[Review] The Last Stand – นายอำเภอคนเหล็ก ปักหลักพิทักษ์เมือง (+ เกร็ดความรู้เรื่องนายอำเภอในอเมริกา)

หลังจากไปรับภารกิจเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย คนเหล็ก อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ก็กลับมาทำสิ่งที่เขาถนัดอีกครั้งกับการแสดงหนังแอคชั่น และแม้ว่าก่อนหน้านั้นเราจะได้เห็นอาร์โนลด์มาบ้างแล้วกับบทรับเชิญเล็กๆ ใน The Expendables ทั้ง 2 ภาค แต่สำหรับ The Last Stand นี่คือการกลับมารับบทนำเต็มตัวครั้งแรกหลังออกจากเวทีการเมือง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่เท่านั้น The Last Stand อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังที่น่าจดจำของคนเหล็กรายนี้เลยก็ว่าได้

ชีวิตจริงเขาอาจเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐ แต่ในเรื่องนี้อาร์โนลคือนายอำเภอ (Sheriff – แม้จะเรียกว่านายอำเภอ แต่อำนาจหน้าที่ต่างจากนายอำเภอเมืองไทยสุดขั้ว รายละเอียดเกี่ยวกับ Sheriff จะกล่าวในตอนท้ายครับ) นามว่า เรย์ โอเว่นส์ ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเมืองเล็กๆ แถวชายแดนเม็กซิโกที่ชื่อว่า “โซเมอร์ตัน” วันแต่ละวันผ่านไปอย่างสงบ ขนาดที่ว่างานตื่นเต้นที่สุดคือการช่วยลูกแมวลงจากต้นไม้ แต่แล้วความสงบของเมืองก็ยุติลง เมื่อนักโทษพ่อค้ายาเสพติดตัวเอ้ “กาเบรียล คอร์เตส” เกิดแหกคุกขึ้นมาได้ และกำลังจะมุ่งหน้าข้ามชายแดนผ่านเมืองแห่งนี้ ในฐานะผู้รักษากฎหมาย เรย์ ตัดสินใจลุกขึ้นมาเป็นปราการด่านสุดท้าย และพิสูจน์ให้เห็นว่าถึงนายอำเภออย่างเขา ถึงจะ “แก่” แต่ก็ยัง “เก๋า”

ว่ากันที่เนื้อเรื่องแล้ว The Last Stand อาจไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรมากนัก หนังเป็นไปตามสูตรสำเร็จหนังแอคชั่นทั่วๆ ไป แต่ในความไม่โดดเด่นนี่เอง คิมจีวุน ผู้กำกับชาวเกาหลีที่โดดมาจับงานฮอลลีวู้ดครั้งแรก ก็ได้สร้างความพิเศษขึ้นมา ด้วยการสามารถดึงสเน่ห์คนเหล็กอย่างอาร์โนล ออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ซื่อสัตย์กับปัจจุบันพอที่จะไม่ทำให้อาร์โนลดูเป็นยอดมนุษย์จนเกินไป

ในขณะที่ใน Taken เราอาจเห็นลุงเลียม วัย 60 กว่าๆ ถือปืนตะลุยผู้ร้ายได้อย่างสบายๆ แต่สำหรับใน The Last Stand กลับต่างออกไป นายอำเภอเรย์อาจเคยเป็นตำรวจระดับยอดมาก่อน แต่ในวัย 60 กว่าๆ เขาไม่สามารถลุกขึ้นมากระทืบผู้ร้ายได้โดยไม่รู้จักเหนื่อย หรือล้มแล้วสามารถลุกขึ้นได้ทันที ตลอดทั้งเรื่องเราสามารถสัมผัสได้ถึงความแก่และเหนื่อยของเรย์ แต่ในความแก่นี่เอง ก็ยิ่งทำให้เราได้เห็นถึงความเก๋าที่นายอำเภอคนเหล็กคนนี้ยังมีอยู่เต็ม เปี่ยม และชวนให้ตื่นเต้นลุ้นโดยตลอดเมื่อต้องประทะกับพวกผู้ร้ายหนุ่มๆ ทั้งหลาย

หนังยังโดดเด่นด้วยมุขตลกที่ใส่ลงมาที่ชวนให้ขำโดยตลอด โดยเฉพาะจากบรรดาผู้ช่วยนายอำเภอ และคิมจีวุนยังประสบความสำเร็จกับนำเรื่องรถซิ่งมาประสานเป็นส่วนหนึ่งของ เรื่องได้อย่างกลมกลืน ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความมันส์แล้ว รถซิ่งที่เป็นตัวแทนของความสมัยใหม่ๆ ยังเป็นภาพความขัดแย้งกับนายอำเภอแก่ๆ บ้านนอกอย่างเรย์ได้เป็นอย่างดี

ถ้าจะมีจุดอ่อนอยู่บ้างใน The Last Stand ก็คงเป็นดราม่าเล็กๆ ที่หนังพยายามใส่เข้าไปให้ดูแตกต่าง ซึ่งจริงๆ อาร์โนลด์ก็เล่นบทดราม่าได้ดีนะ แต่ประเด็นที่ใส่กลับดูบางเบาและไปอยู่ที่ตัวละครอื่นมากกว่าอยู่ที่ตัวนาย อำเภอ ทำให้ดูกลายเป็นส่วนเกินของหนังไป โดยเฉพาะตัวละครบางตัวก็เหมือนกับว่าใส่มาพอให้มี “คู่รัก” ในหนังเท่านั้น ทั้งที่ไม่ได้จำเป็นต่อเนื้อเรื่องเท่าไหร่ นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของหนังก็ยังทำได้เรียบๆ เพราะพยายามปูพื้นและใส่ประเด็นดราม่ามากไปหน่อย ส่วนตัวเห็นว่าถ้าลดเรื่องประเด็นดราม่าของบรรดาผู้ช่วยนายอำเภอ แล้วไปเพิ่มความผูกพันธ์ระหว่างนายอำเภอกับเมืองโซเมอร์ตันได้ก็น่าจะดีไม่ น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง แต่ครึ่งหลังของหนังที่ใส่ความมันส์ ความสนุก ความตื่นเต้น และความฮา มาให้แบบไม่บันยะบันยัง ก็พอจะทำให้เราหลงๆ ลืมๆ จุดอ่อนของเรื่องไปได้ โดยรวมยกให้เป็นอีกหนึ่งแอคชั่นในใจเลย สำหรับผู้กำกับคิมจีวุนแล้ว นี่ถือเป็นใบเบิกทางชั้นดีในวงการฮอลลีวู้ด ส่วนอาร์โนล นี่คือการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ และยังเพิ่มเติมสเน่ห์แบบใหม่ๆ เสน่ห์ของคนเหล็กที่ “แก่แต่เก๋า”

ความชอบส่วนตัว: 9/10

ภาคผนวกว่าด้วย นายอำเภอ (Sheriff) ในแดนอเมริกา

ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนแรกที่เริ่มแปลคำว่า “Sheriff” เป็น “นายอำเภอ” เพราะนั่นชวนให้เข้าใจผิดและสับสนไม่น้อยเกี่ยวกับบทบาทของ Sheriff เนื่องจากในด้านอำนาจหน้าที่แล้ว Sheriff ต่างจากนายอำเภอเรียกว่าเกือบจะสิ้นเชิง ยังไม่นับรวมอีกว่า ในสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีเขตการปกครองที่เรียกว่า “อำเภอ” ดังนั้นแล้ว โดยหลักจึงไม่มี “นายอำเภอ” ตามความเข้าใจของคนไทยไปโดยปริยาย แล้วถ้าอย่างนั้น Sheriff คือใคร? จะเข้าใจบทบาทของ Sheriff ได้ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานการปกครองระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาสักเล็กน้อย

นายอำเภอในไทย

เริ่มที่ไทยก่อน ทวนความรู้สมัย ม.ปลาย กันสักเล็กน้อย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ใช้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น (เริ่มคุ้นๆ แล้วมั้ยครับ) โดยความแตกต่างระหว่าง 3 ส่วนก็คือ

  • ส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง กรม และหน่วยงานระดับชาติทั้งหลายแหล่ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและบริหารประเทศไทยทั้งหมด ตามหลักการ “รวมอำนาจ” นั่นคือ การตัดสินใจของส่วนกลางสามารถมีผลบังคับใช้ได้ทั่วประทศ
  • ส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ และท้องที่ (ตำบล หมู่บ้าน) ส่วนนี้ใช้หลักการ “แบ่งอำนาจ” กล่าวคือ ประเทศไทยใหญ่เกินไปจนส่วนกลางดูแลไม่ไหว เลยส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปประจำในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ช่วยดูแล มีอำนาจในการตัดสินใจระดับหนึ่ง แต่ยังต้องฟังนโยบายส่วนกลาง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายอำเภอก็คือเจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ถูกส่งลงไป
  • ส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบจ. อบต. เทศบาล กทม. และเมืองพัทยา (เนื่องจากตามหลัก กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่จังหวัด จึงมักสร้างความสับสนเวลาออกข้อสอบว่าประเทศไทยมีกี่จังหวัดเสมอ) เป็นหน่วยงานในระดับท้องถิ่น มีอำนาจในการตัดสินใจภายในท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นอาจมีนโยบายภายในพื้นที่ไม่เหมือนกันก็ได้ ส่วนกลางทำได้เพียงแค่กำกับดูแล แต่ไม่สามารถเข้าไปสั่งการโดยตรงได้ อันนี้เป็นไปตามหลักการ “กระจายอำนาจ” ครับ

ดังนั้น นายอำเภอในประเทศไทยจึงเป็นเจ้าหน้าทีที่ส่วนกลางส่งลงไปให้ไปประจำพื้นที่แต่ละอำเภอ มีอำนาจในเชิงปกครองเป็นหลัก ส่วนอำนาจในการรักษากฎหมายและปราบปรามโจรผู้ร้ายนั้นจะเป็นของ “ตำรวจ” ซึ่งในไทยขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในส่วนกลางเท่านั้น จริงๆ ตามกฎหมาย นายอำเภอก็มีอำนาจจับกุมได้ แต่ไม่ค่อยได้ทำกันเพราะเดี๋ยวจะมีปัญหาอำนาจทับซ้อนกับตำรวจจนกลายเป็นเรื่องเปล่าๆ

Sheriff ในสหรัฐอเมริกา

สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น มีความแตกต่างทางด้านการปกครองจากไทยค่อนข้างมาก อย่างแรกเลยก็คือ สหรัฐอเมริกาเป็นรัฐรวม ซึ่งประกอบขึ้นจากรัฐต่างๆ 50 รัฐมารวมตัวกัน แต่ละรัฐก็มีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเอง แต่แบ่งปันอำนาจบางส่วนไปให้รัฐบาลกลาง (นึกถึงประเทศ 50 ประเทศมาจับมือกันจนกลายเป็นประเทศเดียวกัน สหภาพยุโรปถ้ารวมตัวกันดีต่อไปก็อาจกลายเป็นลักษณะนี้ได้เช่นกัน) การเป็นรัฐรวมทำให้การบริหารราชการของสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

  • รัฐบาลกลาง ดูแลเฉพาะด้านการทหาร ต่างประเทศ การคลัง และเรื่องที่สำคัญในระดับภาพรวม
  • รัฐบาลมลรัฐ ดูแลทุกๆ ด้านตั้งแต่การศึกษา สาธารณสุข ความปลอดภัย ฯลฯ ภายในรัฐตัวเอง ยกเว้นส่วนที่เป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง
  • ส่วนท้องถิ่น ก็คล้ายๆ กับของไทย เนื่องจากพื้นที่เยอะดูแลไม่ทั่ว ก็เลยให้บางพื้นที่ตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบ ที่ต่างจากไทยหน่อยก็คือท้องถิ่นบ้านเขาอำนาจเยอะกว่าท้องถิ่นบ้านเรามากครับ

จะเห็นได้ว่าเนื่องจาก สหรัฐฯ ไม่มีส่วนภูมิภาค ดังนั้นจึงไม่มีจังหวัดและอำเภอไปโดยปริยาย นายอำเภอตามความเข้าใจของคนไทยจึงไม่มี แล้ว Sheriff มาจากไหน?

Sheriff ผู้รักษากฎหมายในสหรัฐอเมริก

หากจะเปรียบกันโดยตรงแล้ว Sheriff ก็คือ “ตำรวจ” ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายและปราบปรามโจรผู้ร้าย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนายอำเภอในสหรัฐฯ ถึงชอบออกไปลุยกับผู้ร้ายนัก เพราะเป็นหน้าที่ของเขานี่เอง อย่างไรก็ตาม Sheriff ก็ไม่ใช่ตำรวจเสียทีเดียว

ถ้าเราสังเกตพวกหนังที่เกี่ยวกับ Sheriff จะเห็นว่า ถ้าเมืองไหนมี Sheriff เมืองนั้นจะไม่มีตำรวจ (Police) แต่ถ้าเมืองไหนมีตำรวจ เมืองนั้นก็จะไม่มี Sheriff ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในอเมริกาอำนาจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในประเทศเป็นของมลรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลกลาง แต่ละรัฐก็จะมีสำนักงานตำรวจของตัวเอง ซึ่งก็จะไม่ทำงานก้าวก่ายกันข้ามเขต เช่น ตำรวจ LA ตำรวจ Miami ฯลฯ ส่วนตำรวจของส่วนกลางก็จะเป็นพวกหน่วยสืบสวนกลาง  (FBI) ตำรวจลับ (Secret Service) หน่วยปราบปรามยาเสพติด (DEA) รับผิดชอบคดีใหญ่หรือเกี่ยวพันหลายรัฐ ซึ่งหนังบางเรื่องก็มักจับเอาเรื่องราวความขัดแย้งระหว่าง FBI กับตำรวจท้องถิ่นนี่แหละ ประมาณแย่งผลงานกัน มาสร้างเป็นหนังอยู่บ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละรัฐเองก็มีการแบ่งย่อยลำดับขั้นของตำรวจที่ซับซ้อนอีก โดยตำรวจในระดับมลรัฐจะเรียกว่า State Police ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่และสถานที่ราชการของรัฐเป็นหลัก แต่ตำรวจที่เราจะเห็นในหนังบ่อย ก็คือตำรวจในระดับส่วนท้องถิ่น เพราะอเมริกาจะให้ความสำคัญกับส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก โดยในเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรเยอะ ก็จะมีสำนักงานตำรวจของตัวเอง อย่างในแคลิฟอร์เนียของอดีตผู้ว่าการรัฐอาร์โนลด์ มีหลายเมืองใหญ่ ก็มีสำนักงานตำรวจกว่า 40 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็รับผิดชอบเฉพาะเขตของตน แล้วถ้ามีการหนีข้ามเขตละ…ก็ประสานงานให้ตำรวจอีกเขตช่วยจับกุมไป

กลับมาที่ Sheriff ในเมืองใหญ่ๆ ก็จะมีพวกตำรวจคอยดูแลอยู่ แต่ในอเมริกาก็มีพวกเมืองเล็กๆ เมืองชนบทอยู่เยอะเหมือนกัน ซึ่งถ้าจะให้ตั้งเป็นสำนักงานตำรวจเลยก็ดูจะไม่คุ้มเท่าไหร่ พวกเมืองเล็กๆ ก็เลยเลือกใช้บริการของ Sheriff แทน บางทีหลายๆ เมืองเล็กๆ ก็รวมตัวกันจ้าง Sheriff มาดูแล โดย Sheriff ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐประเภทหนึ่ง   หน้าที่เหมือนตำรวจ เพียงแต่ขอบเขตพื้นที่ดูแลจะเล็กกว่า และส่วนใหญ่ก็เป็นงานเรื่องลักเล็กขโมยน้อย นานๆ จะมีงานช้างแบบในหนังมาสักทีหนึ่ง แต่ถึงจะดูแลพื้นที่เมืองเล็กๆ ก็อย่าได้ประมาท Sheriff นะครับ Sheriff บางเมือง อาวุธยุธโธปกรณ์ครบครันมากๆ ยิ่งกว่าตำรวจในเมืองใหญ่ๆ ของไทยอีก บางเมืองยังมีหน่วย SWAT ของตัวเองด้วยซ้ำ

FBI (บน) Police (กลาง)  Sheriff (ล่าง)

ในแต่ละเขต Sheriff จะมีเพียงคนเดียว แต่จะมีผู้ช่วยกี่คนก็ได้ ซึ่งเพราะเราชอบแปล Sheriff ว่านายอำเภอ บางทีเราก็เลยแปลผู้ช่วยเหล่านั้นเป็นปลัดอำเภอไปด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้ใกล้เคียงเลย สำหรับใน The Last Stand อาร์โนลด์เป็น Sheriff ซึ่งในอดีตเคยเป็นตำรวจ LA มาก่อน ส่วนหน่วยงานที่จับผู้ร้ายในเรื่องนั้นก็คือ FBI เพราะเป็นคดีระดับชาติ ในหนังยังกล่าวว่าปกติทหารไม่มีหน้าที่จับผู้ร้าย ถ้าจะมาก็เพราะคำสั่งประธานาธิบดีเท่านั้น

จะเห็นได้ว่านายอำเภอในอเมริกากับนายอำเภอของไทยนี่คนละเรื่องกันเลย ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจครับถ้าจะเห็นนายอำเภอ (Sheriff) ในหนังออกมาบู๊กับผู้ร้ายตลอดเวลา เพราะนั่นคือหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)