[Review] Geostorm – หนังหายนะที่ไม่หายนะอย่างที่คิด

ที่ว่า “Geostorm” เป็นหนังหายนะที่ไม่หายนะอย่างที่คิดนั้น หมายถึงใน 2 ทางด้วยกัน หนึ่งคือ เนื้อเรื่องของตัวหนังเองที่แม้จะชูโรงด้วยการเป็นหนังหายนะภัยพิบัติ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ฉากหายนะในเรื่องกลับไม่จุใจเท่าไหร่ แถมการพยายามยัดภัยพิบัติเข้ามาหลายรูปแบบ ทำให้เราไม่อินกับภัยพิบัติใดภัยพิบัติหนึ่งเป็นพิเศษ นี่ยังไม่นับเรื่อง CG ที่ไม่เนียนอีกนะ ส่วนความหมายในทางที่ 2 นั่นคือสิ่งที่เหนือคาด นั่นคือผลลัพธ์ของหนังกลับไม่หายนะอย่างที่คิด

ยอมรับว่า ตอนเห็นหน้าหนัง ใจมันอคติไปแล้วว่าหนังแนวนี้ ลักษณะนี้ คงไปได้ไม่ดีเท่าไหร่ พูดตรงๆ คือคิดว่าน่าจะออกมาห่วยนั่นแหละ ซึ่งก็โอเค…หนังก็ไม่ได้ดี หรือมีคุณค่าให้เราจดจำมากนักหรอก อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยสิ่งที่ Geostorm ให้กับเราได้ คือ ความบันเทิงตลอด 2 ชั่วโมง ที่แม้อาจไม่ได้พีคสุด แต่ก็ไม่ถึงกับเสียดายตังค์เท่าไหร่ และมันยิ่งสนุกยิ่งขึ้น ถ้าเรามอง Geostorm ในฐานะ “หนังการเมือง” เรื่องหนึ่ง

ค่อนข้างแน่ชัดว่าเจตนาของ Geostorm คือการแสดงออกทางการเมืองในการต่อต้าน “Donald Trump” แม้ว่าในเรื่องจะไม่ได้มีการเอ่ยชื่อ Trump เลย แต่ก็พออนุมานได้จากเรื่องราวในหนัง ที่พูดถึงระบบควบคุมสภาพอากาศผ่านเครือข่ายดาวเทียม “Dutch Boy” ที่นานาชาตินำโดยสหรัฐฯ และจีนร่วมกันสร้างขึ้น หลังจากที่โลกเผชิญภัยพิบัติร้ายแรงหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องส่งมอบ Dutch Boy ให้ประชาคมนานาชาติดูแล สหรัฐฯ กลับอิดออด มีการเปลี่ยนตัวผู้ดูแล Dutch Boy เป็นคนที่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถคุมได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังเกิดเหตุบางประการกับ Dutch Boy ที่อาจทำให้แผนการส่งมอบต้องล่าช้าออกไป

ไม่นานมานี้ หลายคนคงเคยได้ข่าวว่าสหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ซึ่งป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปแลงของสภาพภูมิอากาศ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะภาระทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ต้องแบกรับ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงนโยบายหลักของ Trump ที่ว่า “American First” ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาก่อน มันสอดคล้องพอดีกับบทบาทของสหรัฐฯ ใน Geostorm ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการร่วมมือกับนานาชาติในการดูแลสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติตัวเองเป็นหลัก เชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ของชาติอื่น

การเสียดสี Trump ในเรื่องยังรวมไปถึงบทบาทของชาวเม็กซิโกในเรื่อง ที่กลายมาเป็นคนสำคัญในการทำให้ตัวเอกรอด ซึ่งก็คงจงใจเสียดสีนโยบาย Trump ที่จะกั้นกำแพงเม็กซิโก หรือการวางบทให้ประธานาธิบดีคนดีเป็น Democrat ก็คงตั้งใจสื่อว่า มีแต่ Trump ที่เป็น Republican เท่านั้น ที่มีนโยบายเอาแต่ได้ไม่สนใจโลกแบบนี้

กระนั้น สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือถึงแม้ Geostorm จะส่งสารต่อต้าน Trump อย่างชัดแจ้ง แต่คงพูดไม่ได้ว่าหนังคือตัวแทนของยุคสมัยใหม่ เป็นเสรีนิยมหัวก้าวหน้า เพราะถึงแม้หนังจะกล่าวถึงความจำเป็นของนานาชาติ และพยายามใส่ตัวละครหลากหลายเชื้อชาติเข้ามา แต่สุดท้าย Geostorm ก็ยังเชิดชูความเป็น American Hero อยู่ดี กล่าวคือ Geostorm เป็นการตอบโต้ Trump จากสายตาของคนยุค 90’s ยุคที่สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลก

ในขณะที่นโยบายของ Trump ดูจะไม่สนใจโลก สหรัฐฯ ในยุค 90’s นั้นสนใจโลก แต่ไม่ได้สนใจในแง่ที่ว่าทุกประเทศเท่าเทียมกับสหรัฐฯ หากแต่เป็นการสนใจเพื่อแสวงหาความชอบธรรมในการที่สหรัฐฯ จะเป็นผู้นำโลก เราจึงเห็นว่าใน Geostorm แม้จะมีพูดเรื่องนานาชาติ หรือใส่ตัวละครหลากเชื้อชาติเข้ามา แต่เราไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นประชาคมโลกในเรื่องเลย เพราะตัวละครชาติอื่นๆ มีขึ้นเพื่อเสริมให้ตัวเอกที่เป็นอเมริกันเด่นขึ้นเท่านั้น

แน่นอน Geostorm คงไม่ใช่หนังที่จะเป็นที่จดจำในอนาคต เราเองคิดว่าไม่นานก็คงลืมเลือนเรื่องนี้ แต่อย่างน้อยมันก็ตอบโจทย์ความบันเทิงที่หนังแนวนี้ควรจะมี และมุมมองการเมืองที่ปรากฎในเรื่องก็น่าสนใจไม่น้อย อย่างน้อย ก็ทำให้เราเห็นว่าแม้แต่ในกลุ่มคนที่ต่อต้าน Trump ก็ใช่ว่าจะมีความคิดความเห็นเหมือนกันเสียเมื่อไหร่

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)