[Review] Inuyashiki – เส้นบางๆ ของการเลือกเป็นฮีโร่หรือวายร้าย

เป็นหนังที่ยกคะแนนเต็มสิบให้เป็นเรื่องแรกของปีนี้ ซึ่งก็บอกก่อนหนังไม่ได้ Perfect หรอก อย่างแรกเลยก็คือ CG ที่ไม่ได้เนียนสักเท่าไหร่นัก ฝั่ง Hollywood ไม่ต้องพูดถึง เทียบๆ กันแล้ว CG ยังด้อยกว่าฝั่งเกาหลี หรือแม้แต่หนัง Live Action ยุคหลังๆ ของญี่ปุ่นเองก็มีหลายเรื่องที่ทำ CG ได้ดีกว่านี้ คิดว่าหนังไม่น่าจะมีทุนสร้างอะไรที่มากมายอะไร อย่างในหลายๆ ฉากเรารู้สึกว่ามันน่าจะสเกลได้ใหญ่กว่านี้ ใส่ตัวประกอบ ใส่ Effect ใส่ CG ได้มากกว่านี้

อีกประการหนึ่ง ซุปเปอร์ฮีโร่ใน “Inuyashiki” ไม่ได้มีความ Romantic หรือ Idealist แบบซุปเปอร์ฮีโร่คนอื่น ตัวเอกไม่ใช่คนวัยหนุ่มสาวที่น่าตาดีที่เราจะเทใจให้ได้ง่ายๆ แต่เป็นเพียงมนุษย์ลุงขี้แพ้ที่ถ้าอยู่ในเรื่องอื่นๆ ก็คงเป็นเพียงตัวประกอบที่่ไม่มีใครสนใจ รวมทั้งฉากการใช้พลังมันก็ไม่ได้มีความเท่อะไรเลย กลับดูน่าขยะแขยงเสียด้วยซ้ำ (แถม CG ไม่เนียนอีก)

แล้วอะไรที่ทำให้เทใจให้เรื่องนี้ สำหรับผมมันคือเนื้อหา การดำเนินเรื่อง ข้อคิด และความสนุกที่ได้รับ ซึ่งมันทดแทนข้อด้อยของหนังเรื่องนี้ไปได้หมด ถ้าวัดกันที่เนื้อหาล้วนๆ ส่วนตัวยกให้ Inuyashiki เป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่ชอบสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก The Dark Kinght เลย เอาแค่แนวคิดเรื่องให้มนุษย์ลุงขี้แพ้เป็นฮีโร่ก็กินขาดแล้ว

“อิชิโระ อินุยาชิกิ” (นาริตาเกะ คินาชิ) คือมนุษย์ลุงที่ว่านั้น ในวัยใกล้เกษียณ อิชิโระเผชิญกับวิกฤติชีวิตครั้งใหญ่ ทั้งการพบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งที่คงอยู่ต่อได้อีกไม่กี่เดือน ชีวิตมนุษย์เงินเดือนก็ใกล้จบสิ้น เพราะความผิดพลาดซ้ำซาก จนบริษัทมองเป็นตัวถ่วงและอยากเอาออก ยิ่งไปกว่านั้นครอบครัวของเขาเอง ก็สูญสิ้นความนับถือเขาไม่ว่าจะในฐานะพ่อหรือผู้นำครอบครัว “หนูไม่คิดว่าพ่อจะปกป้องใครได้หรอก” เป็นคำที่ลูกสาวพูดกับเขา ซึ่งสำหรับสังคมญี่ปุ่นที่ชายเป็นใหญ่แล้ว ด้านลบของมันก็คือ เมื่อผู้ชายไม่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำ โดยเฉพาะจากสถาบันที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างครอบครัว มันเจ็บปวดไม่น้อย (สังคมถือเพศไม่ได้ทำร้ายทุกเพศนั่นแหละ) ดังนั้น ไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่ญี่ปุ่นจะมีปัญหาการฆ่าตัวตายเยอะ โดยเฉพาะจากผู้ชาย รวมไปถึงการที่ผู้ชายรุ่นใหม่ๆ ของญี่ปุ่นเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะต้องการหลีกหนีความกดดันแบบนี้เหมือนกัน

แต่ในคืนหนึ่งในสวนสาธารณะ ชีวิตของอิชิโระก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีสิ่งแปลกประหลาดเข้ามาในโลกและทำการเปลี่ยนเขาให้กลายเป็น “ไซบอร์ก” (ซึ่งทั้งเรื่องหนังก็ไม่ได้สนใจจะอธิบายว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะประเด็นไม่อยู่ที่ใครทำ แต่อยู่ที่ผลของสิ่งที่ทำคืออะไร) แม้ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์ แต่อิชิโระกลับรู้สึกถึง “ความเป็นมนุษย์” ที่มากขึ้น เมื่อเขาได้ใช้พลังที่ได้มาช่วยเหลือผู้คน ซึ่งในอีกแง่หนึ่งมันคือการกอบกู้ความรู้สึกนับถือตัวเอง ว่าตัวเองมีค่าที่จะอยู่ในโลกนี้ต่อไปเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่อิชิโระคนเดียวที่กลายเป็นไซบอร์ก ยังมี “ฮิโระ ชิชิกามิ” (ทาเครุ ซาโต้) เด็กหนุ่ม ม.ปลาย (แม้ว่าอายุของนักแสดงจริงจะเลย ม.ปลายไปมากแล้วก็ตาม) ที่ได้รับพลังมาเช่นกัน เทียบกันแล้วด้วยอายุและหน้าตา เชื่อว่าหลายคนอยากได้ฮีโร่แบบ “ฮิโระ” มากกว่าตาลุงอิชิโระเสียอีก (กระทั่งชื่อ “ฮิโระ” เองก็น่าจะจงใจให้พ้องกับคำว่า “ฮีโร่”) แต่กลายเป็นว่า เขากลับเลือกใช้พลังที่ได้รับไปในการฆ่าคน

ช่วงครึ่งแรกของ Inuyashiki เป็นช่วงที่ผมชอบมาก ทั้งที่ไม่ได้ฉาก Action อะไรนัก มันเป็นช่วงที่หนังให้เวลากับการตัดสินใจของคน 2 คนว่าจะใช้พลังที่ตัวเองได้รับในแบบไหน โดยเฉพาะในส่วนของฮิโระ เขาไม่ใช่แค่วายร้ายที่มีขึ้นเพื่อให้พระเอกมีงานทำเท่านั้น แต่นึ่คือหนึ่งในตัวร้ายที่ซับซ้อนที่สุดของโลก (จะว่าอวยไปมั้ย..อวยนั่นแหละ) คือเราเข้าใจได้เลยว่าทำไมฮิโระถึงเลือกจะเป็นผู้ร้าย อันที่จริงลึกๆ แล้วเราเชื่อว่า ฮิโระเองก็อยากเป็นฮีโร่ มันเป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจฮิโระมาตลอดตั้งแต่ก่อนได้รับพลังแล้ว เพราะมันเป็นความรู้สึกที่ช่วยชดเชยความบ้านแตกของตัวเองได้ แต่ในทุกครั้งที่ฮิโระอยากเป็นฮีโร่ กลับต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาต้องมาคิดว่าจะเป็นฮีโร่ไปทำไม ในเมื่อไม่มีผลที่ได้มันไม่มีอะไรเลย

เริ่มแรกฮิโระอยากจะใช้พลังปกป้องเพื่อนจากการโดน Bully แต่เมื่อเขาเริ่มใช้พลังในทางที่ผิด เพื่อนคนนั้นก็ถอยห่าง เขาใช้พลังเพื่อรักษาแม่ แต่ต่อมาก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียแม่ไป แม้กระทั่งเมื่อเขาตั้งใจจะใช้ปกป้องผู้หญิงที่ช่วยเหลือเขา เขาก็ทำไม่สำเร็จ ทั้งหมดทั้งมวลแปรสภาพกลายเป็นความแค้น แค้นทั้งคน แค้นทั้งโชคชะตา อย่างอิชิโระใช้พลังกอบกู้ความรู้สึกการเป็นมนุษย์ให้ตัวเอง แต่ฮิโระกลับรู้สึกว่าความเป็นมนุษย์มันเจ็บปวดเกินไป จึงเลือกจะใช้พลังเพื่อผลักตัวเองจากความเป็นมนุษย์เข้าสู่การเป็น “พระเจ้า”

เส้นแบ่งในการตัดสินใจว่าจะเป็น “ฮีโร่” หรือ “วายร้าย” นี่บางทีก็บางเบาเหลือเกิน

ช่วงครึ่งหลังหนังอัด Action เข้ามาเต็บสูบ แม้จะได้พีคสุดแบบ Kenshin หรือ Ajin แต่ก็สนุกตื่นเต้นไม่น้อย แถมมีบางช่วงหักมุมอีก แล้วยิ่งหนังปูเรื่องราวของทั้งอิชิโระและฮิโระมาอย่างดี ทำให้พอฉากปะทะกันมันเกิดอาการลำบากใจไม่น้อย เพราะด้านหนึ่งบอกว่าเราควรเอาใจช่วยอิชิโระ แต่อีกด้านหนึ่งเราก็อดรู้สึกเข้าใจและเห็นใจฮิโระเสียไม่ได้ หลายช่วงที่เรารู้สึกสะใจกับการฆ่าของฮิโระ อย่างการฆ่าผ่าน Smartphone และหน้าจอ Computer นี่มันโคตรจี้ใจดำเลย เพราะยอมรับว่าเวลาเห็น Comment แย่ๆ ในเน็ต ลึกๆ เราก็อยากมีพลังที่จะฆ่าเจ้าพวกนั้นเหมือนกัน (ซึ่งมันน่าอึดอัดใจเพราะเราไม่ควรจะคิดแบบนั้น)

ยังไม่เคยดู “Inuyashiki” เวอร์ชั่นที่เป็น Anime นั้น เห็นเขาว่าดีกว่า แต่สำหรับผม Inuyashiki คือดีมากอะ อาจเพราะชอบหนังฮีโร่ที่ดูมีเนื้อมีหนัง ไม่ได้แบ่งแยกขาว-ดำชัดเจนเกินไป และไม่ติดภาพ Anime หรือมังงะเกินไป จริงๆ หนัง Live Action ช่วงหลังๆ ของญี่ปุ่นนี่มีเน้นประเด็น “ความเป็นมนุษย์” เยอะเหมือนกันแฮะ คิดว่าน่าจะเป็น Point หลักของสังคมญี่ปุ่นช่วงนี้เลยมั้ง ซึ่งถ้าเทียบๆ กับหนัง Live Action ที่เล่นกับประเด็นนี้ที่ได้ดูแล้ว อย่าง Attack on Titan, Parasyte, Blade of the Immortal, Fullmetal Alchemist, Ajin แล้ว “Inuyashiki” กินขาดเลย

ป.ล. อยากรู้จริงว่า อิตา “ทาเครุ ซาโต้” นี่มีหลักในการเลือกรับงานยังไง เพราะเล่นเยอะ แถมหลายแนว แต่งานโอเคแทบทั้งนั้นเลย คือถ้าใครอยากเริ่มต้นดูหนังญี่ปุ่น แต่ไม่รู้จะเริ่มจากไหน ก็เริ่มจากหนังที่อิตานี่เล่นแล้วกัน รับประกันได้ในระดับหนึ่ง

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)