[Review] In the Heart of the Sea – ณ ใจกลางมหาสมุทร

ในอเมริกา มีวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ “Moby Dick” ผลงานของ “Herman Melville” ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับกัปตันเรือล่าวาฬ ที่ออกตามล่าวาฬยักษ์เผือกที่ชื่อว่า “Moby Dick” เพื่อล้างแค้น หลังจากที่วาฬตัวนี้เคยทำให้กัปตันต้องเสียขามาก่อน วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการยกย่องในการพรรณาและบรรยายการใช้ชีวิตในท้องทะเล และการล่าวาฬ ได้อย่างสมจริงจนน่าสยดสยอง ผสานไปด้วยการแทรกแนวคิดเชิงปรัชญา ผู้ล่า ผู้ถูกล่า และพระเจ้า

สำหรับ “In the Heart of the Sea” ไม่ใช่หนังที่สร้างจากวรรณกรรม “Moby Dick” โดยตรง แต่สร้างจากเรื่องจริงที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจการเขียน Moby Dick จึงมีอาจมีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกัน คือชีวิตในท้องทะเล การล่าวาฬ และการโจมตีจากวาฬยักษ์สีเผือก ซึ่งแม้ใน In the Heart of the Sea จะไม่ได้ระบุว่าวาฬเผือกในเรื่องชื่ออะไร แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่าวาฬตัวนี้แหละคือต้นแบบของ Moby Dick ในนิยายของ Herman Melville

“In the Heart of the Sea” พาย้อนไปยังปี ค.ศ.1820 ยุคสมัยที่เชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังไม่ถูกค้นพบ แต่ความต้องการพลังงานและแสงสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คำตอบของเรื่องนี้ จึงเป็นน้ำมันวาฬ ซึ่งว่ากันว่าสามารถให้พลังงานแสงสว่างได้ทั้งเมือง นั่นส่งผลให้ธุรกิจล่าวาฬกลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรอย่างงาม และล่าวาฬกันมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มขยายขอบเขตการล่าไปยังพื้นที่ห่างไกล ทั้งหมดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการพลังงานและผลกำรไรที่เพิ่มมากขึ้นไม่แพ้กัน

การที่มนุษย์ในยุคนั้น กล้าที่จะออกทะเลไปเป็นเวลานาน ยังท้องทะเลที่ห่างไกล และล่าวาฬ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ได้โดยไม่รู้สึกผิด อาจเพราะความเชื่อมั่นในความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ เป็นตัวแทนของพระเจ้า เนื่องจากท่านทรงสร้างมนุษย์ให้เหมือนท่าน ทำให้มนุษย์ถือตัวเองเป็นผู้ล่า ขณะที่สัตว์อื่นถือว่ามีสถานะต่ำกว่า และธรรชาติกำหนดให้พวกมันเป็นเพียงผู้ถูกล่าเท่านั้น

เนื้อเรื่องครึ่งแรกของ In the Heart of the Sea เป็นการดำเนินเรื่องตามแนวคิดนั้น หนังพาเราติดตามเรื่องราวในเรือล่าวาฬ “Essex” ที่ควบคุมโดยกัปตันหน้าใหม่ที่เพิ่งคุมเรือครั้งแรก “George Pollard, Jr.” (Benjamin Walker) โดยมีต้นเรือมากประสบการณ์ “Owen Chase” (Chris Hemsworth) ซึ่งมาร่วมงานแบบไม่เต็มใจ เพราะอันที่จริงเขาควรได้เป็นกัปตันเรือลำนี้ แต่บริษัทกลับมอบตำแหน่งให้ George ที่เป็นลูกหลานคนใหญ่คนโตของบริษัท นั่นทำให้ในการเดินทางทั้ง George และ Owen ต่างกินเส้นกัน จนส่งผลต่อการเดินเรือหลายครั้ง แต่ที่ทั้ง 2 ยังคงมีเหมือนกันก็คือ ความโลภในการอยากหาน้ำมันวาฬให้ได้มากที่สุด

เรือ Essex พาเราออกล่าวาฬ ตั้งแต่แอตแลนติกอ้อมอเมริกาใต้ไปจนถึงแปซิฟิก ซึ่งในช่วงของการล่านั้น แม้จะได้ไม่ถึงกับเหนือคาดกว่าหนังแนวเดียวกัน แต่ก็ยอมรับว่าทำได้สนุกตื่นเต้นไม่น้อย อย่างน้อยก็เป็นการล่าวาฬทีตื่นเต้น จนทำให้เราเกิดรู้สึกผิดขึ้นมา เพราะมันเท่ากับว่าเรากำลังสนุกไปกับฆ่าสัตว์ ยิ่งโดยเฉพาะในยุคนี้ ที่การฆ่าวาฬกลายเป็นเรื่องผิดบาปมหันต์ของทั้งโลก แต่ในหนังช่วงแรกกลับทำให้เราอยากให้เหล่าตัวเอกฆ่าพวกมันได้สำเร็จนี่สิ

หาก In the Heart of the Sea มีเพียงแค่ครึ่งแรก เชื่อว่าหนังคงโดนสาปส่งจากกลุ่มอนุรักษ์ไม่น้อย แต่หนังเรื่องนี้คงเอาตัวรอดจากข้อหานี้ไปได้ เพราะประเด็นสำคัญอยู่ในช่วงครึ่งหลัง เมื่อเรือล่าวาฬ Essex ต้องพลิกจากผู้ล่ากลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง พวกเขาโดนวาฬยักษ์สีเผือกโจมตีจนเรือแตก (คงไม่ถือว่า Spoil เพราะมีปรากฏใน Trailer) และยังคงตามไล่ล่าพวกเขาเป็นระยะๆ มันไม่ใช่แค่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือเท่านั้น แต่มันคือการทำลายความมั่นใจของลูกเรือ Essex รวมถึงธุรกิจล่าวาฬลงโดยสิ้นเชิง ว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้ล่าที่มีสิทธิกำหนดชะตาของสัตว์อื่นอีกต่อไป

ที่น่าประทับใจคือ บทบาทของวาฬยักษ์เผือกในเรื่องนี้ ไม่ได้ออกมาในแนวอสุรกายผู้ชั่วร้ายแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นทั้งความยิงใหญ่ ลึกลับ และตัวแทนบอกกล่าวกับพวกมนุษย์ ว่าพวกเขาก็รักในชีวิตของตัวเองเช่นกัน การไล่ล่าของวาฬยักษ์ ไม่ใช่เพื่อล้างแค้น แต่เพื่อให้เหล่าลูกเรือได้รู้สึกตัวว่าใครกันแน่ที่เป็นต้นเหตุของโศกนาฎกรรมเช่นนี้

น่าเสียดายนิดหน่อยตรงที่เรื่องราวในการเอาชีวิตรอดหลังเรือแตกนั้น ออกจะไปซ้ำๆ กับหนังแนวต้องรอดเรื่องอื่นๆ อยู่บ้าง โดยเฉพาะ Life of Pi นั้นทำให้ความกดดันทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ต้องเผชิญเพื่อเอาชีวิตรอดในเรื่องนั้น ไม่ได้ทำให้รู้สึกเหนิอคาดเท่าไหร่นัก และส่วนตัวก็ยังคิดว่า หนังยังสามารถขยี้ประเด็นความรู้สึกเล็กจ้อยของมนุษย์ได้มากกว่า แต่โดยรวมแล้วก็จัดเป็นหนังที่ดุสนุกดี และพยายามแฝงอะไรให้คิดไม่น้อย
 

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)