“นักวิจารณ์หนัง” ยังจำเป็นอยู่มั้ย?


“วิจารณ์แล้วทำหนังได้อย่างเขาหรือเปล่าละ?”

“ถ้าทำอาหารไม่เป็น ก็ไม่สิทธิวิจารณ์ว่าไม่อร่อยเหรอ?”

2 ประโยคนี้เป็นวิวาทะที่พบเห็นบ่อยในเวลาที่เกิดความเห็นไม่ลงรอยระหว่าง “คนดูหนังทั่วไป” กับ “นักวิจารณ์หนัง” ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดกับหนังฟอร์มยักษ์ที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายมหาชน (Mass) อย่างล่าสุดก็ “Transformers: Age of Extinction” ที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่สับเละและให้คะแนนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ก็มีคนดูอีกจำนวนมากเช่นกันที่รู้สึกสนุกกับหนัง และรายได้ตอนนี้ก็พุ่งสวนทางกับคำวิจารณ์ ความเห็นที่สวนทางทำให้บางคนมองนักวิจารณ์ในแง่ลบ และเริ่มตั้งคำถามถึง “ความจำเป็น” ของนักวิจารณ์หนัง?

ที่จริง…ทุกคนล้วนเป็นนักวิจารณ์ด้วยกันทั้งนั้น แค่เราบอกกับเพื่อนสั้นๆ ว่า “หนังเรื่องนั้นสนุกนะ” แค่นี้ก็ถือเป็นการวิจารณ์แล้ว แต่ที่ผ่านมาคำว่า “นักวิจารณ์หนัง” มักจะใช้กับคนที่คอยชี้ให้เห็นจุดเด่น จุดด้อยของหนัง โดยมีหลักการทางวิชาไว้อ้างอิง และสื่อสาร “บทวิจารณ์” นั้นออกมาเป็น “ประจำ” ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับสื่ออื่นๆ จะสังเกตว่า นักวิจารณ์หนังนั้นจะมีเยอะเป็นพิเศษ เพราะโดยลักษณะของหนังเองนั้นเอื้อต่อการวิจารณ์ และนักวิจารณ์หนังนั้นยังดูมีอิทธิพลมากกว่านักวิจารณ์สื่อบันเทิงประเภทอื่นๆ

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ “หนัง” นั้นไม่สั้นเกินไปเหมือนเพลง หรือยาวเกินไปแบบละคร ทำให้เป็นความยาวที่พอเหมาะสำหรับให้เขียนถึง สมมติเราอยากเป็นนักเขียน แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร การเขียนบทวิจารณ์หนังสามารถเป็นจุดเริ่มต้นการเขียนให้กับเราได้ นอกจากนึ้ หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของนักเขียน คือความต้องการให้งานเขียนของตนสามารถมีอิทธิพลต่อผู้อ่านหรือสังคมได้ ซึ่งการเขียนบทวิจารณ์หนังก็ตอบสนองตรงส่วนนั้น เพราะหนังยังเป็นความบันเทิงแบบ “เสียตังค์” ทำให้การตัดสินใจจะดูหนังเรื่องหนึ่งสำหรับบางคน จึงต้องคิดเยอะเป็นพิเศษ ตรงนี้นี่เองที่ทำให้นักวิจารณ์สามารถก้าวเข้ามามีอิทธิพลต่อคนดูได้ ประกอบกับปัจจุบันมีช่องทางให้สื่อสารบทวิจารณ์ออกไปได้หลายทาง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีนักวิจารณ์หนังเข้ามาในวงการนี้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความเห็นที่ขัดแย้งระหว่างนักวิจารณ์กับคนดูหนังทั่วไปเริ่มมีมากขึ้น เพราะมุมมองการดูหนังที่เริ่มแยกออกห่างกันเรื่อยๆ นักวิจารณ์หนังมักพัฒนามาจากนักดูหนัง ซึ่งนิยมชมชอบเข้าไปดูหนังในโรงเป็นประจำ ทำให้เรื่องราคาค่าตั๋วไม่ใช่ปัญหาสำหรับนักวิจารณ์ แม้ปัจจุบันมันจะแพงขึ้น แต่นักวิจารณ์เหล่านี้รับได้ เพราะความชอบในการดูหนังมีมากกว่า นี่ยังไม่รวมถึงนักวิจารณ์บางส่วนที่ได้สิทธิดูหนังฟรี ทำให้ไม่ต้องมากังวลใจกับเรื่องเงิน และพุ่งความสนใจไปที่คุณค่าทางศิลปะได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องบทที่ดูนักวิจารณ์หลายคนจะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ซึ่งเริ่มตรงกันข้ามกับคนดูหนังทั่วไป

ราคาตั๋วหนังปัจจุบันนั้นสูงขึ้นมาก และยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แฝงมาอีก (ค่าอาหาร ค่ารถ ฯลฯ) หลายคนทั้งปีอาจเข้าไปดูหนังในโรงเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น ดังนั้น พวกเขาจะคิดเยอะกว่าจะตัดสินใจเสียเงินดูหนังสักเรื่อง หนังทุนสูงเลยมักเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพราะคนจ่ายเงินมีความรู้สึกว่าคุ้มค่ากว่า นอกจากนี้ การที่ปัจจุบัน “การดูหนัง” ถูกเครือโรงหนังผลักดันให้กลายเป็น “กิจกรรมสังสรรค์” ระหว่างเพื่อน ระหว่างคู่รัก ระหว่างครอบครัว เป็นการพักผ่อนจากชีวิตประจำวันที่เครียดๆ กลุ่มคนทั่วไปเลยให้ความสำคัญกับ “ความบันเทิง” มากกว่าเป็นพิเศษ หนังอาจไม่ต้องมีบทที่ซับซ้อน แต่เป็นหนังที่ทำให้เราและเพื่อนๆ สนุก ตื่นเต้น หัวเราะไปกับมันร่วมกันได้ หรือถ้าเป็นหนังสยองขวัญก็ต้องทำให้แฟนเกาะแขนเราให้ได้

พอมุมมองการดูหนังเริ่มสวนทางกันแบบนี้ ก็ไม่แปลกที่คนดูหนังบางส่วนจะประกาศเลิกเชื่อนักวิจารณ์หนัง และหันไปเชื่อ “เพื่อน” หรือคนรู้จักที่มี Lifestyle แบบเดียวกันแทน เพราะคิดว่าถ้าเขาดูสนุก เราซึ่งมีรสนิยมใกล้เคียงกันก็น่าจะดูสนุกด้วยเช่นกัน อีกทั้งคำวิจารณ์จากเพื่อนก็มักตรงประเด็น คือบอกแค่ว่าสนุกหรือไม่สนุก มันส์หรือไม่มันส์ ไม่ต้องไปอธิบายเจาะลึกอะไรให้ยืดยาวแบบนักวิจารณ์หนัง จะอ่านบทวิจารณ์จริงๆ ก็หลังจากดูหนังเสร็จแล้ว และเป็นการอ่านมาเพื่อยืนยันความคิดตัวเองมากกว่า ดังนั้น พอเจอบทวิจารณ์ที่สวนทางกับความคิดของตน แต่ละคนก็จะมีกลไกในการป้องกันตัวเอง ที่จะยืนยันว่าตัวเองคิดถูกอยู่ บางคนอาจปล่อยผ่าน แต่บางคนก็จะเกิดภาพลบกับนักวิจารณ์คนนั้นและกลายเป็นการโต้เถียงขึ้นมา ยิ่งนักวิจารณ์บางส่วนก็มีกลไกป้องกันบทวิจารณ์ตัวเองเช่นกัน สุดท้ายก็เถียงกันไปกันมาไม่จบไม่สิ้น

ทั้งหมดทั้งมวลจึงเริ่มต้นจากมุมมองและวัตถุประสงค์การดูที่ไม่เหมือนกัน แต่ดูเหมือนทั้ง 2 ฝ่ายไม่ค่อยตระหนักถึงความแตกต่างนี้เท่าไหร่ ถ้าจะให้ปัญหาการโต้เถียงนี้ลดลง ต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้กันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องวิจารณ์เอาใจคนอ่าน แต่แค่ให้ต่างฝ่ายเข้าใจเหตุผลของกันและกันก็พอ กลุ่มคนดูทั่วไปต้องยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิวิจารณ์ และนักวิจารณ์หนังก็มีสิทธิวิจารณ์ในแบบของเขาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำหนังเป็น หรือไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกับเราไปซะหมด เพราะความเห็นแตกต่างกันได้ และนักวิจารณ์ก็ไม่ได้มีเจตนาทำลายหนังไปเสียทุกคน และอุตสาหกรรมหนังก็ยังจำเป็นต้องมีนักวิจารณ์อยู่ อย่างน้อยสำหรับหนังทุนไม่สูง ไม่มีฐานแฟนคลับของตัวเอง หรือนอกกระแส ความเห็นของนักวิจารณ์อาจมีผลชี้เป็นชี้ตายหนังเรื่องนั้นได้เลย

ส่วนนักวิจารณ์ก็ต้องเข้าใจเป้าหมายการดูหนังของคนทั่วไปด้วย ไม่ใช่ทุกคนที่จะดูเอาบทแบบนักวิจารณ์ การที่เขาชอบหนังไม่เหมือนเรา ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีรสนิยมเท่าเรา เรามีสิทธิจะบอกว่าอาหารอร่อยหรือไม่อร่อยได้ โดยที่ไม่ต้องทำอาหารเป็น แต่ถ้าสมมติไปซื้อข้าวราดแกงริมถนน แต่คาดหวังความอร่อยและบริการระดับโรงแรม 5 ดาว พอได้ไม่ถึงก็บอกว่าห่วย อันนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งที่ไม่รู้นักวิจารณ์หนังเป็นกันทุกคนหรือป่าว แต่ที่แน่ๆ ส่วนตัวเคยเป็น คือพอวิจารณ์ไปสักพักจะเริ่มดูหนังไม่สนุก อาจเพราะดูหนังเยอะ จนเริ่ม “คาดหวัง” อะไรที่มันมากขึ้น จนบางทีมันมากเกินไป ยังไม่รวมกับบางครั้งเราเองก็พยายามวิเคราะห์วิจารณ์หาจุดเด่นจุดอ่อนเกินไป จนทำให้มันมาบดบังความสนุกที่จะได้จากตัวหนัง การหาข้อเด่นข้อด้อยไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นเรื่องที่ควรกระทำสำหรับนักวิจารณ์ แต่บางทีเราก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับข้อด้อยมากเกินไป ถ้าข้อดีมันโดดเด่นเราก็ทำเป็นไม่สนใจข้อด้อยไปชั่วขณะก็ได้ น่าจะทำให้เราดูหนังได้สนุกขึ้น และอาจเป็นหนทางในการเชื่อมสะพานความเข้าใจระหว่างนักวิจารณ์หนังกับคนดูทั่วไปเข้าด้วยกัน

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)