[Review] Darkest Hour – The One Man Show for Oldman

ในช่วงฤดูหนังรางวัล มักจะมีหนังแนวหนึ่งที่ลงจอให้เราดูอยู่เรื่อยๆ คือหนังแนวขายฝีมือการแสดงของนักแสดงนำ ซึ่งบทยอดฮิตถ้าไม่เป็นการเล่นเป็นตัวละครในประวัติศาสตร์ก็มักเป็นคนพิการ หลายครั้งที่หนังเหล่านี้ก็ไปได้ไกลกว่าแค่การเป็นหนังขายนักแสดง แต่ก็อีกหลายเรื่องเช่นกันที่พอถอดเอาการแสดงของนักแสดงนำที่เป็นจุดโปรโมตไป ตัวหนังก็แทบไม่เหลืออะไรเลย… สำหรับผม “Darkest Hour” จัดอยู่ในประเภทนั้น

“Darkest Hour” เป็นหนังชีวประวัติเล่าเรื่องราวของ “Winston Churchill” (Gary Oldman) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยโฟกัสเรื่องราวตั้งแต่เขาเริ่มรับตำแหน่ง ไปจนถึงเหตุการณ์ช่วง Dunkirk (ยุทธการไดนาโม) และการตัดสินใจประกาศสงครามกับเยอรมัน เป็นช่วงระยะเวลาหลายวัน (แต่หนังดันตั้งชื่อเป็น “ชั่วโมง”) ที่ Churchill ต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากภายนอก (เยอรมัน) และภายในรัฐบาลด้วยกันเอง เมื่อส่วนหนึ่งไม่มันใจการนำของ Churchill และเห็นว่าการเจรจาอาจเป็นหนทางในยุติสงครามที่เหมาะสมกว่าสงคราม

ผมนิยาม Darkest Hour ว่าเป็น The One Man Show for Oldman อย่างแท้จริง หนังเปิดโอกาสให้ “Gary Oldman” ปลดปล่อยฝีมือการแสดงอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ตัวเอง กิริยาท่าทาง น้ำเสียงการพูดจา บทสนทนาที่ยาวยืด และการระเบิดอารมณ์ความกราดเกรี้ยว (แต่ไม่ถึงขั้นทุ่มโพเดียมแน่นอน) ซึ่งถามว่าลุง Gary Oldman เล่นดีมั้ย ก็ดีเลยแหละ เพียงแต่พอลุงกราดเกรี้ยวตลอดเวลา เราก็เลยอดจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเล่นใหญ่ของลุงที่ใส่เข้ามาในแทบทุกวินาทีของหนังไม่ได้

ถ้าเทียบกับการประกวดร้องเพลง การแสดงของ Gary Oldman ในเรื่องนี้ก็คงเทียบกับนักร้องสไตล์ Divo-Diva ที่ขึ้นมาโน๊ตแรกก็ฮิตเสียงสูง พ่นไฟท่อนแรกยันท่อนสุดท้าย ซึ่งโอเค ใครเห็น ใครฟังก็คงทึ่งกันว่าทำได้ไงเนี่ย แต่พอมันพ่นไฟทั้งเพลง กราฟความตืนเต้นมันก็นิ่ง แถมบางทีฟังๆ ไปแล้วดันรู้สึกอึดอัดอีก เราจึงได้แค่ชมว่าพลังเสียงดีนะ แต่ไม่ใช่คนที่เราอยากฟังบ่อยๆ แน่นอน หรือบางทีมันอาจเป็นสไตล์ของเราเองนั่นแหละที่ไม่คลิกกับแนวทางการแสดงแบบนี้

และถ้าไม่นับการแสดงของ Gary Oldman แล้ว Darkest Hour ก็แทบไม่เหลืออะไรเลย (อาจมีเรื่องกำกับภาพที่เชิดหน้าชูตาได้อยู่บ้าง) หนังชีวประวัติอย่าง “Lincoln” เมื่อถอดการแสดงของ Daniel Day-Lewis ออกไป ก็ยังถือเป็นหนังการเมืองที่ดูสนุกมากเรื่องหนึ่ง แต่ Darkest Hour ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในแง่การเป็นหนังการเมือง เราไม่ได้เห็นการปะทะคารม ความคิด หรือเล่มเกมทางการเมืองที่ขับเคี่ยวกันอย่างสนุกสนานมากพอ ขณะที่ตัว Churchill เอง หนังก็เหมือนยังตัดสินใจไม่ขาดว่าจะเล่าเขาในมุมมองไหนดี จะในฐานะนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตทหาร ในฐานะสามี ในฐานะเจ้านาย เลยเล่ารวมๆ ไป แต่ไปไม่สุดสักทาง จึงเห็นเพียงความกราดเกรี้ยวและแข็งกร้าวที่ Churchill แสดงออกมา เราเลยไม่ได้รู้สึกร่วมเอาใจช่วยเขา แบบที่เราเคยรู้สึกกับ Lincoln เลย

นอกจากนี้ ด้วยความที่เหตุการณ์ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ของอังฤษ เคยถูกเล่าผ่านหนังหลายเรื่องแล้ว ปีที่ผ่านมาก็มี Dunkirk ย้อนไปอีกเราก็มี The King’s Speech กระทั่ง Atonement ซึ่งเป็นงานของ Joe Wright ผู้กำกับ Darkest Hour ก็มีส่วนคาบเกี่ยวเช่นกัน หรือเรื่องราวในฐานลับของ Churchill ก็ชวนให้นึกถึงฉากฐานลับของ Hitler ใน Downfall เมื่อเราดู Darkest Hour ไปเรื่อยๆ ก็จะมีภาพของหนังเหล่านี้ซ้อนขึ้นมา นั่นอาจเป็นปัญหาให้เราไม่สนุกกับ Darkest Hour เท่าที่ควร เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้ยังทำได้ไม่ถึงหนังเหล่านั้นเลย

หรืออาจเพราะเราชอบมุมมองของ Dunkirk ที่ว่า “Survival is Victory” พอ Darkest Hour นำเสนอในมุมตรงกันข้างเป็น “Victory is Survival” ต้องชนะ ต่อให้แลกด้วยอะไรก็ยอม ก็เลยรู้สึกตะงิดๆ อยู่บ้าง แน่นอน Winston Churchill คือผู้ชนะทางประวัติศาสตร์ การตัดสินใจพาอังกฤษเข้าสู่สงครามของเขาเป็นการคิดถูก และทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะในภายหลัง แต่มองจากสายตาปัจจุบันและสิ่งที่นำเสนอ เรากลับรู้สึกว่า Churchill สนใจแต่เพียงชัยชนะมากกว่าเลือดเนื้อของทหาร และตัวหนังก็ไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้เราเอาใจช่วยเขาในเรื่องนี้ หลายครั้งที่เราเอาใจช่วยฝั่งตรงข้าม Churchill ในเรื่องมากกว่าด้วยซ้ำ Darkest Hour จึงอาจเป็นหนังโชว์การแสดงที่น่าทึ่ง แต่ไม่ใช่หนังที่ส่วนตัวพึงพอใจสักเท่าไหร่

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)