[Review] App War – บันทึกชีวิตคน Gen C

“Startup” 90% คือเจ๊ง อีก 8% ยังดิ้นรน แต่ Startup ก็ยังเป็นธุรกิจในฝันของคนรุ่นใหม่หลายคน เพราะ 2% ที่รอดนั้น “โคตรรวย” การทำ Startup จึงเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ “App War” เกริ่นขึ้นมาในช่วงแรกของหนัง เพื่อบ่งบอกว่าหนังเรื่องนี้จะพูดถึงเกี่ยวกับทำธุรกิจ Startup ซึ่งว่าไปแล้ว “App War” ก็ไม่ต่างจาก Startup อันหนึ่ง เพราะการทำหนังที่เนื้อหาแตกต่าง เน้นนักแสดงหน้าใหม่ โดยค่ายที่ไม่ใช่เจ้าตลาด ในยุคที่หนังไทยกำลังซบเซา มันเป็นความคิดที่ “เสี่ยง” อย่างยิ่ง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เราลุ้นให้มันกลายเป็น 2% ที่ประสบความสำเร็จ เพราะผลที่ออกมานั้นคือดี อาจไม่ได้พีคสุด แต่สัมผัสได้ว่า คนทำหนังเรื่องนี้ไม่ตั้งใจจะทำแค่ “เล่นๆ” เท่านั้น

“App War” มีแกนหลักของเรื่องเป็นการขับเคี่ยวของคนหนุ่มสาว 2 กลุ่ม ผู้พัฒนา Application “Inviter” และ “Amjoin” 2 App ที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาด ด้วยคอนเซปท์การสร้างพื้นที่รวมกลุ่มสำหรับคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยการแข่งขันครั้งนี้ มีเป้าหมายสูงสุดคือ การคว้าเงินทุนจากนักลงทุน Starup เพื่อเอามาพัฒนาต่อยอด App มุ่งสู่ระดับ Series A ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้ Startup กลายเป็นธุรกิจที่ชัดเจน มี Business Model เพื่อการหารายได้ที่เด่นชัด โดย Startup ใน Series A จะใช้เงินลงทุนตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท

เสริมนิดนึง – แม้ปัจจุบันไทยจะให้การส่งเสริม Startup มากขึ้น แต่สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง บ้านเรายังไม่มี Startup ที่มูลค่าเกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ ในขณะที่มาเลเซียมี Grab ที่มูลค่าสูงถึง 6 พันล้านเหรียญฯ และเข้ามายึดครองตลาดในไทยแล้ว อินโดนีเซียก็มี Startup เด่นๆ อย่าง Traveloka ที่ตอนนี้ไประดับโลกแล้ว

เพื่อให้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ ทั้ง Inviter และ Amjoin ต่างก็ต้องทำทุกวิถีทาง ทั้งทางสว่างและทางมืด ที่รวมไปถึงการส่ง Spy เข้าไปสืบข่าวฝั่งตรงข้าม แต่ในขณะที่การแข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ของ “บอมบ์” (ณัฏฐ์ กิจจริต) โปรแกรมเมอร์ทีม Inviter กับ “จูน” (วริศรา ยู) มาร์เก็ตติ้งทีม Amjoin ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเช่นกัน

ในแง่ธุรกิจ “App War” ไม่ได้พีคขนาดนั้น (แต่ก็ถือว่าลึกสำหรับคนที่ไม่ได้สนใจธุรกิจ Startup เลย) แม้หนังจะมีเรื่องธุรกิจ Startup เป็นพื้นฐาน แต่การขับเคี่ยวทางธุรกิจก็ยังไม่ดุเดือดเท่าหนังธุรกิจโดยตรง อย่างหนึ่งเลยก็คือในขณะที่หนังพยายามบ่งบอกข้อแตกต่างระหว่าง Inviter กับ Amjoin ว่า App แรกเด่นเรื่องการใช้งาน แต่ App หลังเด่นเรื่อง Interface กับแผนธุรกิจ กระนั้นทั้งเรื่องเราก็ไม่ได้รู้ว่า ไอ้แผนธุรกิจของ Amjoin ที่ว่าดีกว่านั้น มันคืออะไร ตัว Interface ของ Inviter ที่หนังบอกว่าน่าเบื่อนั้น จริงๆ เราก็ว่าไม่ได้น่าเบื่อขนาดนั้น หรือเพราะหนังยังไม่โชว์วิธีการใช้งาน App ทั้งสองให้เรารับรู้ได้มากเพียงพอ (เสริม – ใครสนใจหนังธุรกิจที่พีคขั้นสุดแนะนำ The Founder หนังเกี่ยวกับธุรกิจ McDonald)

แม้ในแง่เกมธุรกิจอาจไม่พีคเท่าที่คาด แต่จุดที่โดดเด่นสุด และเราคิดว่าเป็นจุดที่ผู้กำกับอยากนำเสนอมากสุดก็คือ การถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ วิธีคิด วิธีการทำงาน วิธีการมองโลกของคนยุคใหม่ หรือเจาะจงไปกว่านั้นคือกลุ่มคนที่เรียกว่า “Gen C” (Connected Generation) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ ทั้งการสร้างและเสพ Content โดย Gen C จะต่างจาก Gen อื่น ตรงที่เป็นการจำแนกกลุ่มโดยใช้เกณฑ์พฤติกรรมเป็นตัวนำ ขณะที่ Gen อื่นเช่น X Y Z จะใช้เกณฑ์อายุเป็นตัวแบ่ง อย่างไรก็ตาม คน Gen C ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนอายุต่ำกว่า 35 ปี

ใน “App War” เราจะได้เห็นการใช้ชีวิตของคน Gen C ที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นอวัยวะหนึ่งในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน ยังทำให้คน Gen C มีแนวโน้มที่จะเสพ Content ที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น มีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้นปิดตัวเองจากสังคม อย่างเช่น “บอมบ์” ที่ก็มีเพื่อน มีสังคมของตัวเองอยู่ แต่บอมบ์ก็มีความชอบบางอย่าง ที่แตกต่างจากเพื่อนคนอื่น เช่น ชอบกินอาหารอินเดียอยู่คนเดียว ถ้าเป็นเมื่อก่อนถึงชอบก็คงไม่ได้กิน เพราะเพื่อนไม่ไปด้วย แต่เดี๋ยวนี้ เพื่อนไม่ไป กรุไปคนเดียวก็ได้วะ เราเลยชอบคอนเซปท์การเกิดขึ้นของ Inviter และ Amjoin ในเรื่อง ที่เป็นการหาพื้นที่คนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันให้มารวมตัวกัน เป็นความสัมพันธ์ที่มีรสนิยมส่วนตัวเป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งจะแตกต่างจากความเป็นเพื่อนแบบเดิมๆ ที่มักมีจุดเริ่มต้นจาก “Space” เช่น เรียนที่เดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน

เพราะ Gen C อยู่ในยุคออนไลน์ที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความรวดเร็ว การทำ Startup ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว การเป็นเจ้านายตัวเอง การมีไลฟ์สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความใฝ่ฝันของคน Gen นี้ ซึ่งมันจะแตกต่างกับวิธีคิดแบบคนยุคก่อนที่ให้ความสำคัญกับงานประจำ คอยไต่เต้าไปเรื่อยๆ เก็บเงินออม แล้วไปใช้เงินหาความสุขตอนแก่ แต่ก็ใช่ว่าวิธีคิดแบบยุคก่อนจะผิดนะ เอาเข้าจริง คน Gen C ที่ล้มเหลวในการจะเป็นนายตัวเอง หลายคนก็เลือกจะเบนเข็มไปทางงานประจำที่พวกเขาเคยดูถูกก็ได้นะ เพราะเวลาทุ่มเทสิ่งหนึ่งมากๆ แล้วไม่ได้ดังหวังมันเจ็บปวดเหมือนกัน

ตรงนี้ทำให้เราเอนเอียงไปในทางชอบตอนจบของหนัง ขณะที่หลายคนมองว่าเป็นจุดอ่อนเพราะพยายามบิดเรื่องให้เข้าสู่สูตรสำเร็จเกินไป (Spoil เลยละกัน.. ช่วงท้ายเรื่อง บอมบ์ลาออกจาก Inviter เพราะ App เปลี่ยนคอนเซปท์ไปไกล ขณะที่จูนก็เลิก Amjoin ไปทำงานประจำเป็นพนักงานออฟฟิศแทน) เราชอบตรงที่มันแสดงให้เห็นมุมของคน 90% ที่ล้มเหลวกับการทำ Startup อะ แต่อย่างน้อยช่วงเวลาที่ทำ Startup มันก็มีสิ่งที่น่าจดจำอยู่ คือทำให้ทั้ง 2 คนได้พบกัน นั่นเอง

อีกอย่างที่ชอบมากใน App War คือบทของ “ไต๋” (สิราษฎร์ อินทรโชติ) กราฟฟิกดีไซเนอร์ของ Inviter กับ “มายด์” (พัศชนันท์ เจียจิรโชติ) นักศึกษาฝึกงานของ Amjoin ไม่ได้ชอบเพราะเป็นอร BNK48 เอาเข้าจริง การแสดงของอร โดยเฉพาะในฉากดราม่ายังไม่ค่อยดีนักด้วย (แต่ฉากโชว์น่ารักนี่เล่นเอาเกือบตาย) ที่ชอบคือ 2 คนนี้ คือตัวละครที่ต้องเข้าไปเป็น Spy ในบริษัทคู่แข่ง ซึ่งทั้ง 2 คนมีปมว่าบริษัทเดิมนั้น ไม่ได้เห็นคุณค่าศักยภาพที่แท้จริงของพวกเขาเท่าไหร่ ขณะที่บริษัทที่พวกเขาเข้าไปเป็น Spy กลับเปิดโอกาสให้พวกเขาโชว์ความสามารถที่แท้จริงมากกว่า

“ไต๋” เป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ของ Inviter แต่ที่ผ่านมาเขาแทบไม่มีสิทธิออกเสียงในเรื่องดีไซน์เลย ความคิดของเขามักโดนบอมบ์ปัดตกตลอด และเป็นการปัดตกที่บอกแค่ว่า “ไม่ดีพอ” “ไม่เอา” แต่ไม่ได้บอกหรือให้คำแนะนำว่าควรทำประมาณไหน อยากได้ประมาณไหน คือในมุมคนทำงาน เจอแบบนี้บ่อยๆ มันก็เสียกำลังใจนะ อารมณ์แบบ กรุต้องทำยังไงถึงจะพอใจ ขณะที่ฝั่ง “มายด์” ตอนอยู่ Amjoin ก็เหมือนจะถูกมองเป็นแค่นักศึกษาโมเอะ แอ๊บแบ๊ว ทำตัวน่ารักไปวันๆ (บทมีความทับซ้อนกับที่หลายคนมองอร BNK48 นะ น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อรแคสท์บทนี้ได้) แต่พอมาที่ Inviter มายด์ถึงได้โชว์สิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ นั่นคือการเป็น PR ซึ่งมันมีอะไรมากกว่าแค่การทำตัวสวยๆ น่ารักๆ ทั้ง “ไต๋” และ “มายด์” จึงเป็นตัวแทนคนทำงานในยุคนี้ (จริงๆ ก็ทุกยุค) ว่าบางทีในการทำงาน เงินเดือนมันก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้รับการยอมรับในศักยภาพของพวกเขาจริงๆ หรอก

เกี่ยวกับการทำงาน App War ยังพยายามแสดงให้เห็นวิธีการทำงานที่แตกต่างของผู้ชายกับผู้หญิง โดย Inviter จะมีความเป็นผู้ชายมากกว่า ขณะที่ Amjoin ก็จะสไตล์ผู้หญิง ซึ่งสิ่งที่หนังอยากจะเสนอจริงๆ คือสุดท้ายมันไม่มีใครดีกว่าใคร มันต้องมีความเป็นผู้ชายและผู้หญิงรวมกันถึงจะดีที่สุด น่าเสียดายหน่อยตรงที่อุตส่าห์ปูมาแบบนี้ แต่สุดท้ายหนังก็เน้นเรื่องราวใน Inviter มากกว่า หนังพาเราไปรู้จักกับ Amjoin น้อยเกินไป รวมถึงการสร้างสถานการณ์ที่ทำให้ Amjoin นั้นดูเป็น “คนเลว” ซึ่งทำให้สมดุลการแข่งขันระหว่าง 2 ทีมนี้เสียไปเลย

โดยรวมแล้ว “App War” เป็นหนังที่ดูสนุก Production ระดับดีเลย อาจไม่ได้ลงลึกเรื่องธุรกิจขั้นสุด แต่ก็มีอะไรหลายอย่างให้เก็บไปคิด โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิตคน Gen C แค่กล้าทำหนังสไตล์นี้ออกมาก็น่านับถือละ ถึงรู้ว่าจะยาก แต่ก็อยากให้เป็น 2% ที่ประสบความสำเร็จนะ

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)