[Review] คุณทองแดง The Inspirations – แรงบันดาลใจหรือแค่จงใจ “โหน”

The Inspirations

ก่อนอื่นควรทราบว่า “คุณทองแดง The Inspirations” ไม่ใช่ Animation ชีวประวัติของคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นหนังที่ใช้ “แรงบันดาลใจ” จากคุณทองแดง (โปรดสังเกตคำว่า The Inspirations ที่ในโปสเตอร์อาจจะทำตัวเล็กๆ ไว้หน่อย) มาสร้างเป็นเรื่องราว นำเสนอผ่านตัวละครสุนัขที่ยึดคุณทองแดงเป็น Hero

คำถามข้อแรกที่น่าคิดคือ เราสามารถใช้คำว่า “แรงบันดาลใจ” กับหนังเรื่องนี้ได้หรือเปล่า เราต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่าคุณทองแดงเป็นสุนัขทรงเลี้ยง และเป็นสุนัขที่มีความเฉลียวฉลาดไม่น้อย แม้จะเคยเป็นสุนัขจรจัด แต่การแต่งเรื่องราวให้สุนัขในหนังไปถึงเอายอมสละชีวิตเพื่อปกป้องเจ้าของ ต่อสู้กับคนร้ายอย่างไม่เกรงกลัว กระโดดตัดหน้ารถเพื่อเรียกให้คนช่วยเจ้านาย ฯลฯ เหล่านี้เป็นการคิด “เกิน” ไปกว่าวีรกรรมจริงๆ ของคุณทองแดงหรือไม่ (นี่พิมพ์ไปเริ่มหวั่นๆ ละ หวังว่าคงไม่โดนข้อหาหมิ่นคุณทองแดงนะ)

ตัวหนังเองก็คงตระหนักถึงข้อนี้หรือเปล่า จึงต้องให้มีตัวละครที่เป็นมนุษย์อา-หลาน เล่นโดย “โหน่ง ชะชะช่า” กับ “น้องเกล โสพิชา” มาเป็นคนเล่าเรื่อง และคอยบอกว่าวีรกรรมของนิทานสุนัขที่เล่าในแต่ละเรื่องนั้น เกี่ยวข้องกับคุณทองแดงอย่างไร แต่แทนที่จะทำให้ซาบซึ้งกับเรื่องราวมากขึ้น กลับกลายเป็นความรู้สึกถูกยัดเยียด พยายามโยนทิ้งสิ่งทุกอย่างให้ไปเกี่ยวข้องกับคุณทองแดงมากเกินไป ทั้งที่แกนหลักของเรื่องมันน่าจะเป็นเรื่องสุนัข “จรจัด” เสียมากกว่า Animation คุณทองแดงเรื่องนี้ จึงอาจไม่ใช่ The Inspiration แต่เรียกว่า “คุณทองแดง The โหน” น่าจะเหมาะกว่านะ

Animations

“คุณทองแดง Animation” ไม่ใช่หนัง Animation ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผสมกับการใช้ตัวละครมนุษย์จริงๆ โดยให้ Animation ทำหน้าที่แทนภาพในนิทานเกี่ยวกับสุนัขจรจัดที่อาเล่าให้หลานฟัง ซึ่งด้วยกัน 3 เรื่อง แต่ละเรื่องมีสไตล์ภาพและเนื้อเรื่องที่แตกต่างกันออกไป เพราะใช้สตูดิโอทำคนแห่งกัน (หนังเรื่องนี้ใช้สตูดิโอทั้งหมด 4 แห่ง อีกแห่งรับผิดชอบงาน Animation เล่าเรื่องหนังสือคุณทองแดง ใน Part ของโหน่งกับน้องเกล) ถ้ามองในแง่ความหลากหลายและการประหยัดเวลาในการสร้าง การทำเรื่องหนังซ้อนหนังในลักษณะนี้ก็เป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่รู้สึกคือ มันเหมือนการแจกโจทย์ แล้วก็ต่างคนต่างทำ ไม่เคยคุยกัน ไม่มีการคุมงาน ทำให้ Animation แต่ละเรื่อง ออกมาอย่างสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง และไม่สื่อถึง Main หลักของเรื่องเลย (หรือจริงๆ มันไม่มี Main หลักของเรื่องอยู่แล้ว แค่จะโหนอย่างเดียว)

“หมาวัด” คือ Animation เรื่องแรก เล่าเรื่อง “จร” หมาวัดหน้าใหม่ในวัดป่าแห่งหนึ่ง ที่เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือหลวงตา และสู้กับคนร้ายที่หมายจะขโมยพระพุทธรูปที่วัด ในงานด้านภาพ เข้าขั้นไม่สวย ดูแข็ง และหยาบเกินไป แทบไม่มีรายละเอียดอะไรเลย (ยกเว้นช่วง Tie-in สินค้า ที่รายละเอียดมาเต็ม) เราคงไม่เอาไปเทียบกับงานของฝั่ง Hollywood เพราะปัจจัยมันต่างกัน แต่ต่อให้เทียบกับงาน Animation ไทยอย่าง Birdland หรือ Sheldon ก็ยังถือว่าน่าผิดหวังอยู่ดี แต่งานด้านภาพยังไม่เป็นปัญหาเท่าตัวบท ที่ดูเดิมๆ (เข้าขั้นเชย) และพยายาม Set ให้ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมกับเรื่องได้เลย ที่แปร่งสุดก็ท้ายเรื่อง เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี ค้นพบว่าพระประธานมีทองซ่อนอยู่อ จากวัดป่าก็กลายเป็นวัดที่มีคนมาทำบุญมากมาย ตกลงคือจะบอกว่า คนมาวัดเพราะพระประธานเป็นทองมากกว่ามาวัดเพราะศรัทธาเหรอ นี่ยังไม่รวมการตกแต่งวัดด้วยธงเหลืองท้ายเรื่อง ราวกับมีเจ้านายเสด็จอีก แต่ก็ไม่เห็นมีไร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้น่าจะเป็นตอนที่เนื้อหาสื่อถึงประเด็นหมาจรจัดกับความกตัญญูได้เด่นชัดที่สุดแล้ว

“ทองหล่อ” เป็น Animation ที่งานละเอียดและสวยงามที่สุดในเรื่อง มีรายละเอียดของตัวสุนัขมากขึ้น รวมถึงฉากวิวทิวทัศน์ก็ทำได้ดี ตัวเรื่องยังเน้นความสดใส โดยเล่าเรื่องผ่าน “ฟ้า” เด็กหญิงตาบอดกับสุนัขชื่อทองหล่อ ที่อยากจะแบ่งเบาภาระของคุณยาย มีการแทรกเพลงเข้าไป ทำให้เรื่องสดใสยิ่งขึ้น แม้ว่าเพลงนั้นจะไม่ค่อยเพราะและติดหูก็ตาม ปัญหาของตอนนี้คือ การออกแบบท่าทางของฟ้า ที่ดูไม่เหมือนคนตาบอดเอาเสียเลย และต่อให้น้องฟ้าในเรื่องไม่ใช่คนตาบอด ก็คิดว่าไม่น่าจะส่งผลต่อเนื้อเรื่องเท่าไหร่ ขณะที่แกนของเรื่องที่เหมือนจะกำหนดว่าเป็น “จงรักภักดี” ก็ยังไม่ชัดในประเด็นนี้ เพราะเหมือนหนังไปตีความว่า จงรักภักดี = บอดี้การ์ด ทำให้เราเห็นมุมความจงรักภักดีจากตัวทองหล่อ แค่การไปตามคนมาช่วยเท่านั้นเอง ซึ่งมันก็จะไปซ้ำๆ กับตอนหมาวัดอีก

“คอปเปอร์เพื่อนรัก” เป็น Animation ตอนสุดท้าย ที่แหวกแนวไปเลย เพราะเลือกจะเซทฉากเป็นโลกหุ่นยนต์แบบในหนังเรื่อง “ยักษ์” เพราะสตูดิโอเดียวกันเป็นคนทำ และก็เอาตัวละครในยักษ์มาใส่ในเรื่องนี้ด้วย (หรือมองแง่ร้ายหน่อยคือขี้เกียจออกแบบตัวละครใหม่) ข้อเสียคือมันแหวกเกินไป จนไม่เข้ากับที่เหลือ ขณะที่เนื้อเรื่องซึ่งเล่าเกี่ยวกับ “สนิม” หุ่นเด็กที่ไม่ค่อยมีเพื่อน ได้ไปเจอคอปเปอร์ หุ่นสุนัขที่ถูกทิ้งไว้ สนิมนำมันมาซ่อมจนมีชีวิตอีกครั้ง และกลายเป็นความผูกพันระหว่างคนกับหมา แต่ไม่นานนักก็มีข่าวว่า เจ้าของตัวจริงกำลังออกตามหาคอปเปอร์ เนื้อเรื่องพยายามสื่อเรื่องคนที่ไม่มีใครสนใจ ที่สะท้อนผ่านทั้งตัวสนิม และคอปเปอร์ที่ถูกทิ้ง เพื่อโยง (หรือโหน) ไปถึงคุณทองแดงที่มีที่มาจากสุนัขจรจัดเช่นกัน แต่เนื้อเรื่องของคอปเปอร์เพื่อนรักก็ไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้อินในตรงนั้น อาจเพราะสนิมไม่ได้ดูเป็นคนที่สังคมทอดทิ้งจริงๆ ยังมีคนที่รัก และพูดจาดีด้วยกับสนิมหลายคน ขณะที่ตัวคอปเปอร์ก็ไม่ใช่สุนัขจรจัดจริงๆ อีก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่พยายามเพิ่มความซับซ้อนของตัวบท ด้วยการใส่หักมุมเข้าไป แม้มันจะเป็นการหักที่ดูตั๊งใจ๊ตั้งใจมากก็ตาม

Tie-in

ถึงจะมีจุดไม่สมประกอบหลายจุด แต่คิดว่าคงไม่มีจุดไหนที่น่าเศร้าจนน่าตลกได้เท่ากับการ Tie-in ในเรื่อง เข้าใจว่าหนังใช้ทุนสูงอยู่ และรายได้จากการโฆษณาแฝงก็น่าจะพอจุนเจือทุนสร้างได้บ้าง แต่มันก็น่าจะมีวิธี Tie-in ได้เนียนกว่านี้ ไม่ใช่การพยายามยัดฉากเข้าไปเพื่อโชว์สินค้าอย่างเดียว เริ่มตั้งแต่ต้นเรื่องที่โหน่ง อยู่ก็เกิดหิวน้ำขึ้นมา จึงให้หมาไปหยิบน้ำในตู้เย็นที่เต็มไปด้วย…น้ำดื่มตรา K-Bank หรือที่น่าสังเวชสุดคือในตอนหมาวัด ในช่วงที่หลวงตาบิณฑบาตพร้อมด้วยเจ้าจรเดินผ่านทุ่งนา บนท้องฟ้าก็มีเครื่องบินบินอยู่ โดยบินต่ำๆ เพื่อให้เห็นตรา AirAsia อย่างชัดเจน แล้วไม่ใช่แค่ครั้ง แต่ฉายวนฉากนี้ 2-3 ครั้ง ส่วนตอนทองหล่อนี่ก็ไม่แพ้กัน ท้ายรถกระบะของลุงในเรื่อง ก็มีสติ๊กเกอร์ DTAC ให้เห็นกันชัดๆ นี่ดีตอนฉากโทรศัพท์ในเรื่อง ไม่โชว์ให้เห็นสัญญาณ DTAC ไปด้วยเลย

รอบที่ไปดูมีเด็กไปดูด้วยหลายคน ซึ่งก็สังเกตว่าก็มีหลายคนที่สนุกไปกับหนัง (แม้จะไม่มากก็ตาม) ส่วนตัวลองคิดว่าหากตัวเองเป็นเด็กมาดูแบบไม่คิดอะไร ก็น่าจะพอถูไถสนุกไปกับเรื่องได้ แต่ก็เป็นความสนุกที่พร้อมจะลืมเลือนอย่างรวดเร็ว เหมือนซื้อ VCD การ์ตูนภาพหยาบๆ ราคาไม่กี่สิบบาทมาดูที่บ้าน ไม่ติดอยู่ในความทรงจำ และไม่มีการค้นต่อไปถึงเรื่องราวของคุณทองแดงจริงๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะหนังเรื่องนี้ดูจะมีขึ้นเพื่อจงใจโหนคุนทองแดง มากกว่าเน้นที่ตัวคุณทองแดงจริงๆ
 

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)