโดนกดขี่ โดยเฉพาะเรื่อง “เพศ” ที่ผู้ชายคือผู้สร้างความสุขให้กับผู้หญิง

“ฮิเดโกะ” เติบโตมาภายใต้การควบคุมของ “โคซูกิ” ผู้มีศักดิ์เป็นน้าเขยของเธอ ตั้งแต่เด็ก “ฮิเดโกะ” ถูกเคี่ยวเข็ญให้เป็น “คนอ่านหนังสือ” ที่ทำหน้าที่อ่านหนังสือให้เหล่าแขกของโคซูกิฟัง เพื่อจูงใจ/เสนอขายหนังสือเล่มนั้นๆ โคซูกิบอกกับฮิเคโกะว่าที่ทำไปก็เพื่อให้ตัวเธอนั้นอยู่กับร่องกับรอย เพราะเธอเองมีเชื้อ “บ้า” ที่สืบทอดมาจากตระกูลแม่เธอ อย่างไรก็ตาม หนังสือที่ฮิเดโกะต้องอ่านให้กับน้าเขยและแขกของเขาฟัง กับเป็นหนังสือ “ลามก” ที่เต็มไปด้วยฉากวาบหวิวไปจนถึงพิลึกลือลั่น ไม่ต่างอะไรกับการ Sex Phone แต่เป็น Sex Phone ที่คนฟังเห็นหน้าคนพูดอย่างชัดเจน แล้วบางทีคนพูดต้องแสดงท่าทางประกอบด้วย ซึ่งนั่นทำให้ฮิเดโกะมีสถานะเป็นวัตถุทางเพศ ให้พวกผู้ชายลวนลาม แม้จะเป็นแต่ในจินตนาการก็ตาม เพราะจินตนาการอาจเป็นพื้นที่สุดท้ายให้พวกผู้ชายในเรื่องซึ่งบางส่วนด้วยอายุ อาจหมดสมรรถภาพแล้ว หรือไม่ก็ด้วยสภาพหรือสถานะทางสังคมที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงอาการ “หื่น” ออกมาได้อย่างชัดเจนนัก อย่างน้อย การได้ลวนลามผู้หญิงทางความคิดและสายตา ก็ยังทำให้พวกเขาคิดว่าตัวเองยังยิ่งใหญ่อยู่

เช่นเดียวกันกับ “เคานต์ฟูจิวาระ” ผู้เข้าหาฮิเดโกะ และต้องการหลอกให้เธอหลงรัก เพื่อหวังสมบัติของเธอ แม้ในเวลาต่อมา เคานต์ฟูจิวาระจะเปลี่ยนแผน หันมาร่วมมือกับฮิเดโกะในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจแทน โดยใช้อิสรภาพที่ฮิเดโกะจะได้รับเป็นข้อแลกเปลี่ยน แต่ลึกๆ แล้ว เคานต์ฟูจิวาระยังเชื่อมั่นตนเองอยู่เสมอ ว่าสุดท้ายแล้ว ฮิเดโกะก็จะหลงรัก และยอมเป็นของเขา เพราะผู้หญิงอยู่ไม่ได้โดยไม่มีผู้ชายหรอกนะ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน The Handmaiden ทำลายความมั่นใจของเหล่าผู้ชายเหล่านี้ลงอย่างสิ้นเชิง

ทั้งฮิเดโกะทำให้โคซูกิรู้ว่า พวกเธอไม่ได้พึงพอใจกับการอยู่ใต้อาณัติของผู้ชายอย่างเขาอีกต่อไป และยังทำให้เคานต์ฟูจิวาระเข้าใจถ่องแท้ว่า อย่าสำคัญตัวเองผิดว่าตัวเขาคือพระผู้มาโปรดของเธอ เพราะทีจริงแล้วเคานต์ฟูจิวาระกเป็นเพียงแค่หนึ่งในแผนการของเธอและซูคี ในการไปสู่อิสรภาพเท่านั้น

และที่ตบหน้าเหล่าผู้ชายในเรื่องแรงยิ่งขึ้น คือการแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถที่จะสร้าง “ความสุข” ให้กับพวกเธอเองด้วยกันเอง ดังนั้น ความรักและความสัมพันธ์ระหว่าง “ฮิเดโกะ” กับ “ซูคี” ในเรื่อง ซึ่งรวมไปถึงฉาบวาบหวิวของทั้ง 2 จึงไม่ได้มีขึ้นเพื่อเป็นจุดขายของเรื่องเท่านั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถมีความสุขทาง “เพศ” และมอบความสุขนั้นให้กันและกันได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่ง “ลึงค์” แม้กระทั่งพื้นที่สุดท้ายของผู้ชาย ก็ยังกันออกไป นั่นรวมไปถึงบทพูดและสิ่งของหลายอย่าง อย่างเช่น “กระพรวน” ที่ตอนแรกมักถูกนำเสนอในฐานะสัญลักษณ์การกดขี่ทางเพศจากผู้ชาย แต่พอช่วงหลังถูกผู้หญิงในเรื่องเปลี่ยนความหมายให้กลายเป็นเครื่องมือสร้างความสุขของผู้หญิงด้วยกันเองแทน

แทบจะเป็นความพ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์ของโลกที่ชายเป็นใหญ่

Erotic

ทิ้งท้าย ด้วยอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือความ “Erotic” ในเรื่อง การทำหนังโดยแทรกฉากโป๊เปลือยนั้นไม่ยาก แต่การทำให้ดูแพง ดูมีคุณค่า ไม่ดูเป็นแค่การใส่เข้าไปเพื่อหวังขายของอย่างเดียวนั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่ง “The Handmaiden” ทำได้ แม้ฉาก Erotic ในเรื่องจะมีไม่มาก และทั้งหมดเป็นฉากระหว่างหญิง-หญิงด้วยกันเอง (เอ๊ะ หรือนั่นจะเป็นข้อดี) แต่ทุกฉากทุกตอนที่ออกมานั้นเต็มไปด้วยคุณภาพ สวยงามทั้งคนแสดงและมุมกล้อง ที่สำคัญยังเต็มไปด้วย “อารมณ์” มีทั้งความตื่นเต้น ความอยากรู้อยากเห็น ความเท่าเทียมเพราะมาจากเพศหญิงด้วยกัน ที่รวมๆ กันจนกลายเป็นแบบฉบับ “ความสุข” ของเธอ ความสุขที่สร้างเองได้โดยไม่ต้องมีผู้ชาย ฉาก Sex ในเรื่องจึงกลายเป็นฉากสำคัญที่ขับเน้นประเด็กหลักของเรื่องให้เห็นชัดเจนขึ้น

อันที่จริง แม้จะมีฉากโป๊เปลือยหลายฉาก แต่ฉาก Erotic ที่สุดในเรื่องกลับเป็นฉาก “มนฟัน” ที่แม้จะเห็นอะไรไม่มากนัก และตัวละครต่างตกอยู่ในความเงียบ แต่ยกให้เป็นฉาก Erotic ที่ดีสุดฉากหนึ่งไปเลย เพราะแค่สายตาของตัวละคร ก็สื่ออารมณ์ได้รุนแรงเหลือเกิน

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)