[Review] Brooklyn – ผู้อพยพในแบบที่อเมริกาต้องการ

“Brooklyn” เป็นหนึ่งในหนังที่ได้เข้าชิง Oscars สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ครั้งล่าสุด แต่เป็นหนังเรื่องเดียวที่ไม่ได้เข้าฉายโรงในประเทศไทย ก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะหนังก็ใช่จะฟอร์มยักษ์อะไร คงจะยากในการเรียกคนดู อย่างไรก็ตาม อย่างน้อย Brooklyn ก็ยังมีออกแผ่นรวมถึงมีขายในบริการ Video-on-demand ของไทยหลายแห่ง ทำให้คนไทยยังมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้อยู่ ซึ่งก็ไม่น่าพลาด สำหรับคนที่อยากเก็บหนัง Oscars ให้ครบ รวมถึงอยากดูหนังสบายๆ สักเรื่อง เพราะ Brooklyn นี่มัน….โลกสวย มากจริงๆ

“Brooklyn” เป็นเรื่องของ “Eillis” (Saoirse Ronan) หญิงสาวจากเมืองเล็กๆ ในไอร์แลนด์ ที่ได้รับโอกาสให้ไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา ผ่านการติดต่อประสานงานโดยพี่สาวของเธอ “Rose” (Fiona Glascott) ที่หวังให้น้องสาวเธอมีอนาคตที่ดีกว่า ที่อเมริกา Elils อาศัยอยู่ในเขต Brooklyn ที่มีผู้อพยพชาวไอริชอยู่มากมาย ทำงานที่ห้างสรรพสินค้า เรียนมหาวิทยาลัยภาคค่ำ และเริ่มต้นมีความรักกับหนุ่มอพยพชาวอิตาเลี่ยน “Tony” (Emory Cohen)

ฟังดูเรื่องราวก็ดูสวยงามดี ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น ส่วนตัวถึงได้มองว่าหนังเรื่องนี้ค่อนข้างโลกสวยมากจริงๆ เพราะปกติเวลาเรานึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้อพยพย้ายถึ่น เรามักคิดไปถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องจากบ้าน เพราะที่เดิมค่อนข้างลำบากยากแค้น และเมื่อเดินทางมาถึงบ้านใหม่ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการปรับตัวเข้ากับที่ใหม่ วัฒนธรรมใหม่ แถมยังอาจดูถูกจากคนท้องถิ่นอีก แต่ทั้งหมดไม่เกิดขึ้นใน “Brooklyn” เลย ชีวิตของ Eillis อาจไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้ดูลำบากอะไรนัก ไอร์แลนด์ในเรื่องก็เหมือนไม่ใช่บ้านเมืองที่น่ากลัวจนอยากจะหลีกหนีขนาดนั้น ปัญหาเดียวของไอร์แลนด์คือแค่เมืองมันเล็ก จนอาจทำให้โอกาสขยับขยายมันลำบากกว่าในอเมริกาเท่านั้น

Eillis จึงไม่เหมือนกับคนอพยพทั่วไป แต่เหมือนคนที่มีฐานะระดับหนึ่งที่มีได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ทำๆ ไปก็ชอบ แถมยังได้แฟนอีก มีอาการคิดถึงบ้านนิดหน่อย กระนั้นก็ไม่ใช่ปัญหานัก คนที่ Brooklyn ก็ดีกับเธอมาก อย่างไรก็ตาม พอได้กลับมาไอร์แลนด์ ก็ดันเกิดคิดขึ้นมาอีกว่า จริงๆ ไอร์แลนด์ก็ดีนะ งานก็มีมาเสนอ แถมยังมีผู้ชายดีๆ เข้ามาจีบอีก แม่ก็อยู่นี่ ถึงไม่กลับไป Brooklyn เธอก็มีชีวิตดีๆ ที่นี่ต่อได้ไม่ยาก

ประเด็นหลักของเรื่อง จึงไม่ใช่ปัญหาการปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ เพราะ Eillis ดูแทบจะไม่มีปัญหากับเรื่องนี้เลย เธอเป็นคนที่ปรับตัวได้ดีกลับเกือบทุกที่ ปัญหาคือเมื่อเธอเข้ากันได้ดีกับทุกที่ แล้วที่ไหนที่เธอจะลงหลักปักฐาน อเมริกาหรือไอร์แลนด์ ในเมื่อมันก็ดีกับเธอทั้ง 2 ที่ ซึ่งมันก็โยงไปประเด็นที่ว่า เราทุกคนมีสิทธิเลือกบ้านให้ตัวเอง ไม่ใช่จำกัดว่าเกิดที่นีแล้วต้องเป็นคนของที่นี่ไปจนตาย และในแง่นี้ Brooklyn ก็กำลังเสนอตัวว่า เมืองแห่งนี้สามารถเป็นบ้านให้กับทุกคนได้ แม้จะไม่ใช่คนอเมริกันก็ตาม ของแค่คุณ “เลือก” ก็พอ ไอร์แลนด์อาจดีอยู่แล้ว แต่ Brooklyn นั้นน่าสนใจกว่า โอกาสมากกว่า และที่นี่มีคนที่ Eillis รัก

ในอีกทางหนึ่ง “Brooklyn” ไม่เพียงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสหรัฐฯ ให้กับชาวต่างชาติที่คิดจะเข้าไปอยู่ด้วย แต่ก็ยังเป็นการบ่งบอกถึง “ผู้อพยพ” ในแบบที่สหรัฐฯ ต้องการด้วย อย่างที่รู้กันว่าตอนนี้กระแสผู้อพยพกำลังเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก หนังเรื่องนี้เหมือนจะบอกกับเราว่า จะเข้ามานั้นไม่มีปัญหา แต่มาแล้วก็ต้องทำตัวดี ปรับตัวเข้ากับที่นี่ให้ได้ด้วย ไม่ใช่มาแล้วสร้างปัญหาหรือไม่ยอมปรับตัวเลย แล้วก็มาด่าว่าประเทศนี้ไม่เห็นใจ ไม่เคารพในวัฒนธรรมของพวกเขา ดูอย่าง Eillis ที่ไม่มีปัญหาอะไรกับการอยู่ที่สหรัฐฯ มากนัก หรืออย่าง Tony ที่เป็นครอบครัวอิตาเลียน แต่พวกเขาก็ประพฤติตัวดี ไม่ได้ทำตัวเป็นมาเฟียอิตาเลียน เหมือนที่เราห็นในหนังหลายเรื่อง

หนังไม่ได้พูดแทนสหรัฐฯ เท่านั้น แต่อาจกำลังพูดแทนยุโรปที่กำลังเผชิญปัญหาผู้อพยพด้วย เพราะตัวหนังเองเป็นหนังลูกเสี้ยวหลายสัญชาติและมีทีมงานจากยุโรปพอควร และคิดไปให้สุดแล้ว ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม Brooklyn ก็แอบบอกเราว่า ถ้าเป็นผิวขาว วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน พูดอังกฤษเหมือนกัน มาจากประเทศที่ไม่ได้มีปัญหานัก มารยาทดี แถมสวยด้วย เราก็ไม่มีปัญหาในการต้อนรับนะ (ในหนังไม่มีการพูดถึงผู้อพยพที่เป็นผิวสี ผิวเหลือง หรือวัฒนธรรมต่างกันแบบสุดขั้วเลย) ด้วยประการเช่นนี้ Brooklyn จึงเป็นหนังที่สวยไปหมด สวยตั้งแต่นางเอก ฉาก สถานที่ ไปยันแนวคิดแบบโลกสวยๆ เช่นนี้แล

ป.ล. หนังดูเพลินๆ แต่ไม่ได้ถึงกับชอบมาก กระนั้นคิดว่าที่ได้เข้าชิง Oscars เพราะหนังมันตอบโจทย์ลึกๆ มุมมองที่อเมริกาต้องการจากผู้อพยพที่แหละ อย่าลืมว่า ยังไง Oscars ก็คือรางวัลของอเมริกาอยู่ดี

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)