[Criticism] The Lobster – เป็นโสดทำไม อยู่ไปให้เศร้าเหงาทรวง (Spoil)

การโปรโมตของ “The Lobster” อาจชวนให้เข้าใจว่า เป็นหนังโรแมนติกสำหรับคนโสด ซึ่งถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะหนังเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนโสดเป็นหลัก แต่เรื่องโรแมนติกนี่ไม่แน่ใจ อย่างน้อยก็ไม่ใช่โรแมนติกในแบบที่เราคิดว่าจะได้จากหนังรักทั่วไปแน่ๆ อีกอย่างที่ควรรู้คือ แม้ “The Lobster” จะมีดารานำที่มีชื่อเสียง แต่ตัวหนังนั้นมาในแนวทางหนังนอกกระแส มีเนื้อหาที่แหวกแนว และการเดินเรื่องที่เต็มไปด้วยสัญญะต่างๆ มากมาย ถึงจะไม่ได้ดูยากถึงขั้นต้องหาบันไดมาปีนดู แต่ตัวหนังก็มีความเฉพาะกลุ่มอยู่มาก ขณะที่บางกลุ่มก็อาจง่วงเหงาหาวนอนกับเรื่องนี้ก็เป็นได้

“ณ ดินแดนแห่งหนึ่งในโลกอนาคต ความโสดกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม คนโสดไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะถูกส่งเข้า The Hotel เพื่อที่พวกเขาจะต้องใช้ 45 วันในโรงแรมแห่งนี้หาคู่ที่เหมาะสมกับตนให้ได้ หาไม่แล้วพวกเขาจะต้องกลายเป็นสัตว์ที่พวกเขาเลือก แต่ “David” (Colin Farrell) หนึ่งในคนโสดที่เลือกเป็นกุ้งล็อบสเตอร์ตัดสินใจหนีออกจากโรงแรมนี้ ซึ่งนำไปสู่การพบเจอกับอีกโลกหนึ่ง ที่อาจช่วยให้เขาเจอคนที่ใช่สักที”

พล็อตข้างต้นของ The Lobster เป็นพล็อตที่เหมือนจะแปลก แต่ก็น่าสนใจ ตั้งอยู่บนโลกเหนือจริง (Surreal) ที่ตัวหนังเองก็ไม่ได้สนใจจะอธิบายความเป็นได้ทางวิทยาศาสตร์ของมันเท่าไหร่ เพราะตลอดทั้งเรื่องหนังไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจน ว่าการกลายเป็นสัตว์นั้นมีที่มาอย่างไร และทำได้อย่างไร (มีแต่ตัวละครในเรื่องคาดเดากันไปเอง) แต่หนังก็สามารถสร้างความสมจริงในความ Surreal ของมันได้ จนเราไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรกับโลกแบบนี้ และถึงที่สุดแล้ว ประเด็นหลักของเรื่องไม่ได้อยู่ที่ว่า ตัวละครในเรื่องจะกลายเป็นสัตว์อะไร แต่คือการวิพากษ์ระบบการเลือกคู่ครองของคนในสังคมต่างหาก

โลกของคนมีคู่

“ทำไมมีคู่ถึงดีกว่าอยู่เป็นโสด” หากตอบคำถามนี้ในเชิงชีววิทยา ก็คงเพราะการจับคู่สร้างครอบครัวจะนำไปสู่การสืบพันธุ์เพื่อธำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อไป แต่นั่นไม่ใช่คำตอบสำหรับ “The Lobster” เพราะสังคมคนมีคู่ในเรื่องนี้ไม่ได้ต่อต้านเรื่องรักร่วมเพศ ดังนั้น เหตุผลเรื่องขยายเผ่าพันธุ์จึงตกไป หากแต่พวกเขาน่าจะมองการมีคู่ในเชิงของแนวคิด “ประโยชน์นิยม” (Utilitarianism) ที่ให้ความสำคัญกับ “ปริมาณ” ของประโยชน์ที่ “วัดได้” หรือ “สังเกตเห็นได้ชัด” ของการมีคู่ โดยเฉพาะการที่ต่างฝ่ายต่างสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายเพราะไปกันเป็นคู่ ซึ่งต่างจากคนโสด หากเป็นอะไรไปโดยไม่มีใครเห็น ก็เสี่ยงจะตายลงอย่างเงียบๆ ได้ นอกจากนี้ ยังอาจรวมไปถึงการประหยัดทรัพยากรในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้อีก เช่นกรณีห้องของคนมีคู่นั้นใหญ่กว่าห้องของคนโสด แต่การมีห้องคนมีคู่ 1 ห้องย่อมประหยัดกว่าการมีห้องของคนโสด 2 ห้อง

เพราะเป็นสังคมที่เชิดชูเรื่อง “ประโยชน์” เป็นหลัก ทำให้การมีจับคู่ใน “The Lobster” อยู่บนพื้นฐานของ “ความเหมาะสม” และ “ความเหมือน” ไม่ใช่ “ความรัก” พวกเขาเชื่อว่า คู่ที่เหมาะสมกันหรือมีอะไรเหมือนๆ กัน จะเข้าอกเข้าใจกันได้ง่าย และนำไปสู่การส่งเสริมพัฒนาอีกฝ่ายให้ดียิ่งขึ้นๆ ไปอีก กรณีนี้คล้ายๆ กับพล็อตละครน้ำเน่าส่วนใหญ่ ที่แม่พระเอกมักจับคู่พระเอกกับลูกสาวเพื่อนเศรษฐีด้วยกัน เพราะ “ความเหมาะสม” เพียงแต่ The Lobster ไปไกลกว่าตรงที่ไม่ใช่เพียงฐานะทางเศรษฐกิจที่ควรเหมือนกัน แต่รวมไปถึงลักษณะกายภาพ นิสัย และงานอดิเรกด้วย เช่น คนขากระเผลกก็ควรจับคู่กับคนขากระเผลกเหมือนกัน คนที่เลือดกำเดาไหลก็ควรจับคู่กับคนเลือดกำเดาไหลเหมือนกัน นักดนตรีควรจับคู่กับนักดนตรีด้วยกัน หรือคนที่มีนิสัยเย็นชาก็ควรจับคู่กับคนที่มีนิสัยลักษณะเดียวกัน

ปัญหาคือในสังคมที่เชิดชูการมีคู่และบังคับให้ทุกคนมีคู่เช่นนี้ กระทั่งคนโสดที่เป็นโสดเพราะเป็นม่ายก็ต้องหาคู่ใหม่แบบนี้ การจะได้คู่ที่มีลักษณะเหมาะสมกับเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะกับคนที่มีลักษณะเฉพาะอย่างมากๆ ดังนั้น บางคนจึงเลือกหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นๆ เพื่อที่จะให้เห็นว่า เขา “คู่ควร” กับอีกฝ่าย จะได้หลีกเลี่ยงการต้องกลายเป็นสัตว์ เห็นได้ชัดในกรณีของ “ชายขากระเผลก” (Ben Whishaw) ที่ไม่สามารถหาคู่ที่เป็นคนขากระเผลกเหมือนกันได้ จึงพุ่งเป้าไปที่ “สาวเลือดกำเดาไหล” (Jessica Barden) โดยเขาลงทุนเอาหน้าโขกกับสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะได้มีเลือดกำเดาไหลเหมือนเธอ หรือ “David” เองพยายามหลอกคนอื่น ว่าเขามีนิสัยเย็นชาและอำมหิต เพื่อที่จะได้เข้าหา “สาวไร้หัวใจ” (Angliki Papoulia) ได้ ซึ่งเขาอาจทำสำเร็จ แต่การมีคู่แบบนี้มันมาซึ่งความสุขจริงๆ หรือ

และเพราะเชิดชูการมีคู่ การเป็นโสดจึงถูกมองว่าสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังทำให้สิ้นเปลืองอีก จนกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายและน่ารักเกียจไป พวกเขามีสิทธิจะฆ่าคนโสดได้ ไม่ใช่เพราะเกลียด แต่เป็นการกำจัดของไร้ประโยชน์ รวมไปถึงการทำสิ่งต่างๆ ที่สื่อถึงความเป็นคนโสดด้วย อาทิ การช่วยตัวเอง ก็กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมเช่นนี้ (เราอาจเถียงได้ว่าในชีวิตจริงคนมีคู่ก็ช่วยตัวเองได้ แต่ตรรกะในหนังคือ ถ้ามีคู่แล้วก็ทำกับคู่ของตนได้ การช่วยตนเองจึงเป็นการปฏิเสธที่จะมีคู่ และเลือกที่จะมีความสุขด้วยมือตัวเองเพียงคนเดียว) ในส่วนนี้อาจวิเคราะห์การกลายเป็นสัตว์ได้ว่า เป็นการสร้างประโยชน์จากของไร้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เมื่อตอนเป็นคนไม่สามารถทำประโยชน์ได้ เป็นสัตว์ก็น่าจะดีกว่า แถมประหยัดเงินในการดูแลด้วย

โลกของคนโสด

เพราะความอึดอัดจากการต้องหลอกตัวเองเพื่อให้มีคู่ได้ และถูกจับได้ในที่สุด (ถูกเริ่มสงสัยตั้งแต่ตอนมี Sex กับสาวไร้หัวใจ ซึ่ง David แสดงอารมณ์มามากเกินไป ผิดวิสัยการคู่รักไร้อารมณ์) ทำให้ David จึงตัดสินใจหนีออกจาก The Hotel และมุ่งเข้าป่า สถานที่ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของ “คนโสด” ที่ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคมของคนมีคู่ โดยมี “หัวหน้าคนโสด” (Léa Seydoux) เป็นผู้นำ ณ ที่นี่ พวกเขาสามารถไม่ถูกบังคับให้ต้องหาคู่ แต่มีกฎห้ามมีความรักหรือจีบกันแทน

เช่นเดียวกับโลกของคนมีคู่ที่มีสัญญะเกี่ยวกับชีวิตคู่เต็มไปหมด ในป่าคนโสดก็เต็มไปด้วยสัญญะซึ่งสื่อถึงวิถีชีวิตของคนโสด ไม่ว่าจะเป็นการให้ช่วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่ห้ามมี Sex เพราะมันเป็นการจับคู่ แม้กระทั่งการกอด จูบปาก หรือเกาหลังให้กันก็เป็นสิ่งต้องห้าม (ยกเว้นเพื่อการแสดง) การทำทุกสิ่งด้วยตัวเองกลายเป็นแนวคิดหลักของคนโสดในป่านี้ แม้กระทั่งการขุดหลุมศพก็ต้องขุดเตรียมไว้เอง จะหวังให้คนอื่นขุดให้ไม่ได้ ขณะที่คนมีคู่ ถ้าใครคนหนึ่งตายก่อน อีกคนจะเป็นคนจัดการงานศพให้ และที่ตลกแต่จุกไม่น้อยก็คือ วัฒนธรรมการฟังเพลงจากหูฟังและเน้น EDM เท่านั้น มันเป็นสัญญะของคนโสด เพราะการฟังจากหูฟังคือการสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา เป็นโลกที่เราสามารถฟังได้เพียงคนเดียว ซึ่งต่างจากการเปิดลำโพงที่แชร์ให้ทุกคนได้ยินทั่วกัน (คาดว่าทุกคนคงเคยรู้สึกหลุดเข้าไปในโลกส่วนตัวเวลาฟังเพลงจากหูฟัง) ส่วน EDM นั้นก็เป็นแนวเพลงที่เน้นจังหวะดนตรีเป็นหลัก มักใช้เวลาเต้น ที่มุ่งเน้นความสนุกสนาน มากกว่าจะเน้นเนื้อหาของเพลงแบบแนวอื่นๆ ที่สุดท้ายมักจะเกี่ยวกับความรักเป็นหลัก

กลายเป็นว่า David หนีออกจากโลกสุดโต่งโลกหนึ่ง เข้าไปอยู่ในโลกสุดโต่งอีกโลกหนึ่งแทน หนังพลิกจากการกระแหนะกระแหนคนมีคู่ในครึ่งแรก กลายเป็นมาแซะคนโสดในครึ่งหลังแทน หนังทำให้คิดว่า ในปัจจุบันที่คนโสดหลายคนพยายามนำเสนอข้อดีของการเป็นโสดหรือขึ้นคานนั้น เป็นเพราะพวกเขารักในการเป็นโสดจริงๆ หรือแค่ต้องการปิดบังความผิดหวังที่ไม่สามารถหาคู่ได้ จนเกิดเป็นความรู้สึกต่อต้านการมีคู่ขึ้นมากันแน่ ในแง่นี้ไม่ว่าจะป่าคนโสดหรือ The Hotel ก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก พวกเขาต่าง “บังคับ” ให้คนเชื่อ ให้คนเป็นในแบบที่พวกเขาต้องการ โดยไม่สนใจความต้องการจริงๆ ของคนนั้น แน่นอนทั้ง 2 ที่ไม่สนใจเรื่อง “ความรัก” ด้วย

ปัญหาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ David กลับพบรักกับ “สาวสายตาสั้น” (Rachel Weisz) ในป่าคนโสดที่ห้ามคนมีความรัก David รู้สึกถึงความเหมาะสมและคล้ายคลึงกันระหว่างเขากับเธอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัย การเข้ากันได้ ที่สำคัญคือสายตาสั้นเหมือนกันด้วย ความสัมพันธ์ของพวกเขาพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เป็นความรักที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจไม่ได้บังคับ หรือต้องเปลี่ยนตัวเองแบบตอนใน The Hotel แต่ความลับไม่มีในโลก สุดท้ายแล้วความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ถูกเปิดเผยลง และนำมาซึ่งการตั้งคำถามเรื่องความรัก ความโสด การมีคู่ ต่อตัว David อีกครั้งหนึ่ง

โลกของ David

จุดที่จุกที่สุดคงไม่พ้นบทสรุปของเรื่อง เมื่อความลับถูกเปิดเผย สาวสายตาสั้นถูกทำให้กลายเป็นสาวตาบอด David ตัดสินใจหนีอีกครั้ง โดยพาสาวตาบอดไปด้วย เขาคิดว่าตัวเองรู้สึกรักเธอคนนี้จริงๆ และถึงขั้นที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเหมือนกัน แม้สุดท้ายหนังจะไม่สรุปชัดเจนว่า David ตาบอดตามด้วยหรือไม่ แต่มันก็เป็นหมัดฮุกกระแทกมายังคนดูอีกครั้งว่า “ตกลงเรารักใครสักคนเพราะอะไรกันแน่”

ไม่ว่า David จะหนีสักกี่คน แต่สิ่งหนึ่งที่ติดตัวเขาจนกลายเป็นความคิดพื้นฐานของเขาไปแล้วก็คือ “คนเราจะรักกันเพราะมีอะไรเหมือนกัน” เขารักสาวสายตาสั้น เพราะสายตาสั้นเหมือนกัน และหึงผู้ชายสายตาสั้นคนอื่น เพราะกลัวว่าจะเข้ามาแทนที่เขา ฉากที่ David เหลือกตาผู้ชายคนหนึ่งในป่าคนโสดเพื่อดูว่าเขาสายตาสั้นหรือไม่ สะท้อนความกลัวเรื่องนี้ของ David อย่างชัดเจน ที่ David ต่อต้านคือการถูกบังคับ แต่เขาไม่ต่อต้านเรื่องความเหมาะสม ถ้ามันเป็นความเหมาะสมที่เกิดจากความเข้ากันจริงๆ

คำถามคือ จำเป็นมั้ยที่เราต้องรักคนที่เหมือนกับเราตลอด เราสามารถที่จะรักคนที่มีลักษณะ นิสัย หรือความคิดแตกต่างไปจากเราได้หรือเปล่า มันอาจยากลำบากในช่วงแรก แต่เราก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้นิ ในชีวิตจริงมีตัวอย่างให้เห็นหลายกรณีที่คนที่เหมือนกันกลับอยู่กันไม่ยืด เพราะมันเหมือนกันจนเกิดความเบื่อหน่าย ตรงกันข้ามคู่ที่แตกต่างกันคนละขั้วกลับสามารถสร้างรสชาติให้ชีวิตและอยู่กันยืดกว่า (แต่เช่นเดียวกัน ก็มีหลายคู่ที่เหมือนกันและอยู่กันยืด และคู่คนละขั้นหลายคู่ก็ต้องแยกทางกันในที่สุด) สุดท้ายแล้วการที่ David ตัดสินใจจะทำให้ตัวเองตาบอด เพื่อที่จะได้เหมือนสาวคนรักของเขานั้น ก็บ่งบอกว่าเขาไม่เคยหนีได้พ้นจากกรอบความคิดเรื่องนี้เลย

ความชอบส่วนตัว: 9/10

 
 

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)