[Review] Steve Jobs – ไม่ต้องเป็นสาวก ก็สนุกได้

ยืดอกพกความมั่นใจบอกได้เต็มปากว่า ส่วนตัวนั้นเป็นสาวก Android ตั้งแต่เข้าสู่ยุค Smartphone ก็ใช้แต่ Android มาตลอด (แต่เปลี่ยนยี่ห้อทุกครั้ง 555) และก็ยอมรับโดยตรงว่าส่วนตัวก็ค่อนข้างอคติปนอิจฉาทางฝั่ง Apple อยู่ลึกๆ (จริงๆ ก็ไม่ลึกเท่าไหร่) โดยเฉพาะช่วงหนึ่งที่ iPhone ครองความยิ่งใหญ่ (ตอนนี้ถ้านับในเชิงยี่ห้อก็ยังครองอยู่) ก็เกิดเป็นอาการหมั่นไส้เล็กๆ บางส่วนอาจบอกว่า ผมอคติกับ Apple เพราะไม่มีตังค์ซื้อละสิ…ก็ใช่หากเป็นเมื่อก่อน แต่ตอนนี้มีตังค์แล้ว เราก็ยังเลือก Android อยู่ดี

กระนั้น สาวก Andriod อย่างผม ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า “Steve Jobs” เวอร์ชั่นนี้สนุกมากจริงๆ

ส่วนตัวไม่ได้ดู “Jobs” ซึ่งเป็นหนังชีวประวัติของ “Steve Jobs” ที่ทำออกมาหลังการเสียชีวิตของเขา ก็อย่างว่าเราไม่ใช่สาวก Jobs นี่หน่า แล้วตอนนั้น Jobs ค่อนข้างได้รับคำวิจารณ์ไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือ “น่าเบื่อ” แม้ “Ashton Kutcher” หนึ่งในสาวก Apple จะได้รับคำชมว่าสามารถแปลกโฉมได้เหมือน Jobs มากเพียงใดก็ตาม แต่กับหนังอีกเวอร์ชั่นอย่าง “Steve Jobs” นั้นค่อนข้างแตกต่างออกไป แม้จะประสบปัญหาในการสร้างล่าช้า ต้องเปลี่ยนนักแสดงนำหลายครั้ง กว่าจะมาลงตัวที่ “Michael Fassbender” กับการสวมบทบาทเป็นศาสดา “Steve Jobs” ซึ่งสาวกต่างสรรเสริญกันว่า “เหมือนมาก….ตรงไหน!!!” และแม้ผลตอบรับในเชิงรายได้ของ Steve Jobs ภาคนี้จะล้มเหลวแค่ไหน แต่กลับไปได้ดี (มาก) ในกระแสคำวิจารณ์ ยิ่งประกันด้วยการกำกับของ “Danny Boyle” และการเขียนบท “Aaron Sorkin” ด้วยแล้ว ก็อดไม่ได้ที่สาวก Android คอหนังอย่างเราจะอยากดูขึ้นมา

“Steve Jobs” สร้างโดยอิงจากหนังสือชีวประวัติ Jobs ที่เขียนโดย “Walter Isaacson” ซึ่งเป็นนักเขียน นักข่าว อดีต CEO ของ CNN และบรรณาธิการของ Time ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือเป็นชีวประวัติเล่มเดียวที่ Jobs เป็นคนขอให้เขียนขึ้นด้วยตัวเอง โดยเขียนขึ้นในช่วงที่ Jobs กำลังป่วย เพื่อหวังให้ผู้คนรู้จักตัวตนเขาจริงๆ ผ่านหนังสือเล่มนี้มากขึ้น ในหนังสือนอกจากการพูดคุยของ Jobs โดยตรงแล้ว Isaacson ยังได้พูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องกับ Jobs ทั้งเพื่อน ครอบครัว คนทำงาน คู่แข่ง ฯลฯ เพื่อให้ได้มุมมองที่คนภายนอกมอง Jobs ด้วย

แต่ “Steve Jobs” ในมือ “Aaron Sorkin” มือเขียนบทที่เคยฝากผลงานจาก “The Social Network” กลับเลือกทำในสิ่งที่ต่างออกไป แทนที่จะเล่าเรื่องชีวประวัติของ Jobs ตามปกติ ว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร Sorkin เลือกเพียง 3 เหตุการณ์เด่นในชีวิต Jobs มานำเสนอ นั่นคือ การเปิดตัว “Apple Macintosh” ในปี 1984, การเปิดตัว “NeXT Computer” ในปี 1988 และ การเปิดตัว “iMac” ในปี 1998 โดยโฟกัสไปที่ช่วงระยะเวลาก่อนขึ้นเวทีงานเปิดตัวแต่ละครั้ง ดำเนินเรื่องแทบจะตรงกับระยะเวลาจริง ซึ่งเราจะได้เห็นการเตรียมงาน เตรียมพร้อมของ Jobs ไปพร้อมๆ กับการทำความรู้จักตัวเขาผ่านบทสนทนาของเขากับบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง ครอบครัว เพื่อน หรือเจ้านาย

น่าแปลก ทั้งที่หนังเลือกโฟกัสเพียงแค่ 3 เหตุการณ์ เกือบ 98% ของเรื่องเป็นฉากในงานเปิดตัวสินค้า แต่กลับทำให้เรารู้จักความเป็น Steve Jobs อย่างกับรู้จักเขามาทั้งชีวิต เราเห็นด้านของความเป็นอัจฉริยะ เด็ดขาด บูชาความสมบูรณ์แบบ คิดในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาใช้มาตลอดในการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์โดย Jobs หลายชิ้นนั้นประสบความสำเร็จและสร้างกลุ่มคนที่ชื่นชอบไปจนถึงบูชามากมาย แต่ขณะเดียวกันหนังก็แสดงให้เห็นอีกด้านของ Jobs ที่เอาแต่ใจ เย่อหยิ่ง จองหอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลให้เขาล้มเหลวในการผลักดันหลายๆ ผลิตภัณฑ์เช่นกัน แถมยังสร้างความเอือมระอาไปจนถึงเกลียดชังให้กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว และคนที่ทำงานกับเขา

หนัง “Steve Jobs” เวอร์ชั่นนี้เปิดตัวในบ้านเกิดอย่างไม่สวยงามนัก แม้คำวิจารณ์จะดี แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้หนังไปต่อได้นัก ความล้มเหลวของหนังในบ้านเกิดอาจวิเคราะห์ได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคนดูเข็ดจาก “Jobs” เวอร์ชั่นก่อน หรือเพราะ iPhone ไม่ได้เป็นผู้นำตลาด/นวัตกรรม แบบเด็ดขาดเหมือน 2-3 ปีก่อน แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าคิดก็คือ “Steve Jobs” เวอร์ชั่นนี้ไม่ใช่หนังสำหรับสาวก Apple

นั่นก็เพราะ Jobs ในหนังเรื่องนี้ มีความ Dark ค่อนข้างสูง และตัวหนังไม่ได้โฟกัสไปที่การสร้างนวัตกรรมเท่าไหร่นัก สิ่งที่หนังโฟกัสคือความเป็น Jobs จริงๆ ซึ่งอาจไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด การที่หนังเลือกหยุดอยู่แค่ปี 1998 ยังอาจทำให้สาวกรุ่นใหม่ที่เริ่มตาม Jobs จาก iPod หรือ iPhone เกิดการต่อไม่ติดกับเรื่องในอดีตได้ นั่นทำให้คนที่เป็นสาวกบูชา Jobs ก็อาจไม่อยางเสี่ยง ขณะที่คนที่ไม่ชอบ Jobs ก็คงไม่อยากดูอยู่แล้ว อาการแป๊กของหนังเลยพอเข้าใจได้ ทั้งที่ถ้าทั้ง 2 ฝั่งลองเปิดใจ จะพบว่านี่เป็นหนังที่สนุกและนำเสนอความเป็น Jobs ได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง (แม้ว่ารายละเอียดหลายอย่างอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ตาม)

แม้กระทั่งการที่หนังเลือกจบที่ 1998 ก็ถือได้ว่ามีความหมายเช่นกัน เพราะปี 1998 กับการเปิดตัว iMac คือปีที่เป็นจุดเปลี่ยนในแง่ที่ Jobs เริ่มหันมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคนรอบข้าง ซึ่งเรามองต่อไปได้ว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลังจากนั้นผลิตภัณฑ์ที่ Jobs ปล่อยออกมา ไม่ว่าจะ iPod, iPhone, iPad นั้นต่างประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยกันทั้งสิ้น

สำหรับ “Michale Fassbender” นั้น เราอาจตั้งแง่ตอนต้นว่า “เหมือน Jobs ตรงไหน” ซึ่งก็ใช่ ไม่เหมือนสักนิด แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ เราแทบลืมไปเลยว่า เขาหน้าไม่เหมือน Jobs เพราะ Michale Fassbender กลับถ่ายทอดบทบาทตัว Jobs ได้อย่างแนบเนียน ไม่หลุด แล้วยิ่งตัวหนังเต็มไปด้วยบทสนทนาโต้ตอบกับคนรอบข้าง Michale แสดงความเก่งกาจด้วยการรักษาความโดดเด่นของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้คนอื่นดูเด่นไปด้วย Michael Fassbender อาจไม่ได้เป็น Jobs ที่หน้าตา แต่จิตวิญญาณเขาคือ Jobs ไปแล้ว

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)