[Review] มะลิลา – อสุภกรรมฐาน…ตราบลมหายใจสุดท้าย (Spoil)

หมายเหตุ: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ (Spoil)

เคยดู MV เพลง “ตราบลมหายใจสุดท้าย (อสุภกรรมฐาน)” ของ “ปาน ธนพร” กันบ้างมั้ยครับ บางคนอาจเคยผ่านตามาบ้าง เป็นเพลงที่ปานร้องให้กับโครงการปทุมมามหาสิกขาลัย แห่งวัดปทุมวนาราม โดยมีเป้าหมายเพื่อสารถึงความไม่เที่ยงของสังขาร (https://www.youtube.com/watch?v=Oo4hXkdLlV4) ผ่านตัว MV ที่เราจะค่อยๆ เห็นร่างกายของปาน ธนพร เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จากมีชีวิตไปจนถึงซากศพที่เน่าเปื่อย ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งมันจะกลายเป็นภาพที่น่าสะอิดสะเอียนจนอยากจะเบือนหน้าไป ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “อสุภกรรมฐาน” เป็นวิธีบำเพ็ญกรรมฐานอย่างหนึ่งเพื่อกำจัดราคาร ด้วยการพิจารณา “อสุภะ” หรือซากศพ เพื่อให้เห็นถึงความไม่เที่ยงในสังขารและเลิกยึดมั่นถือมั่นกับมัน

อยากแนะนำให้ดู MV นี้ก่อนหรือจะหลังดู “มะลิลา” ก็ได้ (แต่แนะนำว่าก่อนดีกว่า) แล้วน่าจะช่วยให้เข้าใจประเด็นสำคัญของหนังได้มากขึ้น เพราะทั้งมะลิลาและอสุภกรรมฐาน ต่างกำลังพูดในสิ่งเดียวกัน นั่นคือความไม่เที่ยงของสังขาร และการใช้การพิจารณาอสุภะเพื่อที่จะหลุดพ้นจากความยึดติดเหล่านั้น แต่ก็แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะตัดขาดสิ่งนั้นได้ อีกอย่างถ้าดู MV แล้วรับกับภาพที่นำเสนอได้ ก็น่าจะรับกับสิ่งที่นำเสนอในมะลิลาได้ไม่ยาก

หน้าหนังและการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ทำให้ “มะลิลา” ดูเหมือนเป็นหนังรักเกย์ ซึ่งก็ใช่ หนังมีเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ชายกับชาย แต่เนื้อในจริงๆ ของมะลิลานั้นคือหนังธรรมะ และเป็นธรรมะที่ค่อนข้างลึกกว่าที่เรารับรู้ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของเรื่องที่หนังแทบจะเหมือนพาเราไปดูสารคดีการดับทุกข์ของตัวละครด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอนเนื้อหาแนวๆ นี้มันไม่ได้ดูง่ายและบันเทิงสักเท่าไหร่นัก

มะลิลาเล่าเรื่องราวของ “เชน” (เวียร์ ศุกลวัฒน์) ชายหนุ่มเจ้าของสวนมะลิผู้แบกรับความทุกข์ไว้กับตัว จากการสูญเสียลูกสาว ขณะเดียวกัน “พิช” (โอ อนุชิต) นักทำบายศรีอดีตคนรักของเชน ก็เดินทางกลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง แต่พิชเองก็ป่วยเป็นมะเร็ง และพร้อมจะจากไปได้ทุกเมื่อ สิ่งต่างๆ เหล่านี้สั่งสมเป็นความเจ็บปวดในใจของเชน มันทำให้เขารู้สึกว่า ที่เกิดเหตุเช่นนี้มันเป็นเพราะเขาหรือเปล่า การตัดไม่ขาดจากสิ่งอันเป็นที่รักยิ่งทำให้เขายิ่งเป็นทุกข์เข้าไปอีก

ช่วงครึ่งแรกของมะลิลา ใช้ “บายศรี” เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร บายศรีเป็นเครื่องเชิญขวัญที่ทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจของผู้คน รวมถึงยังสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ได้อีก บายศรีจึงเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อทั้งตัวเชนและพิช เพราะมันคือเครื่องหมายของการพร้อมที่จะก้าวผ่านความทุกข์ที่ตัวเองมีอยู่ โดยเฉพาะตัวเชน ซึ่งในครึ่งหลังพยายามจะก้าวผ่านสิ่งที่ผ่านมาด้วยการออกบวชและใช้วิธีการแบบ “อสุภกรรมฐาน” เพื่อละทิ้งซึ่งการยึดติด

การที่หนังเลือกนำเสนอความรักแบบชาย-ชาย มันก็มีเหตุผลอยู่ เพราะความรักในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในเชิงศาสนาสักเท่าไหร่นัก และด้วยวิถีชีวิตแบบชนบทที่ผูกติดกับวัดและความเชื่อเรื่องผีสางค่อนข้างมาก แม้ในเรื่องจะไม่ได้บอกอย่างเด่นชัดว่าคนรอบข้างคิดยังไงกับความรักของเชนและพิช แต่มันก็มีแนวโน้มจะทำให้ลึกๆ แล้วเชนอาจคิดว่า เพราะความรักแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้เขาต้องเผชิญกับความทุกข์แบบนี้

หนังไม่ได้ให้บทสรุปที่ชัดเจน และเราก็ยังไม่ถึงกับเข้าใจทั้งหมด แต่คิดเอาว่า เชนน่าจะก้าวผ่านความทุกข์เหล่านั้นมาได้ และการเปลื้องผ้าลงอาบน้ำในลำธาร อาจหมายถึง ความพร้อมที่จะเป็นคนใหม่แล้วก็เป็นได้

“เวียร์ ศุกลวัฒน์” มอบการแสดงที่สุดแสนจะ World Class ไม่ต้องแสดงออกเยอะ แต่สามารถรับรู้ได้ว่าตัวละครนี้แบกรับความทุกข์ไว้ในใจจนเหน็ดเหนื่อยมากเพียงใด เป็นการแสดงที่มีอะไรมากกว่าแค่การมองว่า เฮ้ย เวียร์เล่นหนังเกย์วะ… เอาจริงๆ แค่ดูการแสดงของเขาในเรื่องนี้ก็คุ้มละ เช่นเดียวกัน “โอ อนุชิต” ก็เป็นอีกคนที่ควรได้รับคำชม เพราะเขาก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้สมบูรณ์

สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้มะลิลาจะเต็มไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นและหลักธรรมในศาสนาพุทธที่มีความเฉพาะตัว แต่ขณะเดียวกันมันก็ถูกบอกเล่าอย่างมีสุนทรียะ ทั้งงานภาพ การจัดวางองค์ประกอบ และดนตรีประกอบ ที่สอดรับประสานกัน จนแม้แต่คนนอกวัฒนธรรมก็สามารถสัมผัสได้ เพียงแต่ก็ยอมรับว่าการจะเข้าถึงมันอาจไม่ได้ง่ายนัก และมันก็ไม่ใช่หนังบันเทิงสำหรับทุกคนด้วยเช่นกัน

Avatar photo
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)