[Review+Analyze] Zero Dark Thirty – เราตามล่าบินลาเดนไปเพื่ออะไรกัน? [Spoil]

คำเตือน: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ (Spoil)

การเข้าชิงรางวัล Oscar ปีนี้ถึง 5 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อาจทำให้ Zero Dark Thirty ผลงานล่าสุดจากผู้กำกับหญิง Kathryn Bigelow ที่สร้างจากเรื่องจริงว่าด้วยภารกิจตามลาบินลาเดน ผู้นำเครือข่ายก่อการร้ายอัลกอดิอะฮ์ ดูน่่าสนใจขึ้นเป็นกอง แต่อาจเพราะ The Hurt Locker ผลงานชิ้นก่อนของผู้กำกับคนนี้ ที่ส่วนตัวไม่ประทับใจนักและเห็นว่า “น่าเบื่อ” เกินไป แม้จะคว้ารางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2010 มาได้ก็ตาม ก็ทำให้หวั่นใจไม่น้อยว่าผลงานชิ้นใหม่นี้จะซ้ำรอยเดิมหรือเปล่า


 

บินลาเดนอยู่ที่ไหน?

Zero Dark Thirty สร้างจากเรื่องจริงจากคำบอกเล่าของพยานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจตามล่า “บินลาเดน” ซึ่งกินระยะเวลาเป็น 10 ปี ผ่านมุมมองของตัวละครหลักอย่าง Maya (Jessica Chastain) เจ้าหน้าที่ CIA สาว ซึ่งแฝงตัวอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ในปากีสถาน ผู้ทุ่มเทให้ภารกิจครั้งนี้อย่างสุดตัว หากเทียบกับ The Hurt Locker แล้วแม้จะเป็นหนังสงครามเหมือนกัน แต่ Zero Dark Thirty ก็ดูเหมือนจะมีข้อจำกัดกว่า เพราะเรื่องอิงความจริง ที่คนทั่วโลกต่างรู้บทสรุปอยู่แล้ว แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่า Zero Dark Thirty กลับสามารถมอบ “ความบันเทิง” ได้มากกว่า The Hurt Locker ในขณะที่ยังคงโทนของความสมจริง และการขับเน้นความรู้สึกของตัวละครเอาไว้ได้

แม้ Zero Dark Thirty จะยังคงมีลักษณะเหมือนสารคดี ด้วยการดำเนินเรื่องที่แทรกรายละเอียดจำนวนมากเพื่อความสมจริง แต่การแบ่งเป็นตอนย่อยๆ ก็ทำให้เราเห็นถึงพัฒนาการความคืบหน้าของภารกิจตลอดทั้ง 10 ปี จากกลุ่มก่อการร้ายซาอุ ค่อยๆ ขยับเข้าตัวบินลาเดนเรื่อยๆ จนสามารถเข้าถึงตัวได้สำเร็จ การเล่าเรื่องแบบสอบสวนแบบนี้ชวนให้ลุ้นและตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม Zero Dark Thirty ก็ต่างจากหนังสอบสวนเรื่องอื่น ตรงที่ไม่ได้ต้องการคนดูอย่างเราร่วมไขปริศนาไปกับตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องการคือการรับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอก ความยาวกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง อาจทำให้เรารู้สึกเบื่อได้ในตอนกลางเรื่อง เพราะภารกิจแทบจะไม่คืบหน้าเลย แต่ขณะเดียวกัน ความเบื่อและความเครียดที่เกิดขึ้นก็ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของ Maya ในขณะนั้นไม่น้อย

ความโหดร้ายที่จำเป็น?

การจับตายบินลาเดน อาจดูเหมือนเป็นชัยชนะในสงครามการก่อการร้ายของอเมริกาครั้งนี้ แต่ Zero Dark Thirty ก็ไม่ได้ทีท่าที่จะชื่นชมประเทศตนเพียงอย่างเดียว แต่กลับเสียดสี ประชดประชัน และเผยด้านร้ายๆ ของอเมริกามากมาย ว่าเพียงเพื่อชัยชนะ มหาอำนาจดินแดนแห่งเสรีภาพนี้สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้แต่การเป็น “ผู้ร้าย” เสียเอง

ในขณะที่สหรัฐอเมริกามักใช้ข้ออ้าง “สิทธิมนุษยชน” เข้าโจมตีประเทศต่างๆ Zero Dark Thirty กลับแสดงถึง คุกลับ ค่ายลับ การทรมานนักโทษ การลอบสังหาร การติดสินบน ดักฟังโทรศัพท์ ฯลฯ และทุกการกระทำที่อเมริกาเคยใช้ประนามคนอื่น ช่างเป็นตลกร้าย ที่ฉากหน้ากับฉากหลังแตกต่างกันสิ้นเชิงเช่นนี้

แต่ถึงจะเปิดโปงความชั่วร้ายของประเทศตัวเองขนาดไหน Zero Dark Thirty ก็ได้สร้างความชอบธรรมให้การกระทำเหล่านั้น ในฐานะ “ความโหดร้ายที่จำเป็น” (หรืออย่างน้อยพวกเขาก็คิดว่าจำเป็น) ไม่แปลกที่ตัวหนังจะแอบเสียดสีนโยบายของ ปธน.โอบามา ที่เน้นเรื่องการถอนทหารกลับและยกเลิกการสอบสวนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ “โครงการนักโทษ” ซึ่งสำหรับตัวเอกอย่าง Maya แล้ว นั่นหมายถึงทำให้การตามตัวบินลาเดนเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก มันเหมือนเป็นการพูดแทนในใจใครหลายคนว่า “บางทีเราก็เบื่อที่จะพูดเรื่องมนุษยธรรม เพราะที่เราต้องการจริงๆ คือกระทืบคนที่อยู่ตรงหน้าเรานี่”

จุดเด่นที่สุดของ Zero Dark Thirty ช่วง 30 นาทีสุดท้าย ทั้งที่เราต่างก็รู้บทสรุปของมันจากข่าวกันอยู่แล้ว แต่ด้วยการถ่ายทำที่เน้นความสมจริงทั้งภาพและเสียง ช่วยสร้างบรรยากาศที่กดดันและลุ้นระทึกไปกับหน่วยซีลไม่น้อย แต่พร้อมกันนั้นมันก็สร้างความ “เครียด” ให้เราไม่น้อยเช่นกัน เมื่อนึกถึงสิ่งที่ฝั่งอเมริกาทำไปเพื่อให้ภารกิจนี้บรรลุผลสำเร็จ

ภารกิจสำเร็จ แต่เราชนะ?

หากใครเคยผ่านเรื่อง The Hurt Locker ของผู้กำกับคนนี้มาแล้ว คงจะพบว่าทั้ง The Hurt Locker และ Zero Dark Thirty นั้นไม่ได้แตกต่างกันเลยในประเด็นที่ต้องการพูดถึง หน้าฉากของ The Hurt Locker อาจว่าด้วยภารกิจกู้ระเบิดในอิรัก ขณะที่หน้าฉากของ Zero Dark Thirty ว่าด้วยภารกิจตามล่าบินลาเดน แต่สิ่งที่ทั้ง 2 เรื่องสื่อสารเหมือนกัน คือ “สงคราม” ได้ทำให้ตัวเอกจากทั้ง 2 เรื่องได้กลายเป็นคนเสพย์ติดสงคราม ที่ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้อีกต่อไป ซึ่งจุดนี้นี่เองที่ทำให้ทั้ง 2 เรื่องสามารถเข้าถึงคนอเมริกาโดยเฉพาะคนที่เข้าไปเกี่ยวกับสงครามการก่อการร้ายได้เป็นอย่างดี และเพราะจุดนี้อีกเช่นกันที่ส่งให้ The Hurt Locker คว้ารางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในปี 2010 ได้

ใน The Hurt Locker เราได้เห็นร้อยเอก William James กลายเป็นคนเสพย์ติดความตื่นเต้นในสงคราม และมีปัญหาในการกลับมาใช้ชีวิตปกติ ขนาดที่ว่าไม่สามารถซื้อของในซุปเปอร์มาเก็ตได้ จนสุดท้ายเขาเลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตในสงครามอีกครั้ง แม้นั่นจะหมายถึงการไปเสี่ยงตายและทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง ใน Zero Dark Thirty ยังเกาะกุมประเด็นเดิม แต่ลงลึกไปอีก ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง Maya ในช่วงเวลา 10 กว่าปี ตั้งเริ่มมาจับภารกิจบินลาเดนจนกระทั่งภารกิจสำเร็จ ตลอด 10 กว่าปีนั้น Maya ไม่ได้ทำงานอื่นเลย ชีวิตเธอทุ่มให้กับภารกิจนี้ และเป็นภารกิจนี้นี่เองที่ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเธอจากเจ้าหน้าที่ที่รู้สึกพะอืดพะอมกับการทรมานนักโทษในช่วงแรก มาเป็นคนที่พร้อมจะระเบิดทุกสิ่งถ้ามีอำนาจเพียงเพื่อให้บินลาเดนตายในวันนี้

ความเครียดที่สั่งสมจากการที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบินลาเดนได้ทั้งที่เวลาผ่านไปเป็น 10 ปี บวกด้วยความโศกเศร้าจากการที่ต้องเห็นเพื่อนร่วมงานล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ได้กัดกร่อน Maya จนเหลือแต่เพียงความด้านชา สำหรับเธอแล้ว บินลาเดนกลายเป็นเพียงภารกิจที่ “ต้อง” ทำให้สำเร็จ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ในขณะที่คนอื่นๆ เห็นว่าบินลาเดนไม่สำคัญอีกต่อไป และหันไปสนใจเครือข่ายมากกว่าตัวบุคคล Maya ยังคงติดอยู่กับบินลาเดน เธอเริ่มไม่ได้สนใจว่าการฆ่าบินลาเดนจะทำให้โลกสงบสุขดีขึ้นหรือไม่ แต่เธอรู้เพียงต้องฆ่า ไม่ใช่เพื่อโลกหรือเพื่อมนุษยชาติ แต่เพื่อตัวเธอเอง เธออยู่กับภารกิจนี้มานานเกินไปแล้ว

กับคนที่อยู่กับภารกิจเดียวมาเป็นสิบปี เขาจะคิดยังไงกันเมื่อวันหนึ่งภารกิจนั้นได้จบสิ้นลงแล้ว ชั่วขณะหนึ่งมันอาจเป็นความรู้สึกดีใจสุดๆ ที่ในที่สุดเราก็ทำสำเร็จ แต่ในชั่วขณะต่อมา Maya ก็ไม่ต่างกับ William James พวกเขา “เคว้ง” พวกเขาอยู่กับสงครามมานานเกินไป และพวกเขาไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรต่อไป เหมือนบางส่วนที่เป็นหลักยึดในชีวิตจู่ๆ ก็หายไป สำหรับ James อาจโชคดีที่ยังมีภารกิจอื่นให้ไปสานต่อ แต่สำหรับ Maya แล้ว มีเพียงน้ำตาที่ไหลเป็นคำตอบ เพียงแค่นักบินคนหนึ่งถามเธอว่า “เราจะไปไหนกันต่อ?”

เราตามล่าบินลาเดินไปเพื่ออะไรกัน?

สิ่งสำคัญที่ Zero Dark Thirty ให้กับเรานอกจากรายละเอียดเกี่ยวกับภารกิจอย่างละเอียด คือการย้อนกลับมาตั้งคำถามกับเราว่า แท้จริงเราตามล่าบินลาเดนไปเพื่ออะไรกัน เพื่อมนุษยธรรม เพื่ออุดมการณ์ เพื่อล้างแค้น เพื่อการเมือง หรือเพียงเพื่อทำให้งานมันจบๆ ไปเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าการกระทำของบินลาเดนจะเป็นสิ่งที่ถูก เพียงแต่เรื่องนี้มองในแง่ความรู้สึกของคนทำงานเท่านั้น และระหว่างเป้าหมายกับวิธีการอะไรทีสำคัญกว่ากัน เป้าหมายเพื่อมนุษยธรรมจะสำเร็จได้หรือไม่หากยังใช้วิธีการที่ไม่เป็นมนุษยธรรมเช่นนี้ หรือว่าจริงๆ แล้ว มันอาจไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อมนุษยธรรมตั้งแต่ต้น? หนังอาจไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่ถามขึ้นเพียงเพื่อทำให้รู้ว่า “บางทีเราก็ไม่รู้จะตอบว่าอะไรเหมือนกัน”

การถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่สมรภูมิออกมาได้อย่างถึงแก่น จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังเรื่องนี้จะได้รับการตอบรับจากชาวอเมริกาเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับที่เคยมีต่อ The Hurt Locker แต่ในกรณีอย่างพวกเราที่ไม่ใช่คนอเมริกาละ (รวมถึงออกแนวหมั่นไส้ประเทศนี้ด้วย) Zero Dark Thirty ก็ยังจัดความบันเทิงให้เราได้ในระดับที่น่าพอใจกว่า The Hurt Locker มากมาย แม้อาจไม่ถูกใจคอ Action นัก แต่ถ้าใครชอบแนว Drama Thriller ก็ไม่น่าจะผิดหวัง

ความชอบส่วนตัว: 8/10

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)