[Review] Sway – ทุกความสัมพันธ์มีจุดเปลี่ยน

 
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้อุตสาหกรรมหนังไทยจะดูเหมือนถดถอยลงในแง่รายได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เติบโตสวนทาง ก็คือ หนังนอกกระแส ที่มีพื้นที่ในการนำเสนอและเป็นที่จับตามองและได้รับการยอมรับจากคนดูทั่วไปมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในแนวหนังนอกกระแสที่ออกมามากในปัจจุบัน คือ หนังที่มุ่งเล่าเรื่องความสัมพันธ์ในระดับปัจเจก แต่เชื่อมโยงไปถึงสถานการณ์บ้านเมืองในระดับประเทศ โดยมักมีการแทรกภาพเหตุการณ์จริง โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางการเมือง แทรกเข้ามาตลอดทั้งเรื่อง ซึ่ง “Sway” ก็คือหนึ่งในหนังประเภทนี้

“Sway” เป็นผลงานกำกับครั้งแรกของ “รุจ ตั้งจิตปิยะนนท์” โดยตัวหนังแบ่งออกเป็น 3 เรื่องย่อย ใน 3 เมือง 3 ทวีป ตัดสลับไปมา แต่ละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน แต่มีจุดร่วมคือการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ที่แม้จะรักกันมากแค่ไหน แต่พอถึงช่วงเวลาหนึ่งมันก็มีจุดที่อาจต้องทำให้กลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเธออีกครั้ง แม้จุดเปลี่ยนที่ว่าจะไม่ใช่ความเกลียด และพวกเขาจะยังรักกันอยู่ก็ตาม การเล่าเรื่อง 3 เรื่องราว ใน 3 ประเทศ ก็เป็นการยืนยันอย่างหนึ่งว่า นี่เป็นปัญหาสากลที่สามารถเกิดขึ้นกับคู่รักทุกคู่ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือสถานที่

ปารีส… “Arthur” (Matt Wu) หนุ่มอเมริกันเชื้อสายจีนได้กลับมาเจอกับอดีตคนรัก “Vivian” (Lu Huang) อีกครั้ง ในวันที่เขากำลังทั้งตกงาน และครอบครัวก็กำลังทะเลาะกัน แตกต่างจาก Vivian ที่ทิ้งชีวิตการเป็นดาราในบ้านเกิด มาเป็นนักข่าวที่ฝรั่งเศส และก็ดูเหมือนกำลังจะไปได้ดีกับชีวิตที่นี่

ลอสแองเจลิส… “Amanda” (Kristina Lynn Bell) หญิงสาวอเมริกันพบรักกับพ่อหม้ายชาวญี่ปุ่น “Eric” (Kazuhiko Nishimura) และกลายเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของเขา แต่ขณะเดียวกันก็เธอเองก็ต้องรับมือกับความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงความสัมพันธ์ของเธอกับ “Grace” (Miki Ishikawa) ลูกของ Eric ที่เหมือนจะไม่ค่อยชอบเธอนัก เพื่อหวังที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้อย่างสมบูรณ์

กรุงเทพฯ… “จูน” (ศจี อภิวงศ์) พบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์กับแฟนหนุ่ม “ปาล์ม” (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) ในวันที่อนาคตทั้ง 2 คนยังไม่แน่นอน เพราะธุรกิจที่เคยหวังให้เป็นอนาคตของปาล์มเกิดล้มเหลว แต่ปาล์มก็ยังหวังที่จะไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่สหรัฐอเมริกา โดยพาจูนไปด้วย ซึ่งนั่นทำให้จูนอาจต้องมาทบทวนอีกครั้งว่าเธอยังมีความเชื่อมั่นและฝากอนาคตไว้กับแฟนหนุ่มได้มากเพียงใด

ความสัมพันธ์ของคน 3 คู่ 3 เรื่องราวนั้น มีจุดร่วมอย่างหนึ่งก็คือพวกเขาไม่ได้มีปัญหากันเพราะอีกฝ่ายไปมีคนอื่น หรือเพราะตนเองหมดรักอีกฝ่ายแล้ว ในกรณีของ Arthur มันคือความรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมคู่ควรกับอีกฝ่าย เขายังรัก Vivian แต่เขากำลังถังแตก ขณะที่ Vivian กำลังไปได้ดีกับชีวิตที่นี่ Arthur จึงคิดหนักว่าหากสานสัมพันธ์นี้อีกครั้ง คนรอบข้างจะมองเขาอย่างไร จะใช้กลับมาคบกันเพื่อให้ช่วยหางานทำหรอกเหรอ ตรงนี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่หลายครอบครัวเจอ โดยเฉพาะในครอบครัวที่ฝ่ายภรรยามีสถานะ การงาน และการยอมรับ ที่มากกว่าฝ่ายชาย

กรณีของ Amanda ซึ่งนับเป็นตอนที่น่าสนใจในเรื่องนี้ สาเหตุจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ เกิดมาจากวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกัน บางคนเคยว่าไว้ว่า “ความรักไร้พรมแดน” แต่บางทีก็มีพรมแดนนั้นอยู่ ถึงจะไม่ได้สังเกตเห็นได้ชัดก็ตาม ฉากที่ Amanda พูดคุยกับ Eric โดยที่เธอใช้ภาษาอังกฤษ ขณะที่สามีเธอตอบกลับด้วยภาษาญี่ปุ่น แม้จะคุยกันเข้าใจ แต่ก็ก่อตัวเป็นกำแพงในใจของ Amanda มากขึ้น ยิ่งเมื่อ Grace มีท่าทีไม่ชอบเธอ ยิ่งทำให้ Amanda รู้สึกถึงการเป็นคนนอกมากยิ่งขึ้น และมันอยากยากลำบากเกินไปในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ แม้ว่าจะรัก Eric มากก็ตาม

ขณะที่ ในส่วนของ จูนกับปาล์ม ก็คือตัวอย่างของคู่ชีวิตที่อนาคตสำคัญไม่แพ้ความรัก ในมุมของจูน ชีวิตจะไม่ใช่แค่พวกเขา 2 คนอีกต่อไป เพราะมีอีกหนึ่งชีวิตที่กำลังจะเกิดมา ซึ่งนั่นคือก้าวไปอีกระดับของชีวิตครอบครัว และจูนเองก็คงอยากให้ลูกเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดี โดยไม่ต้องมายากลำบาก ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เธอไม่แน่ใจว่าจะได้จากแฟนหนุ่มของเธอ เพราะเหมือนปาล์มดูจะอยู่กับความฝัน ความคาดหวังว่าธุรกิจของเขาจะประสบความสำเร็จ ทั้งที่ชีวิตจริงไม่ใช่ เมื่อชีวิตคู่ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง “ความมั่นคง” คืออีกสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้ความรัก

“Sway” ใช้วิธีการดำเนินเรื่องที่ไม่แตกต่างจากหนังนอกกระแสแนวเดียวกันนัก คือเล่าเรื่องแบบเอื่อยๆ เรื่อยๆ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ชมซึมลึกกับประเด็นความสัมพันธ์ในเรื่อง ซึ่งก็ทำได้ตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม การที่หนังพยายามไปไกลกว่านั้น ด้วยการแทรกสถานการณ์การเมืองโลกเข้าไป กลับให้ความรู้สึกว่ากลายเป็นส่วนเกินของเรื่องไป

เหตุการณ์ทางการเมืองที่นำมาใช้เรื่อง ดูเบาบาง และไม่สามารถขับเน้นประเด็นความสัมพันธ์ของตัวละครให้ดูเด่นชัดขึ้น มันอาจมีประโยชน์แค่ในแง่เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้ใน Part ของปาล์มเกิดธุรกิจล้มเหลวขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่ฉากหลังที่ขนาดไม่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้ ตัวหนังดูเหมือนจะเน้นที่เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นฉากหลังใน Part กรุงเทพฯ มากไป ขณะที่ Part อื่นไม่ได้เน้นนัก โดยเฉพาะ Part ลอสแองเจลิสที่แทบไม่ใช้เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นฉากหลังเลย ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันของทั้ง 3 เรื่อง

ความไม่สมดุลอีกอย่างคือใน ขณะที่ Part ปารีสและลอสแองเจลิส เชื้อชาติ สัญชาติ และเมืองที่เป็นฉากหลังนั้นมีความขัดกันอยู่ ซึ่งทำให้ประเด็นกำแพงวัฒนธรรม และการปรับตัว ถูกขับเน้นขึ้นมา แต่พอเข้า Part กรุงเทพฯ ทุกอย่างมันคือไทย ทั้งตัวละคร เมือง และเหตุการณ์ที่ใช้อ้างอิง

น่าคิดว่า ถ้า Sway เลือกเจาะประเด็นความสัมพันธ์ชีวิตคู่เต็มๆ ไปเลย น่าจะทำให้เรื่องไปสุดกว่านี้ เพราะตัวแก่นเรื่องนั้นเข้มแข็งมากอยู่แล้ว
 

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)