[Review] Train to Busan – รถไฟฟ้ามาหาซอมบี้นะเธอ

10 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้เคยสร้างความตื่นตะลึงให้กับคนทั้งโลก เมื่อพวกเขาพิสูจน์ว่า ตัวเองสามารถสร้างหนังสัตว์ประหลาดถล่มเมืองได้ แถมยังทำได้ดีมากด้วย กับ “The Host” ที่ไม่ได้มีดีแค่ CG แต่ยังโดดเด่นในด้านการวิพากษ์สังคมและรัฐบาล รวมถีงตัวเอกและตอนจบที่พลิกจากขนบหนังแนนี้ไปไกล 10 ปีผ่านไป “Train to Busan” นำความรู้สึกแบบตอน “The Host” กลับมาอีกครั้ง

จะเป็นยังไงเมื่อเกาหลีใต้คิดจะทำหนังซอมบี้

ถึงปัจจุบันบันโลกจะเต็มไปด้วยหนังซอมบี้ ซึ่งเล่นกันแทบทุกจุดทุกมุมที่พอจะเล่นได้เกี่ยวกับหนังแนวนี้แล้ว แต่ด้วยความที่ซอมบี้นั้นเป็นที่รับรู้ว่ามีที่มาจากในสังคม “ตะวันตก” คราวนี้เมื่อสังคมตะวันออกอย่างเอเชีย ซึ่งแทบไม่เคยมีความเชื่อหรือเรื่องราวเกี่ยวกับซอมบี้เลย เกิดอยากจะทำซอมบี้ขึ้นมา มันก็เลยเป็นที่จับจ้อง โดยเฉพาะจากคนในประเทศเองนั่นแหละ ถ้าทำดีก็อาจจะแค่เสมอตัว แต่ถ้าแย่ก็อาจโดนด่าว่า นี่ไงละ ผลจากความพยายามอยากเป็น อยากตามก้นฝรั่งมากเกินไป

แต่ “Train to Busan” นั้นก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นไปได้ทั้งหมด มันไม่ใช่แค่หนังซอมบี้เกาหลีที่ดี แต่ยังเป็นหนังซอมบี้ที่โครตดีเรื่องหนึ่งของโลกปัจจุบันนี้ด้วย

สิ่งที่ Train to Busan ทำ คือการบอกกับตัวเองคือ “หนังซอมบี้” แล้วอะไรที่คนต้องการจากหนังซอมบี้กันละ เรื่องใหญ่สุดก็คือ ความสนุก ตื่นเต้น จากการได้เห็นมนุษย์สู้กับซอมบี้นั่นแหละ ดังนั้น โดยเนื้อเรื่องแล้ว Train to Busan ไม่ได้มุ่งที่จะสร้างแนวทางใหม่ๆ ให้กับหนังแนวนี้ขึ้นมา แต่เลือกจะทำตามสูตรหนังซอมบี้ทั่วๆ ไปนี่แหละ ซอมบี้ที่เห็นในเรื่องก็มีส่วนผสมของซอมบี้จากหลายๆ เรื่องที่เราเคยผ่านตากันมา เส้นเรื่องก็เป็นไปอย่างง่ายๆ ว่าด้วย พ่อลูกที่โดยสารรถไฟไปปูซาน แล้วระหว่างนั้นเกิดเชื้อโรคระบาดทั่วประเทศ คนในรถไฟบางส่วนกลายเป็นซอมบี้ ไล่กัดคนในขบวน “ซอกวู” (กงยู) จึงต้องหาทางปกป้อง “ซูอา” (คิมซูอัน) ลูกสาวให้อยู่รอดปลอดภัย ไปถึงปูซาน สถานที่ที่ซอกวูเชื่อว่าเป็นที่เดียวที่ปลอดภัย เนื้อเรื่องเริ่มต้นจากง่ายๆ แบบนี้แหละ แต่กลับเล่าได้โครตถึง

หนังเลือกให้เหตุการณ์เกิดบนรถไฟ และใช้องค์ประกอบของความเป็นรถไฟมาเสริมความตื่นเต้นลุ้นระทึกของเรื่องราวได้คุ้มมาก ทั้งสถานที่คับแคบ ที่เมื่อมาเจอกับซอมบี้จำนวนมากที่ต่างกันกรูเข้ามาหาเราในที่แคบๆ มันถือเป็นโครตหายนะสำหรับเราเลย จะหนีออกนอกขบวนก็เป็นไปได้ยาก เพราะรถไฟกำลังวิ่งด้วยความเร็วสูง จำนวนตู้โดยสารหลายขบวน ยังเป็นโอกาสให้หนังสามารถสร้างฉากแอคชั่นแบบตะลุยด่านไปที่ละขบวนๆ รวมถึงอุโมงค์ที่ทำให้ภายในรถไฟเกิดความมืดชั่วขณะ หนังก็ไม่ลืมหยิบเอามาเช่นกัน จริงๆ นี่ไม่ใช่เรื่องแรกที่ใช้องค์ประกอบความเป็นไปรถไฟได้คุ้มมาก ก่อนหน้านี้ไม่นานก็มี “Snowpiercer” ที่เล่นกับความเป็นรถไฟได้คุ้มเหมือนกัน ซึ่งก็กำกับโดยคนเกาหลีใต้ทั้ง 2 เรื่อง

ตัวหนังยังมีจังหวะการเล่าเรื่องที่เฉียบขาดมาก รู้ว่าจังหวะไหนควรเร่ง จังหวะไหนควรผ่อน จังหวะไหนควรให้ความหวัง และจังหวะไหนควรดับความหวังที่ให้ไว้ ท่ามกลางฉากไล่ล่าและสู้รบระหว่างซอมบี้กับมนุษย์ หนังมีช่วงเบรกเป็นพักๆ ให้คนได้พักหายใจ ซึ่งก็ไม่ได้เบรกป่าวๆ หนังใช้เวลาช่วงนั้นไปพบกับดราม่าครอบครัวและด้านมืดในจิตใจมนุษย์ ที่แฝงความนัยถึงการวิพากษ์ระบบทุนนิยม และคนในสังคมเกาหลีใต้ช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสเมอร์สเมื่อปีก่อน แต่อย่างที่ว่าไว้ Train to Busan เลือกจะนิยามว่าตัวเองเป็นหนังซอมบี้ ดังนั้น Point หลักของหนังเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องของการสู้กับซอมบี้ ดราม่าต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนเสริมที่ทำให้เรื่องเข้มแข็งขึ้น แต่ไม่โดดเด่นจนกลบในสิ่งที่เป็นหัวใจหลักของเรื่อง

ส่วนตัวยังชอบการที่หนังเลือกวางตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องให้ออกไปในทางเทาอ่อนๆ ไปจนถึงดำ โดยเฉพาะซอกวู ซึ่งออกแนวตัวละครสีเทาๆ เขาเป็นนักจัดการกองทุน ที่เน้นแต่เรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก ค่อนข้างเห็นแก่ตัวโดยเฉพาะกับคนที่ไม่ใช่พวก แถมยังเป็นพ่อที่ไม่ค่อยได้เรื่องด้วย สิ่งดีอย่างเดียวอาจเป็นความรักที่มีต่อลูก ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ซอกวูดูกลายเป็นคนดีขึ้นมาบ้าง แม้หลายๆ ช่วงจะเหมือนสถานการณ์พาไปและดูไม่มีทางเลือกเสียมากกว่า ลองคิดๆ ดู ถ้าสมมติซอกวูไม่มีซูอา ซอกวูอาจเป็นคนที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองรอด แม้จะต้องแลกกับชีวิตคนอื่น เหมือนตัวละครเลวร้ายอีกคนหนึ่งในเรื่องก็ได้ การที่ตัวหนังเลือกวางตัวละครแบบนี้ มันทำให้แม้หนังจะเดินเรื่องในแบบตะวันตก แต่ก็มีความแตกต่างจากแบบเดิมๆ อยู่เหมือน

จริงๆ ในเรื่องมีตัวละครที่จัดว่าเป็นสีขาวหลายคนอยู่ แต่ไม่รู้ว่าหนังจงใจหรือแกล้งหรือเปล่า ตัวละครดีจัดพวกนี้ มักเป็นกลุ่มที่ทำอะไรไม่ค่อยได้มาก และต้องมีคนอื่นคอยช่วยเหลือตลอด ไม่ก็มักมีจุดจบที่ไม่ดีนักอีก อย่างไรก็ตาม ในแง่ความดาร์กแล้ว Train to Busan ยังไม่ถึงขั้น The Host แต่แค่นี้ก็ทำให้หลายคนลุ้นแทบตายแล้ว

แม้ Train to Busan จะมีเรื่องราวที่แตกต่างจาก The Host แต่มันก็ดึงความรู้สึกสมัย The Host กลับมาอีกครั้ง คือการเป็นหนังที่สะท้อนความทะเยอทะยานของวงการหนังเกาหลี ที่ต้องการทำหนังในสเกลใหญ่ขึ้น เป็นสากลมากขึ้น และทำได้ถึงเสียด้วย

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)