[Review] The Man Who Knew Infinity – คณิตศาสตร์พบรักกับพระเจ้า

“คณิตศาสตร์” ถือเป็นยาขมสำหรับใครหลายคน และชื่อของนักคณิตศาสตร์ก็มักเป็นที่รู้จักเท่านักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ อาจเพราะผลการค้นพบของคณิตศาสตร์นั้น เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ที่ทำให้รู้สึกว่าเข้าใจยากและดูไกลตัวจากชีวิตประจำวันมากเกินไป นักคณิตศาสตร์ที่เราอาจพอคุ้นชื่อเป็นอย่างดีก็อาจมีแค่ “Pythadorus” (ปีทาโกรัส) “Archimedes” (อาร์คีมีดีส) ที่คุ้นจากการเรียนมัธยม หรือ “Josh Nash” ที่เรารู้จักเขาจากเรื่อง “The Beautiful Mind” แต่หากเอ่ยชื่อของ “Srinivasa Ramanujan” (ศรีนิวาสะ รามนุจัน) เชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องส่ายหน้าด้วยความสงสัยว่า “ใครอะ”

ไม่นับเรื่องผลงานแล้ว “Ramanujan” อาจถือว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชีวิตดราม่ามากที่สุด และเหมาะกับการนำมาทำหนังไม่แพ้กรณีของ Josh Nash (ทำไมหนังชีวประวัตินักวิทยาศาสตร์ต้องมีแต่แนวชีวิตดราม่าทั้งนั้นนะ) ในขณะที่นักคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักเป็นผิวขาว ในสังคมที่เจริญแล้ว Ramanujan มาจากอินเดีย ในยุคช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ Ramanujan ต้องออกจากเรียนเพราะความยากจน แม้จะคิดค้นสูตรคณิตได้มากมาย แต่การหางานของเขาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุเพราะไม่มีใบปริญญา ตัวเขาเองยังต้องรับภาระในการเลี้ยงดูแม่และเมีย แต่แม่และเมียกลับดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางชีวิตอันแสนดราม่า Ramanujan ยังคงไว้ซึ่งการมองโลกในแง่ดี และความหลงรักในตัวเลขของเขานั้นก็ยังไม่เคยเสื่อมคลาย

แต่ฟ้าก็เริ่มสดใสอีกครั้ง Ramanujan ได้รับโอกาสทำงานเป็นเสมียนที่บริษัทหนึ่ง ที่ซึ่งเจ้านายผลักดันให้เขาเขียนจดหมายพร้อมแนบสูตรที่เขาคิดค้นขึ้นไปยัง “G.H. Hardy” ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยเครมบริดจ์ เพื่อโอกาสชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งก็เป็นอย่างนั้น Hardy ทึ่งกับสิ่งที่เขาส่งมาและเชิญตัวเขามาเข้าเรียนที่วิทยาลัย นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของ Ramanujan เพราะเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก ไปยังประเทศเจ้าอาณานิคมที่ยังมีอคติต่ออินเดียไม่น้อย จากบ้าน จากครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสเผยแพร่ความอัจฉริยะของเขาให้กับโลกรู้

“The Man Who Knew Infinity” เป็นหนังชีวิประวัติของ Ramanujan ที่มีองค์ประกอบในการเป็นหนังดราม่าชั้นดีได้ไม่ยาก ทั้งเรื่องราวของ Underdog ที่ฝ่าฟันจนได้รับการยอมรับ ปัญหาในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ มิตรภาพระหว่างคน 2 ชาติ 2 วัย เจือปนไปด้วยบรรยากาศช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่วิชาการถูกลดความสำคัญลง รวมไปถึงประเด็นที่น่าจะแตกต่างจากหนังชีวประวัตินักวิทยาศาสตร์เรื่องอื่นๆ มากที่สุด นั่นคือแง่มุมในการพูดถึง “พระเจ้า”

อย่างที่รู้กัน วิทยาศาสตร์ มักถูกมองเป็นด้านตรงข้ามของ ศาสนา และในหนังแนววิทยาศาสตร์หลายเรื่องมักเน้นถึงความขัดแย้งของ 2 สิ่งนี้ แต่ “The Man Who Knew Infinity” กลับพยายามถ่ายทอดความเข้ากันของ 2 สิ่งนี้ผ่านตัวของ Ramanujan และ Hardy โดยในขณะที่ Hardy เป็นตัวแทนของนักวิทยาศาสตร์จากโลกตะวันตกที่ไม่เชื่อในพระเจ้า มีทัศนคติแบบมนุษยนิยม เชื่อเฉพาะในสิ่งที่พิสูจน์ได้ ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนผ่านแนวทางการศึกษาหาความรู้ในแนวตะวันตก ที่เริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐาน และมีบททดสอบหรือที่เรียกว่าการพิสูจน์สมมติฐาน เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เราตั้งไว้นั้นเป็นจริง

Ramanujan มาในทางตรงข้าม เขามาจากอินเดีย นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาที่มีพระเจ้า 3 องค์ และเทพเจ้าอีกเป็นพัน ตัว Ramanujan ก็ศรัทธาในพระเจ้าอย่าเต็มเปี่ยม เขาถือว่าคณิตศาสตร์คือสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น และการค้นพบสูตรทางคณิตศาสตร์ต่างๆ ก็ถือความเมตตาของเทพพระเจ้าที่บอกความสวยงามของตัวเลขเหล่านี้ให้กับเขา ในสังคมตะวันตกอาจมองว่าความเก่งกาจของ Ramanujan เป็นเพราะ “พรสวรรค์” ที่ทำให้เขาคิดคำนวณได้เร็วและซับซ้อนกว่าคนอื่น แต่สำหรับตัว Ramanujan มองว่านั่นคือ “พรจากพระเจ้า” ต่างหาก

เพราะเหตุนี้ Ramanujan จึงมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับวงการวิชาการที่อังกฤษ ไม่ใช่แค่แปลกที่แปลกทาง แต่เพราะเขาปฏิเสธการศึกษาแบบตะวันตก ที่เริ่มด้วยสมมติฐาน ตามด้วยบททดสอบ และข้อสรุป เขาข้ามไปที่บทสรุปเลย การทดสอบทฤษฎีสำหรับเขา ไม่ต่างอะไรกับการท้าทายพระเจ้า เคลือบแคลงสงสัย ว่าสูตรที่พระเจ้าประทานให้เขานั้นเป็นจริงหรือไม่

เป็นประเด็นที่ทั้งซับซ้อน ท้าทาย และน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่สุดท้ายแล้ว The Man Who Knew Infinity ไม่สามารถขับเน้นประเด็นนี้ออกมาได้เด่นชัดพอ เหมือนๆ กับประเด็นอื่นๆ ในเรื่องที่ไม่ได้ลงลึกอะไรมากเช่นกัน หนังยังไม่สามารถทำให้เรารู้สึกได้ว่าสูตรที่ Ramanujan และ Hardy ร่วมกันสร้างนั่น “พิเศษ” อย่างไร ส่งผลให้สุดท้ายแล้ว The Man Who Knew Infinity เป็นหนังที่ค่อนข้างเบาไปนิด ดูได้เรื่อยๆ มีความ Feel Good ภาพสวย ดนตรีเพราะ แต่อาจไม่สามารถทำให้เราจดจำนักคณิตศาสตร์คนนี้ได้ขึ้นใจ แบบใน The Beautiful Mind หรือ The Imitation Game

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)