[Review] Attack on Titan: End of the World – ใหญ่กว่าไททันก็คือการเล่นใหญ่ของพวกพี่นี่แหละ (Spoil)

“Attack on Titan Part. 1” เข้าฉายไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน และจบลงไปด้วยความไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ คอมังงะอาจรู้สึกผิดหวังที่หนังเปลี่ยนจากต้นฉบับไปเยอะ แต่ต่อให้ไม่เคยอ่านไม่เคยดูต้นฉบับมาเลย Attack on Titan ฉบับหนังก็ยังน่าผิดหวังอยู่ดี เพราะหนังไม่สามารถทำให้เราเชื่อในแรงจูงใจของตัวละครได้เลย แถมยังเต็มไปด้วยไร้เหตุผล บวกกับการเล่นใหญ่ของนักแสดง ทำให้แทบทุกอย่างดูน่ารำคาญไปหมด

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการที่ภาคแรกมันไม่ค่อยดีก็คือ ทำให้เราไม่ไปคาดหวังกับภาค 2 มากนัก เพราะมันคงไม่ย่ำแย่ไปกว่าเดิมแล้วละ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น “Attack on Titan: End of the World” มีหลายอย่างที่ดูดีกว่าภาคแรก แม้ว่าสุดท้ายมันจะไม่ได้ดีเด่นสุดๆ และยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มน่าผิดหวังเหมือนกันก็ตาม

ส่วนดีของภาคนี้คือ “ความน่าติดตาม” ที่มีมากขึ้นขึ้น หนังดูกระชับลงทั้งที่ความยาวหนังก็ไม่ได้หนีจากภาคแรกเท่าไหร่คืออยู่ในช่วงชั่วโมงครึ่งเหมือนกัน อาจเพราะหนังมุ่งไปที่ Action เต็มพิกัด ไม่ค่อยมีช่วงให้ไปเวิ่นเว้อเรื่องอื่นแบบตอนภาคแรกเท่าไหร่ แต่จะว่าไปถ้าเอาทั้ง 2 Part มารวมกัน แล้วตัดพวกส่วนเกินที่ไม่จำเป็นออกไปสักหน่อย ก็น่าจะโอเคและกระชับมากกว่านี้

อีกสิ่งที่ทำให้ End of the World ดูดีขึ้นก็คือการใส่ประเด็นการเมืองและสังคมมา ด้วยการเฉลยว่ายักษ์ไททันแท้จริงมาต่างไหน และโยงไปเรื่องของสภาพสังคมกับการปกครองด้วยความกลัวของรัฐบาล ถึงจะไม่ได้เป็นทฤษฎีที่เกินความคาดหมายไปเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เรื่องดูมีน้ำหนักมากขึ้น การผลักดันบทบาทของภาครัฐขึ้นมา ด้วยการเฉลยว่าเป็นรัฐบาลเองนั่นแหละที่พยายามขัดขวางไม่ให้ซ่อมกำแพงสำเร็จ เพราะรัฐบาลเองก็ใช้ความหวาดกลัวจากไททันของประชาชน เป็นเครื่องมือในการควบคุมและสร้างอำนาจให้รัฐบาลยังคงอยู่ได้เรื่อยๆ

แนวคิดถือว่าดีเลย พยายามสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ ไม่ใช่ไททัน หากแต่เป็นคนด้วยกันเองนี่แหละ แต่ประเด็นคือ หนังกลับยังทำไม่ถึงในประเด็นนี้ มันก็เลยเป็นเพียงแค่คำพูดที่ทำให้หนังดูเท่ๆ ขึ้นมาเท่านั้น

เพราะในภาคแรกหนังแทบไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเลยว่า สภาพกดขี่ของรัฐบาลที่พูดกันในภาคนี้นั้น มันเป็นแบบไหน พอภาคนี้อยู่ๆ มาพูดประเด็นนี้มันเลยไม่อิน ยิ่งมาเจอกับ “ชิคิมะ” (ฮิโรกิ ฮาเซคาวะ) ที่ในภาคก่อนยกให้เป็นตัวละครไร้สติอันดับสอง มาภาคนี้ได้เลื่อนขั้นเป็นอันดับหนึ่งแทนที่พระเอก “เอเรน” (ฮารูมะ มิอูระ) ไปเลย เพราะตัวชิคิมะหัวหน้าหน่วยสำรวจได้รับบทบาทให้เป็นคนเฉลยเรื่องราวต่างๆ ในภาคนี้ และยังเป็นคนชวนให้เอเรนเข้าร่วมในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลด้วย

แต่ด้วยกิริยาที่ชอบเก๊ก ชอบทำเท่ ทั้งที่ไม่เท่ พ่นคำคมที่ไม่คม โดยเฉพาะตอนคุยกับเอเรน ที่พี่แกมาในชุดสากล แถมถือแชมเปญที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องเลย ท่าถือแก้วก็ชวนให้น่าหมั่นไส้เหลือเกิน พอมาในทางนี้ เราจึงไม่เห็นความเจ็บแค้นของตัวชิคิมะต่อรัฐบาลเลย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกองกำลังกบฎของชิคิมะ ที่บทจืดจางยิ่งกว่าตัวประกอบ อารมณ์ความบีบคั้นจึงแทบไม่มีเลย เหมือนไปเที่ยวเล่นกันมากกว่าจะไปลุยกับรัฐบาลจริงๆ

นี่ยังไม่รวมถึงอาการเล่นใหญ่ของตัวละครแต่ละคนในเรื่อง เข้าใจว่าหนังแนวการ์ตูนมักมีอาการเล่นใหญ่แบบนี้อยู่แล้ว แต่นี่เหมือนจะใหญ่ยิ่งกว่าปกติไปอีก ภาคก่อนว่าใหญ่แล้ว ภาคนี้ยิ่งใหญ่เข้าไปอีก อาจเพราะภาคนี้ไม่ค่อยให้ซีนเหล่าไททันแล้ว แต่โฟกัสไปที่ตัวละครมนุษย์เป็นหลัก เราจึงรับรู้ความใหญ่ ความโอเวอร์ได้อย่างเต็มที่

แต่ที่รู้สึก WTF มากสุดก็ฉากจบนี่แหละ หลังจากที่เอเรนกับพรรคพวกได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน เอาชนะไททันรองบอสไม่ให้เอาระเบิดไปถล่มในเพื่อล้มล้างได้สำเร็จ ทั้งยังสามารถเอาชนะไททันบอสใหญ่และซ่อมกำแพงที่เป็นรูได้สำเร็จ สิ่งที่เอเรนกับมิคาสะทำคือการยืนอยู่บนกำแพง มองไปยังโลกภายนอก ราวกับกำลังชื่นชมความงาม แล้วก็พูดเท่ๆ ขึ้นมาประมาณว่า “การต่อสู้ที่แท้จริงกำลังจะเริ่มขึ้น” เดี๋ยวก่อนนะ…ที่พวกแกทำไปคือการให้กำแพงมันยังคงอยู่ใช่มะ แล้วพวกเอ็งมาชื่นชมโลกภายนอกทำไม ถ้าจะชอบโลกภายนอกแบบนั้น ทำไมไม่ทำลายกำแพงแหละ แล้วพอกำแพงซ่อมเสร็จก็แปลว่าน่าจะพอกันไททันได้ แล้วการต่อสู้ที่แท้จริงของพวกเอ็งคืออะไร จะออกไปสู้กับไททันที่อยู่ภายนอก แต่ขณะเดียวกันก็ขังคนไว้หลังกำแพงกับรัฐบาลที่กดขี่แบบนั้นเหรอ มันเหมือนกับหนังพยายามปั้นดราม่าเรื่องว่าจะอยู่แต่ในกำแพงหรือกล้าที่จะออกไปขึ้นมา แต่สุดท้ายจบไม่ลง ไปไม่เป็น เลยกลายเป็นฉากยืนบนกำแพงที่สับสนงุนงงแบบนี้นี่แหละ

ความชอบส่วนตัว: 5/10  

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)