[Review] Godzilla – การกลับมาของ “God” of Monsters

Godzilla หรือ Gojira เป็นหนังสัตว์ประหลาด (หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ไคจู”) ที่มีประวัติยาวนานกว่า 60 ปี หนังภาคแรกออกฉายในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1954 กลายเป็นปรากฎการณ์ในขณะนั้น และถูกสร้างต่อมาอีกหลายภาคนับจากนั้น จุดเด่นของ Godzilla ที่ทำให้มันแตกต่างจากหนัง/ละครแนว “Tokusatsu” (หนังยอดมนุษย์ที่ใช้คนแสดงจริง) เรื่องอื่นๆ ของญี่ปุ่น ก็ตรงที่ Godzilla เป็นทั้ง “ต้วร้าย” และ “พระเอก” ในหนังภาคแรกๆ Godzilla คือตัวร้ายถล่มเมือง แต่ภาคหลังๆ เริ่มขยับมาเป็นพระเอกจำเป็นคอยปกป้องเมืองจากตัวร้ายตัวอื่นแทน

และด้วยความที่ Godzilla สร้างมาหลายยุคหลายสมัย บางภาคก็เป็นตัวดี บางภาคก็เป็นตัวร้าย บางภาคก็เป็นตัวตลก บางภาคเป็นไคจูไฝว้กัน แต่บางภาคก็เน้นไฝว์กับมนุษย์ ความทรงจำและทัศนคติที่มีต่อ Godzilla ของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งความแตกต่างนี้อาจเป็นตัวตัดสินเลยว่าเราจะดู Godzilla 2014 ฉบับ Hollywood สนุกหรือเปล่า?

ด้วยวัย ผมเดาว่าหลายคนน่าจะเติบโตมากับ Godzilla ในยุคเฮย์เซ (ค.ศ.1984-1995) ซึ่งเป็น Godzilla ที่รับเป็นพระเอก สู้กับเหล่าไคจูตัวร้ายอื่นๆ เนื้อเรื่องเน้นความบันเทิง และให้ความสำคัญกับเหล่าไคจูมากกว่าตัวละครมนุษย์ ซึ่งถ้าเราติดภาพแบบนั้น เชื่อว่าจะดู Godzilla ภาคนี้ไม่สนุก ยิ่งใครอยากได้ความมันส์แบบไคจูฟัดกันแบบ Pacific Rim จะรู้สึกว่า Godzilla 2014 น่าเบื่อไปถนัด เพราะภาคนี้ย้อนกลับไปสไตล์ Godzilla แบบยุคโชวะ (ค.ศ.1954-1975) โดยเฉพาะภาคแรกปี ค.ศ.1954 ที่ผู้สร้างบอกอย่างชัดเจนว่าได้แรงบันดาลใจมากจากภาคนี้ แน่นอนผมเกิดไม่ทันยุคนั้น แต่ฟังจากที่หลายคนเคยเล่าฟัง Godzilla ยุคนั้นคือหนังสัตว์ประหลาดถล่มเมืองที่เล่าเรื่องผ่านสายตาของมนุษย์ โดยมี Godzilla รับบทวายร้าย

การย้อนกลับไปใช้ในแนวทางต้นฉบับ ทำให้ Godzilla โดยผู้กำกับ Gareth Edwards เป็น Godzilla ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ “มนุษย์” Godzilla ออกมาแค่ประมาณ 20% เท่านั้น และส่วนใหญ่ยังออกมาแบบให้เห็นแค่นิดๆ หน่อยๆ กว่าจะเห็นเต็มตัวก็ช่วงท้ายเรื่องนู่นแหละ เพราะตัว Gareth นั้นตั้งใจจะให้ภาคนี้เป็น Godzilla ในมุมมองของมนุษย์ มากกว่า Godzilla ในมุมมอง Godzilla เอง 

ภาคมนุษย์

เรื่องราวในส่วนของมนุษย์คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของเรื่อง โดยมีแกนหลักอยู่ที่การค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหล่าไคจูในเรื่อง พ่วงด้วยดราม่าครอบครัวระหว่างพ่อลูก ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าเส้นเรื่องทั้ง 2 อย่าง ไม่สามารถทำให้รู้สึก “อิน” ได้เลย โดยเฉพาะเส้นเรื่องในส่วนของครอบครัว ทั้งเรื่องสามีที่สูญเสียภรรยา เรื่องพ่อที่หมกหมุ่นกับการค้นหาความจริงจนลูกมองว่าเพี้ยน หรือเรื่องการเดินทางกลับไปหาครอบครัว มันเหมือนใส่ๆ มาให้หนังดูมีอะไร แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงไม่มีอะไรเหมือนเดิม เราแทบไม่รู้สึกซาบซึ้งกับสายใยครอบครัวของตัวละครหลักในเรื่องเลย แถมบทจะมอบจุดจบให้ตัวละครบางตัว ก็ทำอย่างรวดเร็ว แล้วก็ข้ามไปเรื่องอื่นต่อทันที จนไม่อินและรู้สึกไปว่าจะเสียเวลาสร้างประเด็นดราม่ามาทำไม เมื่อสุดท้ายก็เลือกทิ้งไปอย่างไม่ใยดี

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวบทจะออกมาอ่อนเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ในภาคมนุษย์ทำได้ดีคือการสร้างความรู้สึก “เล็กจ้อย” ให้กับมนุษย์ มันเหมือนกับให้ Godzilla และ M.U.T.O. ไคจูฝั่งร้ายในเรื่องเป็นช้าง แล้วให้เราเป็นแค่มด ไม่ว่าเราจะพยายามเพียงใด สุดท้ายเราก็ยังเป็นแค่มดที่โดนเหยียบทีเดียวก็ตายได้่อยู่ดี ซึ่งด้วยความรู้สึกแบบนี้ทำให้หนังประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวพร้อมๆ กับสงสัยว่าสิ่งที่เผชิญอยู่มันคืออะไรกันแน่ ยิ่งตัวหนังใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบ “กั๊ก” คือค่อยๆ ให้ตัว Godzilla ทีละนิด กว่าจะเห็นเต็มตัวก็ท้ายเรื่อง มันทำก็ให้ยิ่งรู้สึกว่าตัว Godzilla นั้นยิ่งใหญ่แค่ไหน และเราแค่นั้นตัวเล็กแค่ไหน ขนาดจะมองยังไม่สามารถมองเห็นได้ทั้งตัว เพราะมันใหญ่กว่าขอบเขตสายตาเราเสียอีก สิ่งที่ทำได้คือปล่อยให้พวกมัน “Let Them Fight”

ภาคไคจู

นอกจาก Godzilla แล้ว ในเรื่องยังมีไคจูอีก 2 ตัวคือ M.U.T.O. ตัวผู้กับตัวเมีย เป็นไคจูที่มีลักษณะคล้ายแมลง และเป็นตัว M.O.T.O. นี่แหละที่เป็นที่มาของเรื่องราว เมื่อมันเกิดหลุดจากการเป็นดักแด้และเริ่มหาอาหาร (ในเรื่องคือกัมมันภาพรังสี) โดยมีเป้าหมายคือการผสมพันธุ์ขยายเผ่าพันธุ์ เทียบกันแล้ว M.U.T.O. โผล่มาให้เห็นเยอะเสียยิ่งกว่า Godzilla เสียอีก แต่การโผล่น้อยไม่ได้หมายความว่าจะไม่เด่น เพราะทุกครั้งที่ Godzilla โผล่มา ไม่ว่าจะนิดๆ หรือแบบเต็มตัว มันสามารถตรึงอารมณ์ความรู้สึกพวกเราได้ตลอด ทำให้เราลืมความน่าเบื่อในส่วนดราม่าครอบครัวภาคมนุษย์ไปได้เลย ยิ่งการออกแบบ การเคลื่อนไหว และการปล่อยพลัง (มาไม่ปล่อยแต่คุ้มค่า) ในภาคนี้ ยิ่งทำให้ Godzilla ดูเป็นไคจูที่น่าเกรงขามและยิ่งใหญ่มาก สมคำว่า “God” ในชื่อ ลบภาพ Godzilla 1998 ที่ออกแนวกิ้งก่ายักษ์ไปได้หมดจด 

การที่หนังเลือกทุ่มความสนใจไปที่ M.U.T.O. มันยังไปช่วยสร้างความ “ลึกลับ” ให้กับตัว Godzilla เข้าไปอีก เพราะในขณะที่เรารู้แทบทุกอย่างเกี่ยวกับ M.U.T.O. แต่เรากลับแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ Godzilla เลย นอกเสียจากว่า มนุษย์เคยพยายามทำลายมันด้วยนิวเคลียร์ในปี 1954 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และการคาดการณ์ว่า Godzilla น่าจะเป็นศัตรูทางธรรมชาติของ M.U.T.O. ซึ่ง ณ ตอนนั้นมันอาจเป็นสมมติฐานที่ผิดก็ได้ มันเลยทำให้ความรู้สึกที่คนมีต่อ Godzilla ในเรื่องนี้จึงมีทั้งความหวาดกลัว หวั่นเกรง และเอาใจช่วยไปพร้อมๆ กัน การที่ Godzilla มาสู้กับ M.U.T.O. ไม่ได้หมายความว่ามันเห็นใจมนุษย์ แต่มันมาเพราะนี่คือศัตรูทางธรรมชาติ ต่อให้ไม่มีมนุษย์ก็ยังจะมา ในสายตาของ Godzilla มนุษย์อาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ควรค่าแก่การสนใจเลยก็ว่าได้ ตรงนี้แหละที่ทำให้ Godzilla เป็นที่จดจำและไม่ใช่แค่สัตว์ประหลาดที่ออกมาอาละวาดเฉยๆ แต่เป็นเสมือน “God” ที่ยิ่งใหญ่จนเราไม่กล้าเอาตัวไปเทียบเคียง

เป็น Godzilla เวอร์ชั่นที่เราอาจจำอะไรเกี่ยวกับเนื้อเรื่องไม่ได้ เพราะมันไม่น่าสนใจ แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้แน่ๆ คือ “ความยิ่งใหญ่” ของ “Godzilla” และคำตอบที่ว่าทำไม “Godzilla” จึงเป็นตัวละครที่ยังสามารถครองใจคนได้ แม้เวลาจะผ่่านมามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

ความชอบส่วนตัว: 8/10

 

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)