[Review] 12 Years a Slave – ‘คนขาว’ ผู้น่าสงสาร

อาจจะสงสัยว่า ชื่อเรื่องผิดหรือป่าว ทำไมถึงเป็น ‘คนขาว’ ผู้น่าสงสาร ทั้งที่ตัวหนัง 12 Years a Slave น่าจะเป็นคนผิวสีที่ถูกจับไปเป็นทางต่างหากที่น่าสงสาร เข้าใจถูกแล้วแหละครับ บทวิจารณ์ชิ้นนี้จงใจใช้คำว่า ‘คนขาว’ เพราะท่ามกลางหนังทาสและหนังต่อสู้เพื่อคนผิวสีที่ทำออกมาหลายเรื่องในช่วงรอบปีที่ผ่านมายังกับนัดไว้ จุดเด่นของ 12 Years a Slave ก็คือนอกเหนือจะยังทำให้เราหดหู่ไปกับชะตากรรมของคนผิวสีแล้ว ยังทำให้เรารู้สึก “สงสาร” เหล่าคนขาวผู้กดขี่ในเรื่องด้วย

แกนหลักของ 12 Years a Slave จับเอาสังคมอเมริกายุค 1840 ยุคที่ทาสยังเป็นสิ่งถูกกฎหมายและใช้กันอย่างแพร่หลายในรัฐฝ่ายใต้ ตัวเอกของเรื่อง “Solomon Northup” (Chiwetel Ejiofor) เป็นนักไวโอลินผิวสีที่เกิดมาเป็น “ไท” และใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในรัฐฝ่ายเหนือ แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็โดนลักพาตัว จับไปขายเป็นทาสในรัฐฝ่ายใต้ และที่นั่น Solomon ได้ชื่อใหม่ว่า “Platt”

เช่นเดียวหนังแนวเหยียดสีผิวเรื่องอื่นๆ 12 Years a Slave แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของระบบทาสและอคติด้านสีผิว แต่ที่โดดเด่นคือ นอกจากความโหดร้ายที่แสดงอย่างรูปธรรมอย่างการเฆี่ยนตี การด่าทอ หรือการทำร้ายร่างกายแล้ว หนังเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นความโหดร้ายในแง่จิตใจที่คนไม่มองว่าคนที่มีผิวสีต่างจากเรานั้นเท่าเทียมกับเรา น่าเศร้าใจว่าแม้แต่ในมุมมองของทาสเอง ก็ไม่มองว่าเขานั้นจะเท่ากับนายทาส ฉากที่ Solomon โดนจับแขวนคอและต้องเขย่งขาแตะพื้นไม่ให้ขาดอากาศหายใจนั้นเป็นฉากที่น่าสะเทือนใจที่สุดในเรื่อง ไม่ใช่แค่สะเทือนใจในชะตากรรมของ Solomon แต่สะเทือนใจที่ทาสคนอื่นกลับยังใช้ชีวิตอย่างปกติ เด็กๆ ก็ยังคงเล่นกัน ทั้งที่มีคนถูกจับยืนแขวนคออยู่ข้างๆ บ้านแท้ 

12 Years a Slave ทำให้เราเข้าถึงคำกล่าวที่ว่า ทาสมีค่าไม่ต่างไปจากสัตว์ ต่อให้นายทาสจะเมตตาและชื่นชอบทาสบางคนขนาดไหน ก็เป็นเพียงแค่ความชื่นชอบในฐานะเจ้านายกับสัตว์เลี้ยงเท่านั้น หาใช่ความชื่นชมในฐานะคนผู้เท่าเทียมกัน คติความเชื่อและสภาพแวดล้อมที่อยู่เบื้องหลังมุมมองนี่นี่เอง ที่โหดร้ายเสียยิ่งกว่าความรุนแรงภายนอกที่เห็นได้ชัดอย่างการเฆี่ยนตีเสียอีก เพราะเมื่อมันฝังหัวเข้าไปแล้ว จะเอาออกก็ยาก และเป็นที่มาของพฤติกรรมความรุนแรงต่างๆ การมุ่งขับเน้นประเด็นนี้นี่เองทำให้ในแง่หนึ่งนอกจาก 12 Years a Slave จะทำให้เราสงสารทาสแล้ว คนขาวภายในเรื่องก็น่าสงสารไม่แพ้กัน เป็นความสงสารที่พวกเขาเหล่านั้นติดอยู่กับความเชื่อวัฒนธรรมแบบนั้นจะมองไม่เห็นความเป็นคนของทาส

ลองคิดย้อนดู หากเราไปเกิดในรัฐฝ่ายใต้สมัยนั้น เราจะเป็นอย่างไร เราจะเป็นมนุษย์เพื่อเชื่อมั่นในความเท่าเทียม หรือเอาเข้าจริงเราก็อาจกลายเป็นนายทาสอีกคนหนึ่งก็ได้ เพราะสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันได้หล่อหลอมให้เรากลายเป็นคนเช่นนั้นไปเสียแล้ว มันง่ายที่เราจะบอกว่า คนขาวนั้นชั่วร้าย แต่ที่ควรสนใจกว่านั้นคือเขาชั่วร้ายด้วยตัวเขาเอง หรือสังคมทำให้เขาชั่วร้าย ในช่วงระยะเวลา 12 ปีที่เป็นทาส Solomon ได้พบกับคนขาวหลายคน มีทั้งคนที่จิตใจดีอย่างนายทาสคนแรก “William Ford” (Benedict Cumberbatch) หรือคนที่อารมณ์รุนแรงอย่าง “Edwin Epps” (Michael Fassbender) แต่ไม่ว่าคนไหนพวกเขาก็เชื่อในความไม่เท่าเทียมเหมือนกัน จะมีต่างบ้างก็คือ “Bass” (Brad Pitt) แต่เขาก็เป็นคนขาวจากแคนาดา ไม่ใช่คนขาวในรัฐฝ่ายใต้

ในบรรดาคนขาวทั้งหมดในเรื่อง Edwin Epps คือคนขาวผู้น่าสงสารที่สุด เราอาจมองว่าเขาคือนายทาส

ผู้ชั่วร้าย แต่ในอีกมุมหนึ่ง Edwin ก็น่าสงสารเพราะไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่มีต่อ “Patsey” (Lupita Nyong’o) ทาสสาวในไร่ฝ่ายของเขาได้ และด้วยสังคมที่บอกไว้ว่าคนขาวคือผู้เหนือกว่า การแสดงความเห็นใจต่อคนผิวสีจึงเป็นเสมือนการผิดเกียรติของคนขาว และ Edwin ก็อ่อนแอเกินจะต้านกระแสเหล่านั้น จึงต้องเลือกแสดงออกด้วยความรุนแรง ซึ่งก็นับปรบมือให้กับ Michael Fassbender ที่แสดงบทนี้ได้ทั้งโหดร้ายและน่าสงสารในขณะเดียวกัน แถมการแสดงของเขายังดูโดดเด่นกว่าตัวเอกอย่าง Chiwetel Ejiofor เสียอีก

ชื่อ 12 Years a Slave นั้นค่อนข้าง Spoil ในตัวอยู่แล้วว่า Solomon ถูกจับเป็นทาสมา 12 ปี แต่เอาเข้าจริงในหนังใช้วิธีดำเนินเรื่องแบบไม่ให้รู้วันเวลาว่าผ่านไปกี่ปี ซึ่งยิ่งเสริมความหดหูเข้าไปอีก เพราะมันสื่อถึงว่านานจนไม่รู้วันเวลา กว่าจะรู้ว่า 12 ปีก็ตอนออกมานั่นแหละ จริงๆ 12 Years a Slave เป็นหนังที่พยายามไม่เดินเรื่องให้ดูหดหู่ หลายฉากที่ถ้าเป็นเรื่องอื่นคงเลือกที่จะบีบค้นให้เศร้าไปอีก แต่เรื่องนี้เลือกที่ตัดไปที่ฉากอื่นแทน แต่ถึงขนาดไม่เน้นการบีบคั้น โดยรวม 12 Years a Slave ก็ยังคงเป็นหนังทาสที่ดูหดหู่อยู่ดี อาจเพราะการตอกย้ำประเด็นแนวคิดเรื่องทาสในเรื่องที่หดหู่ด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว 

จะมีน่าเสียดายหน่อยก็ตรงครึ่งหลังของเรื่อง ที่หนังเริ่มหมดพลังในการเล่าเรื่อง จนทำให้เรื่องเริ่มอืด ดีที่ยังได้การแสดงของนักแสดงในเรื่องโดยเฉพาะ Michael มาช่วยไว้ได้ ส่วนตอนจบของเรื่องแม้จะดูรวบรัดและง่ายไปนิด แต่ก็ถือว่าโอเค เพราะแก่นหลักอาจไม่ใช่การชี้ให้เห็นว่า Solomon ออกมาได้ยังไง แต่เป็นการสะท้อนความชั่วร้ายของระบบทาสว่าทำร้ายทั้งคนผิวสีและคนผิวขาวไว้อย่างไร

ความชอบส่วนตัว: 8/10

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)