[Criticism] Batman v Superman: Dawn of Justice – เข้าใจคนรัก ใส่ใจคนชัง (Spoil)

ก่อนอื่นต้องบอกไว้ก่อนว่าตัวผมเองนั้นเป็นแฟน DC อาจจะไม่ได้ถึงแฟนพันธุ์แท้ติดตามมาตั้งแต่ Comics เพราะส่วนตัวติดตาม DC จากสายหนังและซีรี่ส์มากกว่า กระนั้นก็คงพอถือได้ว่าตัวเองพอรู้จัก DC ในระดับหนึ่ง และออกจะเอาใจช่วยไม่น้อยให้ Batman v Superman: Dawn of Justice ประสบความสำเร็จ เพราะมันเหมือนเป็นใบเบิกทางสำคัญให้กับจักรวาลหนังของ DC (DC Extend Multiverse) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หนึ่งที่ต้องยอมรับคือ BvS อาจไม่ใช่ตัวเปิดที่สมบูรณ์แบบ และตัวมันเองยังทำให้เกิดการถกเถียงตามมาระหว่างคนที่เป็นแฟนคอมมิค คนที่มาทางสายวิจารณ์หนัง และคนดูทั่วไป ว่าตกลงแล้ว หนังมันดีหรือไม่ดีกันแน่

ข้อสรุปส่วนตัวคือ BvS เป็นหนังที่มีความเอาแต่ใจและเฉพาะกลุ่มมากเรื่องหนึ่ง หนังมีทั้งส่วนที่ทำได้ดีสุดๆ ไปจนถึงส่วนที่น่าผิดหวังสุด ทั้งหมดถูกใส่ร่วมกันในหนัง “แบบไม่เข้ากัน” ทำให้เราสัมผัสได้ทั้งส่วนดีและส่วนแย่ได้ชัดเจนมาก ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกจะให้ความสำคัญกับส่วนไหนมากกว่า และการที่หนังมีความเป็นเฉพาะกลุ่มสูง แต่กลับเลือกที่จะโปรโมตและวางตลาดเป็นหนัง Mass ก็ไม่แปลกที่หนังจะได้รับเสียงวิจารณ์ที่หลากหลายเช่นนี้

ประเด็นในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าคำวิจารณ์ด้านไหนถึงจะถูกต้องสำหรับหนังเรื่องนี้ แต่อยากลองชวนมาทำความเข้าใจดูบ้างว่า “ทำไม” แต่ละฝั่ง แต่ละฝ่ายถึงมองหนังเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน

เข้าใจคนรัก

คนที่จะชื่นชอบและชาบู BvS เห็นจะหนีไม่พ้นคนที่เป็นแฟนคอมมิคของ DC ที่พวกเขารัก ไม่ใช่แค่ว่าเพราะหนังปะยี่ห้อว่าเป็น DC เท่านั้น แต่เพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ซื่อสัตย์และใช้องค์ประกอบจากคอมมิคมากที่สุดเท่าที่หนังที่สร้างจากคอมมิคเคยทำมา ไม่แช่แค่ในเนื้อเรื่อง แต่งานภาพต่างๆ ยังให้ความรู้สึกแบบ Graphic Novel แต่ละซีน มองเป็นช็อตๆ จะสายมาก รายละเอียดต่างๆ ในคอมมิคก็ถ่ายถอดเป็นภาพได้อย่างค่อนข้างตรง เรียกได้ว่าความสนุกของหนังเรื่องนี้จะแปรผันตรงกับความรู้เราที่มีต่อ DC Comics

ในช่วงแรกของหนังนั้นเน้นไปที่การสืบสวนไหนหลายๆ เรื่อง ทั้งในส่วนของ “Lois Lane” (Amy Adams) ที่สืบหาผู้อยู่เบื้องหลังการจัดฉากให้ดูเหมือนว่า Superman ฆ่าคนในแอฟริกา “Bruce Wayne” (Bruce Wayne) กำลับสืบหาแหล่งที่เก็บของ Kryptonite เพื่อจะใช้เป็นอาวุธจัดการ Superman หรือตัว Clark Kent (Henry Cavill) เองก็สนใจเรื่องของอัศวินรัตติกาลในเมือง Gotham เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมี Sub-plot เกี่ยวกับคนที่ยื่นฟ้อง Superman อีก ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ที่ใส่กันเข้ามา แต่ปรุงเข้าด้วยกันได้ไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้บางส่วนมองว่าช่วงแรกของหนังนั้นค่อนข้างน่าเบื่อ เยิ่นเย้อ ไร้ความจำเป็นต่อเนื้อเรื่อง แทบไม่มี Action และเน้นพูดกันอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกของหนังนี้ สำหรับแฟน DC แล้วกลับปลื้มปริ่มมากเป็นพิเศษ เพราะมันคือการโชว์ความสามารถตัวละคร แบบที่หนัง Superman หรือ Batman เรื่องก่อนไม่ค่อยทำกัน เราได้เห็นทักษะการเป็นนักข่าวของ “Lois Lane” ที่ค่อยๆ สืบหาข่าวจากแหล่งข่าวและหลักฐานไปเรื่อยๆ จนเริ่มปะติดปะต่อเหตุการณ์ได้ (คนชอบจำได้แค่ว่า Lois เป็นแฟน Superman แต่จริงๆ เธอเป็นนักข่าวด้วยนะ) ขณะที่ Bruce Wanye หรือ Batman นี่เป็นครั้งแรกในส่วนของ Live Action ก็ได้มั้ง ที่โชว์ทักษะการสืบสวนสอบสวนของ Batman แบบเต็มๆ (ใน The Dark Knight ก็มีบ้าง แต่ยังไม่เท่าใน BvS) เราได้เห็น Batman ใช้ทั้งความเป็น Batman และความเป็น Bruce Wayne ของเขา เพื่อค้นหาเป้าหมายที่เขาต้องการ เป็นการใช้ทักษะส่วนตัว โดยมีอุปกรณ์ไฮเทคเป็นส่วนเสริมเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของ Superman หนังก็พยายามเน้นบทบาทในฐานะ Clark มากขึ้น ทำให้เขาดูเป็นมนุษย์ที่จับต้องได้มากขึ้น ท่ามกลางภาพลักษณ์ที่คนมองว่าเขาคือพระเจ้า

การปะทะกันระหว่าง Batman กับ Superman ยังเป็นเหมือนการสานฝันของแฟนคอมมิคให้เป็นจริง หลังจากที่ในคอมมิคเจอกันมาหลายครั้ง แต่ในหนังกลับเพิ่มมาเจอกันครั้งนี้นี่แหละ ยิ่งตอนปะทะได้แรงบันดาลใจจาก “The Dark Kinght Return” คอมมิคเรื่องดังของแฟน DC มาด้วยอีก ทำให้ยิ่งได้ใจแฟน DC ไปอีก นอกจากนี้หนังยังดึงเนื้อเรื่องจากคอมมิคอีกหลายเรื่องอาทิ “The Death of Superman” (Superman ปะทะกับ Doomsday จนตาย), “Injustice” (Lois ตาย Superman คลั่งจนกลายเป็นคนร้าย เหล่าฮีโร่ปะทะกันเอง), “Flashpoint” (Flash ย้อนเวลา จนประวัติศาสตร์เปลี่ยน) รวมไปถึง Easter Eggs เล็กๆ น้อยๆ ที่แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งชัดเจนและหลบซ่อนไว้ เป็นที่สนุกให้เหล่าแฟนๆ ให้ค้นหา

และในแง่การเปินหนังเปิดสู่ DCEU แล้ว ก็ถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง หนังมีการหยอดเรื่องราวให้เราตามต่อใน Justice League ได้ รวมถึงบรรดาตัวละครทั้งลับและไม่ลับที่โผล่มา ทำให้เราสนใจที่จะตามไปดูหนังเดี่ยวของตัวละครนั้นได้ โดยเฉพาะ “Diana Princess” หรือ “Wonder Woman” (Gal Gadot) เปิดตัวได้อย่าง Strong แย่งซีนทุกคน (จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่ทั้งคนชอบและไม่ชอบหนังเรื่องนี้ต่างเห็นตรงกัน) ให้ความรู้สึกทั้งความสวยงาม สง่างาม แต่ขณะเดียวกันก็แข็งแกร่ง ผิดจากเมื่อก่อนที่คนบางส่วนมักมองว่าการมีอยู่ของ Wonder Woman ก็มีเพื่อให้มีตัวละครหญิงอยู่ในวงการซุปเปอร์ฮีโร่เท่านั้น และใช้โชว์เนื้อสังมังสาเอาใจหนุ่มๆ เสียเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น Gal Gadot ได้ทำให้ Wonder Woman ในแบบของเธอก้าวไปอีกขึ้น

เหล่านี้คือเหตุผลว่า ทำไมถ้าเราไปถามคนที่เป็นแฟนคอมมิค พวกเขามักตอบว่า หนังเรื่องนี้ดีมาก เยี่ยมมาก เพราะมันคือการสานฝันจากภาพในคอมมิคให้กลายเป็นจริงขึ้นมา

ใสใจคนชัง

ในขณะที่ฟั่งแฟนคลับอาจปลืมปริ่มเป็นพิเศษ แต่ฝั่งนักวิจารณ์รวมถึงคนที่อาจไม่ได้ติดตามหรือรู้เรื่อง DC มากนัก กลับมองหนังเรื่องไปในทางตรงกันข้าม ซึ่งก็ไม่อยากให้มองว่าเพราะพวกเขาเป็น anti หรือเพราะเป็นแฟนคลับค่ายตรงกันข้าม เพราะอย่างที่บอกไว้ในช่วงแรก BVS เป็นหนังที่ค่อนข้างมีความเป็นเฉพาะกลุ่ม เอาใจแฟนคอมมิคเป็นหลัก จนไม่สนใจไปจนถึงละเลยกลุ่มคนทั่วไป เมื่อพวกเขาไม่ได้มีพื้นเกี่ยวกับ DC มาก่อน จะยิ่งทำให้เขารู้สึกว่า เนื้อหาในเรื่อง ที่เล่นใหญ่มาก ยัดทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามา เป็นเรื่องราวที่สับสนยุ่งเหยิง กว่าจะมาสนุกก็แค่ช่วงท้ายๆ เรื่องเท่านั้น แถมหลายอย่างยังดูไร้ความสมเหตุสมผลอีก “บทอ่อน” คือข้อวิจารณ์หลักต่อหนังเรื่องนี้จากหลายคน

ทำไมหลายคนถึงมองว่า “บทอ่อน” ทั้งที่หนังเรื่องนี้ค่อนข้างจะ “บทเยอะ” คือมี plot หลัก plot ย่อยเต็มไปหมด ที่เป็นเช่นนั้น เพราะ plot ย่อยไม่สามารถส่งอารมณ์และเรื่องราวไป support ตัว plot หลักได้ หลายช่วงหนังเสียเวลาไปตัว plot ย่อยนานมาก แต่ตัว plot หลักกลับเอาสิ่งที่ plot ย่อยสร้างมาใช้แค่นิดเดียว และใช้แบบจับยัด จนรู้สึกว่าแบบนี้ไม่ต้องเล่า plot ย่อยนั้นก็ได้มั้ง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่ Lois Lane พยายามสืบหาเบื้องหลังเหตุการณ์ที่ Superman ถูกจัดฉากว่าฆ่าคนตาย มันดูเหมือนจะดี แต่หลายคนกลับงงแทนว่าจะสืบทำไม เพราะตอนเกิดเหตุการณ์นั้น หนังเล่าผ่านมุมมองของ Lois ทุกอย่าง เราเลยไม่รู้ว่ามันมีการจัดฉากเกิดขึ้น มารู้ตอนหลังตอน Lois พูดว่ามีการจัดฉาก แล้วเธอก็ไปสืบเลย หลายคนก็งงกันไป ยิ่งช่วงหลังก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจะสืบไปทำไม เพราะสุดท้ายแล้วไอ้การจัดฉากนั้นก็ไม่ค่อยมีผลต่อภาพลักษณ์ Superman ในสายตาประชาชนเท่าไหร่ อาจจะมีประโยชน์หน่อยตรงที่แค่ห้รู้ว่า “Lex Luthor” (Jesse Eisenberg) อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ก็นั่นแหละ หนังก็โชว์มาตั้งแต่ต้นว่า Lex คือคนร้าย แล้วจะสืบหาไปทำไมกัน

ขณะที่ในส่วนของ Batman นั้น ตัวอย่างและหน้าหนังชวนให้เราเข้าใจว่าที่ Batman สู้กับ Superman นั้น เพราะได้รู้สึกถึงความอันตรายของ Superman เขาไม่ได้น่ากลัวตรงที่เป็นเอเลี่ยน แต่ที่สิ่งที่เขาทำได้ต่างหากที่น่ากลัว วันนี้ Superman อาจเป็นเพื่อนเรา แต่หากวันไหนเขาเปลี่ยนใจขึ้นมาละ ตัวหน้าหนังและข้อมูลที่เปิดเผยออกมาช่วงต้น ยังทำให้เราคิดไปถึงขั้นว่า Batman ต้องสูญเสียคนสำคัญในครอบครัวไปกับเหตุการณ์ใน Man of Steel อันเป็นจุดที่ทำให้เขายิ่งแค้น Superman มากยิ่งขึ้น แนวคิดที่วางไว้ให้เข้าใจเช่นนี้นั้นดี แต่พอเป็นหนังตัวเต็มแล้วกลับถูกทำให้อ่อนลงอย่างน่าเสียดาย คนสำคัญที่ Batman สูญเสียไม่ได้สำคัญจริงในความรู้สึกของเรา ขณะที่จุดแตกหักของ Batman กับ Superman จริงๆ กลับกลายเป็นการตายของ (อดีต) ลูกน้อง Bruce Wayne ช่วงกลางเรื่องไปแทน สิ่งที่พลาดคือ ช่วงครึ่งแรกนั้นหนังเน้นให้ถึงความอันตรายของ Superman ที่มีต่อโลก “น้อยเกินไป”

แต่นั่นไม่เท่ากับซีนที่มีคนวิจารณ์มากที่สุดก็คือ สาเหตุในการกลับมาคืนดีกันของ Batman และ Superman แค่เพียงเพราะ Superman ตะโกนว่าแม่ชื่อ “Martha” อันเป็นชื่อเดียวกันกับแม่ของ Batman ทำให้ Batman เกิดจิตสำนึกความถูกต้องขึ้นมา จนกลายเป็นเพื่อนกับ Superman ไปซะงั้น “เพียงเพราะแม่ชื่อเดียวกัน” กลายเป็นจุดที่ทำให้หนังเรื่องนี้โดนล้อกันอย่างสนุกสนาน หลายคนบอกว่ามันเป็นจุดที่ไร้ความสมเหตุสมผลโดยอย่างสิ้นเชิง

โดยส่วนตัวก็ไม่เถียง ฉากนั้นมันดูคืนดีกันเร็วและง่ายเกินไปก็จริง แต่ถ้ามองอีกทางเหตุผลชื่อแม่ ถ้าทำดีๆ มันก็ make sense ได้นะ เพราะชื่อ Martha นั้น เป็นชื่อที่ทำให้ Bruce หันกลับมาฉุกคิดถึงเหตุการณ์ที่พ่อแม่เขาโดนยิงตาย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาก้าวสู่การเป็น Batman จุดหลักจึงไม่ได้อยู่ที่แค่ชื่อแม่เหมือนกัน แต่เป็นการทำให้ Bruce กลับมาฉุกคิดว่าเขาเป็น Batman กันเพื่ออะไรกันแน่ เพื่อแก้แค้น เพื่อสร้างความหวาดกลัว หรือเพื่อความถูกต้องยุติธรรมกันแน่ ยิ่ง Batman ใน BvS เป็น Batman ที่อายุมากแล้ว ผ่านสมรภูมิมานาน จนทำให้เชื่อว่าบางทีเขาก็ด้านชาหรือลืมไปแล้วว่ามาเป็น Batman กันเพื่ออะไรกันแน่ อันที่จริง BvS ถือเป็น Batman เรื่องแรกเลยก็ว่าได้ที่ให้ความสำคัญกับ Martha เพราะเวอร์ชั่นอื่นๆ มักเน้นไปที่พ่อหรือ Thomas มากกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าตอนเขียนบทอาจวางแนวทางไว้แบบนี้ แต่ก็นั่นแหละ มันก็เป็นความผิดของหนังที่ทำให้เราไม่สามารถรู้สึกถึงตรงนั้นได้เท่าไหร่ อาจเพราะหนังไม่ได้ให้เวลากับช่วงเวลาเริ่มต้นของ Batman มากนั้น (หรือไม่ก็คาดคะเนเอาเองว่าคนดูน่าจะรู้แล้ว) พอมาเป็นฉากนั้นมันเลยกลายเป็นแค่ “ดีกันเพราะชื่อแม่” เท่านั้น

หลายๆ ช่วงของหนัง โดยเฉพาะในส่วนของ Lex นั้น กลายเป็นแค่คอ DC เท่านั้นที่จะเข้าใจ หนังไม่เป็นมิตรกับคนกลุ่มอื่นนัก ยิ่งกลับกลุ่มนักวิจารณ์ ที่มักให้ความสำคัญกับ “ความต่อเนื่อง” และ “ลื่นไหล” ของบท ไม่แปลกที่พวกเขาจะให้คะแนนหนังเรื่องนี้น้อย (ส่วนหนึ่งอาจเพราะความคาดหวังด้วย หนังเรื่องไหนโดนตั้งความคาดหวังไว้สูง ถ้าทำได้ไม่เท่าที่คาด คะแนนจากนักวิจารณ์มักจะต่ำเตี้ยเรื่ยดินกว่าที่จะเป็นมากอยู่แล้ว)

สรุป

เหล่าแฟน DC บางส่วนพยายามทำให้คนอื่นเชื่อว่าหนังดี เพราะมันมีส่วนที่เขาชอบอยู่ ขณะที่นักวิจารณ์บางกลุ่มก็พยายามทำให้เชื่อว่าหนังมันแย่ และแฟน DC ควรยอมรับความจริง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกมองจากมุมไหน อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าจะยอมรับกันโดยทั่วกัน คือหนังมีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดีอยู่พอๆ กัน ลักษณะเช่นนี้มองในแง่ดี คือถ้าดูแบบไม่คิดอะไรมาก มันก็เพลินๆ แต่ถ้ามองแง่ร้ายหน่อย คือมันทำให้คนอยากจะดูซ้ำ หรือดูต่อหนังใน DCEU ได้มากแค่ไหนโดยเฉพาะ Justice League ที่ Zack Snyder ยังเป็นคนกำกับอยู่ (ส่วน Wonder Woman ไม่น่ามีปัญหา เพราะคาแรกเตอร์โดดเด่นมาก)

โดยส่วนตัว เปรียบ Batman v Superman: Dawn of Justice เหมือนก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่ ที่ยัดเครื่องมาให้เราเยอะมาก แต่ส่วนประกอบก็คัดสรรมาอย่างดี กินแยกเป็นชิ้นๆ แล้วอร่อยมาก เช่นเดียวกับตัวหนังที่ถ้าเรามองเป็นภาพย่อยๆ เป็นฉากๆ แทบทุกฉากทำได้ดี โดยเฉพาะบทสนทนาที่คมคายเกือบทั้งหมด แต่พอเอามารวมเป็นก๋วยเตี๋ยวชามเดียวกัน กลับไม่อร่อยเท่าที่คาด รสชาติกับตีกันเอง ส่วนประกอบบางอย่างที่ไม่ต้องใส่มาในก๋วยเตี๋ยว อาทิ ผลไม้ ก็ดันใส่มา ทั้งที่ไม่เข้ากันเลย พูดง่ายๆ คือตัวหนังมีปัญหาในการปรุงเรื่องราวให้เข้ากัน เป็นความพยายามเล่นใหญ่จนคุมไม่อยู่ กระนั้น ส่วนย่อยๆ ที่ให้มา ก็ทำให้ยากที่จะบอกผ่านหนังเรื่องนี้ไปเลยเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่รู้สึก คือ BvS น่าจะพัฒนามาจากบทของ Man of Steel 2 ซึ่งถ้าสังเกตจะพบว่าในส่วนประเด็นของ Superman ค่อนข้างน่าสนใจมากกว่ามาก ทั้งที่ตอนแรกนึกว่า Superman จะโดนกลบเสียอีก ความพยายามที่จะเป็นคนดี ท่ามกลางความคาดหวังของชาวโลกนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งพยายามเป็นคนดีมากเท่าไหร่ จะยิ่งรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องโดยไม่ตั้งใจมากขึ้นเท่านั้น Superman ที่ผ่านมาถูกวางบทบาทในฐานะซุปเปอร์ฮีโร่ในอุดมคติ ทำให้มีแง่มุมต่างๆ ที่เอามาเล่นค่อนข้างยาก การใส่อารมณ์ ความรักให้กับตัว Superman ตั้งแต่ Man of Steel นั้นเป็นเรื่องดี และใน BvS ก็ยังดีอยู่ เพียงแต่เนื้อเรื่องอื่นไม่เสริมให้เห็นภาพชัดเท่าไหร่ การยกฐานะจาก Man of Steel 2 ให้กลายเป็น BvS ทำให้ต้องใส่เรื่องราวของ Batman เข้ามาเป็นคู่ขนาน ซึ่งเนื้อเรื่องส่วนนั้นมันก็ดีในฐานะที่ทำให้เราได้เห็น Batman ที่มีความตรงกับคอมมิคมากขึ้น แต่มันไม่ได้เสริมเรื่องราวขององค์รวมสักเท่าไหร่

ในฐานะที่ติดตามความเป็นไปของจักรวาล DCEU มาระดับหนึ่ง ก็ยังเอาใจช่วยจักรวาลนี้เหมือนเดิม แต่ก็หวังว่าหนังจะมีความเป็นมิตรกับคนทั่วไปมากกว่านี้ เพื่ออนาคตของตัวหนังเองจะไม่ได้โดนจำกัดกลุ่มเกินไป ทั้งนี้ สำหรับคนที่อาจจะอวยหนังเรื่องนี้โครตๆ หรือไม่ก็เหยียบหนังเรื่องนี้สุดๆ ก็อยากให้ลองทำความใจกับมุมมองที่แตกต่างของอีกฝ่ายเช่นกัน เผื่อเราอาจจะเข้าใจมากขึ้นว่าเขาชอบ/ไม่ชอบเพราะอะไร แล้วเราชอบ/ไม่ชอบอะไร น่าจะดีกว่าคิดว่าตัวเองถูกต้องที่สุด แล้วไปหาว่าคนอื่นเป็นหน้าม้าหรือแอนตี้อย่างเดียว

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)