[Review] Fahrenheit 451 – เผาอะไรก็เผาได้ แต่จะเผาความคิดคงไม่ง่าย

“Fahrenheit 451” เป็นนิยายแนว Dystopia ผลงานของ “Ray Bradbury” ที่เขียนมาตั้งแต่ปี 1953 เล่าถึงสังคมในอนาคตที่หนังสือกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากรัฐเห็นว่า หนังสือนั้นจุดประกายความคิด แต่ความคิดที่แตกต่างและควบคุมไม่ได้ย่อมนำพามาซึ่งความวุ่นวาย ในโลกนี้พนักงานดับเพลิงเปลี่ยนจะจากดับไฟมารับหน้าที่จุดไฟเผาหนังสือ ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อเรื่อง “Fahrenheit 451” จากข้อมูลที่ว่า ณ อุณหภูมิที่ 451 องศาฟาเรนไฮต์ หนังสือจะเผาไหม้ได้โดยไม่ต้องอาศัยเชื้อเพลิงอื่น

หนังสือถูกนำมาสร้างเป็นหนังแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 1966 และล่าสุดก็ปี 2018 ซึ่งได้ “Michael B. Jordan” มารับบท “Guy Montag” มือเพลิงอนาคตไกล ที่เกิดข้อสงสัยว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นถูกต้องจริงหรือ ตัวหนังทำออกมาเพื่อฉายทาง HBO โดยเฉพาะ ซึ่งขอบ่นหน่อยเถอะ จริงๆ HBO มีหนัง/ซีรี่ส์ Original ของตัวเองหลายเรื่องที่น่าสนใจนะ แต่ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ยังห่วงๆ ฝั่งเคเบิล ไม่ทุ่มกับ Streaming ทำให้สู้ Netflix ไม่ได้สักที นอกจาก Game of Throne แล้ว มีหลายเรื่องที่น่าจะเป็นที่รู้จักมากกว่านี้ ถ้าค่ายสนใจโปรโมตมากกว่านี้ แล้วยิ่งในไทย AIS ก็ดูจะไม่ได้สนใจช่วยโปรโมต Content อะไรใน HBO เลย นอกจาก Game of Throne สักเท่าไหร่เลย อย่าง “Fahrenheit 451” เชื่อว่ามีหลายคนที่ไม่รู้ว่ามีหนังเรื่องนี้อยู่ แม้กระทั่งคนที่สมัครแพคเกจของ HBO ของ AIS เอง

กลับเข้าเรื่อง จริงๆ Ray Bradbury เคยให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายหลักจริงๆ ของ Fahrenheit 451 คือการชี้ให้เห็นผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ที่มีต่อวงการวรรณกรรม (ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะในสมัยที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก วงการหนังสือถูกรุกคืบจากการเติบโตของสื่อโทรทัศน์) อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้อ่านส่วนใหญ่มักตีความไปว่า Fahrenheit 451 คือภาพสะท้อนของการควบคุมสื่อ (Censorship) ของรัฐ และใน Fahrenheit 451 ฉบับ 2018 ก็เลือกจะตีความตามนั้นอยู่ ซึ่งเราชอบนะ มันทำให้เรื่องไปได้ไกลกว่าแค่สงครามระหว่างสื่อ แต่คือสงครามระหว่างพลเมืองกับรัฐ

อันที่จริง “หนังสือ” ในหนังเรื่องนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น สิ่งที่รัฐในเรื่องต้องการควบคุมจริงๆ คือ “ความคิด” ในเรื่องยังมีหนังสือที่รัฐอนุญาตให้อ่านได้ ยังมีข้อเขียนในอินเทอร์เน็ตที่ผู้คนเข้าไปอ่านได้ และพลเมืองของรัฐนี้ก็ยังมีทักษะของการอ่านออกเขียนได้อยู่ แต่ทุกสิ่งที่ “อ่านได้” นั้น ผ่านการพิจารณาของรัฐมาแล้วว่า เป็นข้อเขียนที่จะไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบ ยิ่งไปกว่านั้นข้อเขียนเหล่านั้นยังถูกเขียนขึ้นจาก AI เพราะรัฐเชื่อว่ามันจะเป็นข้อเขียนที่ปราศจากอคติของมนุษย์มากที่สุด

สิ่งที่รัฐกลัว ไม่ใช่หนังสือที่เป็นรูปเล่ม แต่คือสิ่งที่อยู่ในหนังสือ และสิ่งที่คนอ่านได้รับจากหนังสือ โดยเฉพาะกับงานวรรณกรรม เพราะหนังสือคือสื่อหนึ่งที่คนใช้ถ่ายทอดความคิดของตัวเองลงไป แต่คนแต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เนื้อหา/มุมมองของหนังสือแต่ละเล่มจึงไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันผู้อ่านก็มีอำนาจในการตีความ ซึ่งแต่ละคนก็อาจตีความหนังสือเล่มเดียวไม่เหมือนกันได้ (อย่างหนังสือ Fahrenheit 451 คนอ่านยังตีความไม่เหมือนคนเขียนเลย) นี่คือภาวะที่รัฐกลัว เพราะยิ่งมีความคิดที่แตกต่างกันมากยิ่งวุ่นวาย แล้วยิ่งคนเชื่อในความคิดนั้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งนำไปสู่การปลุกระดมหรือความโกลาหลของสังคมได้ง่าย (รัฐในเรื่องมักอ้างว่า ประเทศเคยผ่านจุดวิกฤตมาแล้ว และหนังสือคือสาเหตุนั้น)

“ถ้าเราไม่ต้องการให้คนกังวลกับคำถามที่มี 2 ด้าน คือให้ถามคำถามที่มีด้านเดียว หรือดีกว่านั้นคือไม่ต้องถามเลย”

หนังยังมี “Michael Shannon” มารับบท “Captain John Beatty” ผู้บังคับบัญชาของ Guy Montag ซึ่งเป็นตัวละครที่ผมคิดว่าโดดเด่นสุดในเรื่อง เพราะ John คือตัวแทนของรัฐที่รู้แหละว่า การห้ามความคิดคนมันเป็นการฝืนธรรมชาติ ตัวเขาเองก็แอบเขียนระบายความคิดของตัวเองอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยหน้าที่ ด้วยการที่ผ่านช่วงสงครามกลางเมืองมาก่อน ทำให้เขามองว่า มันอันตรายเกินไปเช่นกันที่จะปล่อยให้คนมีความคิดอย่างอิสระ เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนมากสุดในเรื่องแล้ว

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่นิยายก็เขียนมานานแล้ว และแนวเรื่องแบบนี้ก็มีมาให้เราเห็นเรื่อยๆ (ซึ่งก็สะท้อนว่าการ Censorship จากรัฐ ก็ยังเป็นปัญหาคลาสสิคของสังคม) ทำให้ “Fahrenheit 451” ขาดความสดใหม่ไปพอควร ประกอบกับการเดินเรื่องก็เอื่อยๆ ไม่มีอะไรให้ลุ้นเท่าไหร่ เลยไม่ใช่หนังที่ดูสนุกนัก คือเป็นหนังที่การได้วิเคราะห์สารของเรื่อง สนุกกว่าตัวหนังจริงๆ อะครับ

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)