[Review] Lion – ไม่มีสิงโตสักตัวเดียวในหนังเรื่องนี้

หมายเหตุ: อาจมี Spoil แนวทางการดำเนินเรื่อง

ถึงจะใช้ชื่อว่า “Lion” แต่บอกไว้ตรงนี้เลยว่า เรื่องนี้ไม่มีสิงโตให้เห็นตัวเป็นๆ สักตัวเดียวหรอกนะ เผื่อใครเข้าใจผิดเห็นชื่อแล้วคิดว่าเป็นหนังสัตว์โลกน่ารัก (พูดไปอย่างนั้นแหละ คงไม่มีใครคิดแบบนั้นมั้ง -_-) อย่างไรก็ตาม ตัวหนังเองจะมีเฉลยในตอนท้ายว่าทำไมเรื่องนี้ถึงต้องชื่อว่า “Lion” ซึ่งไม่ใช่แค่เหตุผลเพราะทรงผมของพระเอกละม้ายคล้ายสิงโตแน่นอน

“Lion” สร้างจากเรื่องจริงของ “Saroo Brierley” อดีตเด็กชายชาวอินเดียในชนบทอันห่างไกล ซึ่งพลัดหลงกับครอบครัว ก่อนที่ต่อมาจะถูกอุปการะโดยครอบครัวชาวออสเตรเลีย Saroo ย้ายมาและเติบโตในออสเตรเลีย กลายเป็นนักธุรกิจที่ชีวิตดูมีความสุขดี มีพร้อมทั้งทรัพย์สินและคนรัก แต่เรื่องราวในอดีตยังสะกิดใจเขาลึกๆ อยู่เสมอ ต่อมา Saroo ได้รู้จักกับโปรแกรม “Google Earth” จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาคิดใช้มันเพื่อตามหาครอบครัวที่แท้จริงของเขา

Plot เรื่องมีความดราม่า และมีศักยภาพจะเรียกน้ำตาได้ไม่ยาก แต่แทนที่ “Lion” จะเล่าออกมาอย่างบีบคั้น หนังกลับเล่าเรื่องราวออกมาอย่าง “ซื่อตรง” เรียงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ แทบไม่ค่อยมีลูกเล่นอะไรนัก ช่วงครึ่งแรกของหนังจะเล่าเรื่องราวของ Saroo ในวัยเด็ก ขณะที่ช่วงครึ่งหลังจึงค่อยมาเล่า Saroo ในวัยหนุ่ม ซึ่งเริ่มคิดตามหาบ้านเกิดตัวเองอีกครั้ง การเล่าเรื่องแบบนี้อาจทำให้หนังดูเรียบๆ ขาดความน่าตื่นเต้นไปบ้าง แต่ข้อดีของวิธีการนี้คือทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับตัวละคร และจะเข้าใจว่าในช่วงท้ายเรื่อง ทำไม Saroo จึงมีความคิดเช่นนั้น กระทำเช่นนั้น เพราะเราได้เห็นการเติบโตของเขามาตั้งแต่ต้นเรื่อง

และแม้หน้าหนังจะชวนให้เราคิดว่า ประเด็นหลักของเรื่องคือ “การค้นหา” แต่เอาเข้าจริงแล้ว หนังกลับไม่ได้เน้นเรื่องราวของการค้นหามากนัก เกือบจะ 10 นาทีสุดท้ายของเรื่องด้วยซ้ำ ที่ถึงจะเริ่มค้นหากันจริงๆ และเป็นการเดินทางค้นหาที่แทบไม่มีอุปสรรคใดขวางกั้นเลย ดังนั้น ใครที่จะหวังความสนุกตื่นเต้นจากการตามหาครอบครัวของ Saroo ก็อาจจะผิดหวังได้ เพราะแก่นหลักที่ Lion ต้องการนำเสนอไม่ใช่การค้นหา แต่คือ “ความคิดที่จะเริ่มค้นหา” ต่างหาก

การย้ายจากอินเดียมายังออสเตรเลียของ Saroo ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนสถานที่ แต่ยังเปลี่ยนชีวิตด้วย หนังเลือกเล่าตามลำดับเวลาส่วนหนึ่งก็อาจเพราะต้องการให้เราเห็นได้ชัดว่า ชีวิตในอินเดียกับออสเตรเลียนั้นต่างกันมากทีเดียว ในออสเตรเลีย Saroo เติบโตมาภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ ครอบครัวอุปถัมภ์ของเขาแม้จะคนละเชื้อชาติ คนละผิวสี แต่ก็รักเขายิ่งกว่าลูกแท้ๆ เสียอีก ลองคิดว่าถ้าเราเป็น Saroo มันคือความโชคดีมากๆ เป็นชีวิตแบบที่เด็กหลายคนใฝ่ฝันจะได้เป็น แต่ไม่เคยได้เป็น แล้วถ้าเราได้รับโอกาสนั้น เราอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกหรือ

Saroo สามารถกลายเป็นคนออสเตรเลียได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าไม่มีสิ่งเดียวจากอินเดียที่ยังเหนี่ยวรั้งเขาไว้อยู่ นั่นก็คือ ความรู้สึกคิดถึง “แม่ พี่ชาย และน้องสาว” เมื่อชีวิตใหม่ก็มอบสิ่งดีๆ มากมายให้กับเขา ขณะที่ชีวิตเก่าก็ยังมีครอบครัวอยู่ รวมไปถึงความกังวลว่า หากเขากลับไปหาชีวิตเก่า มันจะดูเหมือนเป็นการปฏิเสธชีวิตใหม่หรือไม่ และนั่นจะเป็นการทำลายความรู้สึกของพ่อแม่อุปถัมภ์ของเขาด้วยหรือไม่ นี่จึงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับ Saroo ในการตัดสินใจว่าเขาควรค้นหาครอบครัวเดิมของเขาหรือไม่

หนังไม่ได้ดราม่าจัด ปมอาจไม่ถึงหนักหน่วง แต่หนังก็สามารถทำให้เราอินไปกับตัวละครได้ Lion ยังโดดเด่นที่ทีมนักแสดง ทั้ง Saroo วัยเด็กที่รับบทดาราเด็กหน้าใหม่ “Sunny Pawar” ซึ่งแจ้งเกิดได้อย่างสวยงาม ขณะที่ Saroo วัยโต ที่รับบท “Dev Patel” ก็ฝีมือก้าวกระโดดจากเรื่องก่อนๆ ลุคไว้ผมยาว ไว้หนวด ไว้เครา ยังทำให้ Dev ดูดีขึ้นมากทีเดียว จากเรื่องนี้น่าจะส่งให้ Dev เป็นนักแสดงชาวอินเดียที่สามารถเติบโตใน Hollywood ต่อไปได้ไม่ยาก อีกคนที่โดดเด่นใน Lion ก็คือ “Nicole Kidman” ที่อาจจะออกไม่เยอะ แต่ก็น่าจดจำไม่น้อย ที่อาจเงียบๆ ไปบ้างก็ “Rooney Mara” ที่เรื่องนี้ไม่ค่อยมีโอกาสได้โชว์ของเท่าไหร่

“Lion” จึงน่าจะเหมาะกับใครที่อยากดูหนังขายการแสดง และหนังดราม่าที่ไม่บีบคั้นจนเกิดไป ออกจากโรงด้วยความสนุกดี แต่อย่างที่บอกไว้ ถ้าอยากดูสิงโตไม่มีในหนังเรื่องนี้นะครับ ^^

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)